xs
xsm
sm
md
lg

“เสธ.หนั่น” ยกปรองดอง ขอศาลให้ประกันแกนนำ นปช.!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เจ้าหน้าที่เบิกตัว ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ขึ้นศาล
ลุ้นศาลนัดสั่งขอปล่อยตัว 8 นปช.พรุ่งนี้ “วิชัย” เบิกความระหว่างเจรจาเสื้อแดงชุมนุม พร้อมตรวจค้นไม่พบอาวุธ “ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ” แจงศาลผู้ต้องหาทั้งหมดประพฤติตนเรียบร้อยไม่สร้างความวุ่นวาย “ณัฐวุฒิ” ยันหากได้รับประกันตัว จะไม่หนี ด้าน “เสธ.หนั่น” ให้การช่วยเหลือ เชื่อ หากได้รับการปล่อยตัวแผนปรองดองจะได้ผล ขณะที่ “คณิต” ชี้ ปล่อยไม่ปล่อยไม่เป็นอุปสรรคแผนปรองดอง


วันนี้ (21 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้อออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนขอปล่อยตัวชั่วคราว 7 แกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยฝ่ายจำเลยซึ่งมี นายคำนวณ ชโลปถัมป์ เป็นหัวหน้าทีม ได้นำพยานตามหมายเรียกเข้าเบิกความ

โดยเริ่มจาก พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 เบิกความว่า ตนได้รับคำสั่งให้เป็นผู้ประสานงานระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ,และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กับฝ่าย นปช.ให้ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของเหตุการณ์ คอยเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมทั่วทั้งประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ต้องหาดีพอสมควร โดยเฉพาะการขอความร่วมมือเรื่องพื้นผิวการจราจรเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัด รวมทั้งการขอเข้าตรวจค้นอาวุธ และสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งการตรวจค้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช.ไม่พบอาวุธ แต่ปรากฏว่า การชุมนุมของแกนนำ นปช.มีการใช้คำปราศรัย โดยมีคำพูดยั่วยุ รุนแรงหลายครั้ง

พยานปากต่อมา นายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ อายุ 57 ปี รับราชการตำแหน่ง ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เบิกความว่าตาม พ.ร.บ.ต้องแยกขังผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายไว้คนละแดนกัน แต่เนื่องจากผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายมีจำนวนมาก จึงมีบางรายที่อยู่แดนเดียวกัน และจากที่ผู้ต้องขังได้จำคุกมาประมาณ 9 เดือน พบว่า มีพฤติกรรมเรียบร้อยไม่สร้างความวุ่นวาย บางครั้งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนกรณี นายภูมิกิตติ สุขจินดาทอง จำเลยที่ 11 มีอาการเจ็บป่วยเป็นประจำ เป็นปัญหาในการดูแลพอสมควร บางครั้งมีโรคแทรกซ้อน คือ โรคหัวใจต้องนำตัวไปส่งโรงพยาบาลของราชทัณฑ์ โดยการเปิดประตูห้องขังตอนกลางคืนต้องมีระเบียบขั้นตอน มีระบบการจัดเก็บกุญแจห้องขัง ทำให้การนำตัวจำเลยไปรักษาพยาบาลโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีความล่าช้าประมาณ 1 ชั่วโมง แม้ทางเรือนจำจะมีเวรพยาบาลภายในที่ให้การรักษาเบื้องต้นแต่ก็ไม่ได้มีความรู้เพียงพอ ซึ่งตนทราบว่า จำเลยที่ 11 มีอาการป่วยในเวลากลางคืนและต้องนำตัวไปส่งโรงบาลข้างนอก จำนวน 2 ครั้ง โดยมีผู้ต้องหาด้วยกันเรียกเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือปฐมพยาบาล

ส่วน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.เบิกความว่า การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข และอำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของประชาชน และเรียกร้องโดยสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งที่บัตรสมาชิกของ นปช.ทุกคน จะระบุหลักปฏิบัติไว้ 6 ประการ ว่า จะไม่ใช้ความรุนแรง ปราศจากอาวุธ ซึ่งเป้าหมายของการชุมนุมโดยสงบ ตามกรอบรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งยืนยันว่า ที่ผ่านมา เรียกร้องต่อสู้ โดยไม่ใช้วิธีรุนแรง กระทั่งเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ทหารได้ใช้กำลังสลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 91 ศพ และตนและพวกจำเลยยกเว้น นายวีระ นายแพทย์ เหวง และ นายก่อแก้ว ได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ต่อมาอัยการได้ฟ้องข้อหาก่อการร้าย ต่อศาลเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2553 ทั้งนี้ ดีเอสไอได้สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีในข้อหาก่อการร้าย โดยมีข้อสังเกตหลายประการ โดยเฉพาะ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่าได้สั่งฟ้องจำเลย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม จำนวน 91 ศพ ต่อมาได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนครั้งหลังว่า มีผู้เสียชีวิต 13 ศพที่อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

นอกจากนี้ นายธาริต ยังเคยพูดว่า การหาพยานหลักฐานการชุมนุมของกลุ่ม นปช.อยู่ในภาวะวิกฤตยิ่ง หาหลักฐานได้ยากลำบาก จึงสงสัยว่าการสั่งฟ้องคดีก่อการร้ายกับพวกจำเลย มีพยานหลักฐานเพียงพอจริงหรือไม่

นายณัฐวุฒิ เบิกความต่อว่า ภายหลัง นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.ได้ขอลดบทบาทตัวเอง ตนในฐานะเลขาฯ นปช.จึงเข้ามาทำหน้าที่ประสานงานกับรัฐบาล เพื่อต้องการให้ข้อเรียกร้องบรรลุผลสำเร็จ และการชุมนุมยุติลงโดยสงบ ต่อมารัฐบาลได้รับข้อเสนอของกลุ่ม นปช.ที่จะยุบสภาใน เดือน พ.ย.2553 แต่ตนทราบข่าวว่าระหว่างรัฐบาลรับข้อเสนอยุบสภา ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมอาวุธ เตรียมสลายการชุมนุมไปพร้อมๆ กันด้วย ต่อมาเมื่อเช้าตรู่วันที่ 19 พ.ค.2553 ทหารพร้อมอาวุธได้ใช้กำลังสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ระหว่างนั้นตนได้ประกาศบนเวที เพื่อเกลี้ยกล่อมให้ผู้ชุมนุม นปช.อยู่ในความสงบ และในที่สุดก็ประกาศยุติการชุมนุม เดินทางไปเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายณัฐวุฒิ เบิกความอีกว่า ก่อนที่เหตุการณ์จะรุนแรง ทหารใช้กำลังสลายการชุมนุม ที่ราชประสงค์จนมีผู้เสียชีวิตหลายรายนั้น ในวันที่ 18 พ.ค.2553 ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว ตนได้ติดต่อ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งท่านได้รับปากว่ายินดีจะเป็นคนกลางเจรจาระหว่างรัฐบาล กับกลุ่ม นปช.ซึ่งประธานรัฐสภาได้แจ้งว่า จะให้รัฐบาลและนปช.ไปเจรจากันที่อาคารรัฐสภาในรุ่งขึ้น (19 พ.ค.) แต่ก็เกิดความรุนแรงเสียก่อน ตนได้สอบถาม พล.อ.เลิศรัตน์ ว่า เกิดอะไรขึ้น ท่านก็บอกว่าไม่ทราบเช่นกัน ทั้งนี้ ยืนยันว่า หากได้รับการปล่อยตัวจะไม่หลบหนี เนื่องจากมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีครอบครัวอบอุ่น มีลูกชายและลูกสาวจำนวน 2 คน ที่สำคัญ ตน และพวกจำเลยได้ติดต่อขอเข้ามอบตัวด้วยตนเอง ทั้งที่ทราบว่าจะถูกดำเนินคดีข้อหาก่อการร้าย มีโทษสูงสุดประหารชีวิต

นายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแกนนำ นปช.เบิกความว่า ภายหลังการรัฐประหาร ปี 2549 ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาชนขับไล่เผด็จการ หรือ นปก.ภายใต้รัฐบาลได้รณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 จึงได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน เนื่องจากรัฐบาลขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.ปี 2553 กลุ่ม นปช.ได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา โดยไม่ใช้ความรุนแรง อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ โดยตนได้ติดต่อประสานงานกับรัฐบาล ผ่านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อเจรจาและยื่นข้อเสนอหลายครั้ง รวมทั้งครั้งที่มีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ด้วย แต่การเจรจาไม่สำเร็จ เนื่องจากติดขัดเงื่อนไข ประเด็นปลีกย่อยบางประการ แต่การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่แยกราชประสงค์ก็ดำเนินต่อไป จนกระทั่งรัฐบาลได้ยื่นเงื่อนไขให้กลุ่ม นปช.ยุติการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ซึ่งตนเห็นว่าหากกลุ่ม นปช.ไม่รับเงื่อนไขของรัฐบาล ก็จะต้องสลายการชุมนุม และทำให้พี่น้องคนเสื้อแดงเกิดความสูญเสีย ตนจึงขอยุติบทบาทตัวเอง จากตำแหน่งประธาน นปช.และออกจากเวทีการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ไปก่อนที่ทหารจะเข้าสลายการชุมนุมวันที่ 19 พ.ค.2553 จากนั้นจึงติดต่อเข้ามอบตัวในวันที่ 20 พ.ค.2553 พร้อมกับ นายแพทย์ เหวง และ นายก่อแก้ว ที่ออกไปจากเวทีก่อนที่ทหารจะสลายการชุมนุมเช่นเดียวกัน

เมื่อเวลา13.00 น.พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.ได้เดินทางมาที่ศาลอาญาเพื่อขึ้นเบิกความเป็นพยานในการไต่สวนคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราว ของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รวม 7 คน โดย พล.ต.สนั่น ได้กล่าวก่อนขึ้นเบิกความว่า ตนเองได้เดินทางไปพบแกนนำ นปช.ทั่ง 7 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และ แกนนำทั้ง 7 ก็ให้ความร่วมมือกับแผนการปรองดองเป็นอย่างดี และหากแกนนำ นปช.ทั้ง 7 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็จะทำให้แนวโน้มการปรองดองเป็นไปในทางที่ดีขึ้น และถือเป็นทางเดียวที่จะยุติความขัดแย้งทางการเมืองได้ แต่ถ้าหากแกนนำทั้ง 7 ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ก็จะพยายามเดินหน้าแผนปรองดองต่อไป

นายคณิต กล่าวว่า การปล่อยตัวแกนนำ นปช.ทั้ง 7 เป็นดุลพินิจของศาล แต่ถ้าหากแกนนำทั่ง 7 ไม่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ ก็ไม่ถือเป็นอุปสรรค กับแผนปรองดอง แต่ตนเองก็ได้มีการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแกนนำ นปช.มาโดยตลอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นคำร้องขอไต่สวนครั้งนี้ เดิมมีการขอปล่อย 7 คน คือ นายณัฐวุฒิ นายก่อแก้ว นพ.เหวง และ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย นายยศวิฤทธิ์ ภูกล่อม (เจ๋ง ดอกจิก) นายขวัญชัย ไพรพนา นายนิสิต สินธุไพร แล้ว ต่อมา นายภูมิกิตติ สุขจินดาทอง ที่ป่วยเป็นไวรัสซี ได้ร้องเพิ่มรวมเข้ามา ทำให้ฝ่ายผู้ร้องมี 8 คน

ต่อมาในช่วงบ่าย นายคณิต ณ นคร เบิกความว่า ตนเคยเป็นอดีตอัยการสูงสุด ส่วนตำแหน่งทางวิชาการ เป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ต่อมาเมื่อปี 2553 รัฐบาลได้แต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.โดยมีภาระหน้าที่ 3 ข้อ คือ 1.ตรวจสอบความจริงในเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 2.เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการเยียวยาทางด้านจิตใจ 3.วิจัยสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงรวมทั้งรากเหง้าของปัญหาเพื่อให้เป็นบทเรียนกับทุกฝ่ายและยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งได้ข้อสรุปและเสนอต่อรัฐบาล คือ ให้ยกเลิกการตีโซ่ตรวนผู้ต้องหา และการเอาตัวไว้โดยรัฐ ซึ่งตามหลักสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว แต่ถ้าเป็นคดีร้ายแรง รัฐก็สามารถควบคุมตัวไว้ได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นความเห็นทางวิชาการ เป็นการเสนอของ คปอ.เพื่อปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบให้ดีขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ไม่ได้เจาะจงเฉพาะจำเลยในคดีก่อการร้าย หรือจำเลยคดีใดคดีหนึ่งเท่านั้น ส่วนประเด็นจะให้ประกันตัวจำเลยคดีก่อการร้ายหรือไม่ เป็นอำนาจของศาล ตามกระบวนการยุติธรรม ตนไม่อาจก้าวล่วง

ขณะที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เบิกความว่า ตนรู้จักกับ นายวีระ เนื่องจากเคยทำงานทางการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ส่วน นายณัฐวุฒิ นั้น รู้จักในฐานะที่เป็นหลานเขยของนายทหารที่เป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับตน ทั้งนี้ ตนเห็นว่า สภาวะของบ้านเมืองในขณะนี้ หากไม่ปรองดองกัน ก็จะไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ จึงเสนอแนวทางปรองดอง และเดินทางไปพบทุกพรรคการเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่ม นปช.และเดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อพูดคุยกับจำเลยในคดีก่อการร้าย ทั้ง 7 คนที่ถูกคุมขังอยู่ โดยเสนอแนะว่าหากศาลอนุญาตให้ประกันตัว ขอให้เข้าร่วมแนวทางปรองดองกับตน ซึ่งจำเลยทั้ง 7 คนในคดีก่อการร้ายรับปาก ว่า จะไม่ก่อความวุ่นวาย และเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดอง ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 7 คน ยืนยันว่า จะไม่รับแนวทางนิรโทษกรรม จะสู้คดีจนกว่าศาลจะตัดสินและคดีถึงที่สุด นอกจากนี้ ภายหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัว นายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช.ตนก็ได้เดินทางไปพูดคุยกับนายวีระเช่นกัน ซึ่งยืนยันว่า หากศาลกรุณาให้ประกันตัวก็จะช่วยพูดคุยกับจำเลยทั้ง 7 คนให้เข้าร่วมกับแนวปรองดอง

พล.ต.สนั่น กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่า จำเลยทั้ง 7 คน ที่อยู่ในเรือนจำ จะไม่ออกมาสร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก เพราะหากไม่มั่นใจตนก็คงไม่กล้ามาเบิกความเป็นพยานต่อศาล ทั้งนี้ภายหลังพล.ต.สนั่นเบิกความเสร็จแล้ว แกนนำ นปช.ทั้ง 7 รายต่างเข้าไปยกมือไหว้ จับมือแสดงความขอบคุณด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

ต่อมา นายภูมิกิตติ จำเลยที่ 11 เบิกความเป็นคนสุดท้าย ว่า ตนเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มนปช.เนื่องจากกลุ่ม นปช.ได้ชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรม ตรงกับข้อเรียกร้องของตนเอง โดยตนเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลืองานบนเวทีบ้างเป็นครั้งคราว เนื่องจากตนมีความถนัดในเรื่องการพูด ส่วนมากจะขึ้นเวทีในช่วงบ่าย เพราะแกนนำหลักบนเวทีต่างพักผ่อน

ตนอยู่ร่วมกับกลุ่มนปช.ที่แยกราชประสงค์จนถึงวันที่ 13 พ.ค.และตัดสนใจเดินออกจากที่ชุมนุม ในเวลาประมาณ 23.00 น.วันเดียวกัน เนื่องจากทหารได้ปิดล้อมบริเวณแยกราชประสงค์ไว้เกือบหมดแล้ว โดยเดินออกมาทางบริเวณหลังห้างมาบุญครอง ก็เจอด่านทหาร และถูกตรวจค้นอย่างละเอียด แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย พบเพียงเอกสารชุมนุมและแผ่นซีดี ซึ่งทหารได้ยึดไว้ และปล่อยตนไป หลังจากนั้น ได้กลับบ้าน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาเชิญตัวไปควบคุมที่ ศอฉ.โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใส่กุญแจมือ และได้กักขังไว้ 1 คืน พร้อมแจ้งข้อหายุยง ปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จากนั้นดีเอสไอได้รับตัวไปควบคุม และแจ้งข้อหาเพิ่มคดีก่อการร้าย พร้อมยื่นขอฝากขังและส่งตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

นายภูมิกิตติ เบิกความต่อว่า ตนป่วยเป็นโรคหัวใจ และไวรัสตับอักเสบ ซี มีอาการแน่นหน้าอก และเครียด หลังจากนั้น ก็ถูกนำตัวส่งไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดยาให้รับประทาน หรือหากมีอาการหนักก็จะส่งไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทุกครั้งที่ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ตนขอโอกาสรักษาอาการเจ็บป่วย และขอความเมตตาต่อศาล ยืนยันว่าหากศาลให้ประกันตัว ก็จะไม่หลบหนี และจะปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกข้อของศาล

จากนั้น อัยการโจทก์ได้ แถลงต่อศาล ว่า ไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว หากศาลจะอนุญาต ให้ประกันนายแพทย์เหวง กับ ก่อแก้ว เนื่องจากจำเลยเป็นแกนนำ กลุ่ม นปช.ที่นิยมสันติวิธีและไม่ใช้ความรุนแรง หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง หรือ หลบหนี แต่จะหากได้ปล่อยตัวชั่วคราวก็จะส่งผลดีแผนดีต่อแผนการปรองดอง ทั้งนี้ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไข ในการให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 2 อย่างที่เคยกำหนดกับนายวีระ จำเลยที่ 1 เคยได้รับการประกันตัวไปแล้วก่อนหน้านี้

ศาลนัดฟังคำสั่งการปล่อยตัวชั่วคราวในวันพรุ่งนี้ เวลา 14.00 น.โดยไม่ต้องเบิกตัวจำเลยทั้งหมดมาศาล

ขณะที่ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความแกนนำ นปช.กล่าวว่า การฟังคำสั่งพรุ่งนี้ จะไม่ได้เบิกตัวทั้ง 7 คนมาศาล แต่จะรอฟังคำสั่งที่เรือนจำ หากศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวก็จะได้ปล่อยตัวที่เรือนจำต่อไป

นายนรินท์พงศ์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมของการไต่สวนพยานในวันนี้ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ต่อทีมทนายความเป็นอย่างมาก เนื่องจากพยานทุกปาก ที่เบิกความต่อศาลนั้น ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเป็นผลดี ต่อแกนนำ นปช.


ก่อแก้ว พิกุลทอง ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย
เหวง โตจิราการ ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย

วีระ มุสิกพงศ์
กำลังโหลดความคิดเห็น