น้ำมันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานฟอสซิลนั้นมีลักษณะ 3 ประการ คือ (1) มีจำนวนจำกัดหมดแล้ว หมดเลย (2) ถูกผูกขาดได้ ราคาสูงขึ้น และ (3) เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะลักษณะที่ 3 ดัวยคำท้าทายตามชื่อบทความนี้
เคยมีผู้ตั้งคำถามกับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ว่า "โดยทฤษฎีแล้ว คำว่าอนันต์ (infinity) หมายถึงขนาดของสิ่งของหรือจำนวนที่ใหญ่มากๆ นั้น แต่ในชีวิตจริงแล้ว มีอะไรบ้างที่เป็นอนันต์”
ท่านตอบว่า "มีสองสิ่งเท่านั้นที่มีขนาดเข้าสู่อนันต์ คือ หนึ่ง ขอบเขตของจักรวาล กับสอง ความโง่เขลาของมนุษย์ แต่สิ่งแรกนั้นข้าพเจ้าไม่แน่ใจนัก”
บทความนี้ไม่ได้ตั้งใจจะกล่าวถึงความโง่เขลาของมนุษย์โดยตรง แต่จะขอกล่าวถึงสิ่งที่คนในสังคมไทยมักพูดกันจนชินก็คือคำว่า “ขีดจำกัด (limit)” ในวิชาคณิตศาสตร์จะเรียกทับศัพท์ไปเลยว่า “ลิมิต” ซึ่งเป็นเรื่องที่นักศึกษาเข้าใจได้ยากที่สุด เมื่อเทียบกับเนื้อหาวิชาอื่นๆ ด้วยเหตุนี้กระมังจึงมีคนตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงๆ
นักคณิตศาสตร์มักเจอกับสถานการณ์ที่จินตนาการได้ว่า “ลิมิตเป็นอนันต์” บ่อยๆ
ในทางตรงกันข้าม นักชีววิทยาสามารถสังเกตได้ว่าจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิต เช่น หอยทาก แม้ว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในบางช่วง แต่จำนวนก็หาได้เพิ่มมากไปสู่อนันต์ไม่ ทั้งนี้เพราะหอยทากถูกจำกัดด้วยปัจจัยอื่นๆ เช่น อาหาร สถานที่ ดังนั้น จำนวนประชากรจึงถูกจำกัดอยู่ไม่ให้เกิน “ขีดจำกัด” ระดับหนึ่ง จะเพิ่มมากไปกว่านี้ไม่ได้
สิ่งที่จำกัดจำนวนหอยทากเอาไว้ไม่ให้เพิ่มได้ตามใจชอบ คือ ปัจจัยภายนอกที่เราเรียกว่า “ขีดจำกัดเชิงนิเวศ (Ecological Limit)”
การ์ตูนข้างต้นเป็นผลงานของ Chris Madden จากภาพในสภาวะที่อากาศเป็นพิษมากๆ จนเกินขีดจำกัด มนุษย์มีทางรอดได้ด้วยการแลกเปลี่ยนอากาศบริสุทธิ์ ระหว่างต้นไม้ในกระถางกับคน คนรับก๊าซออกซิเจนจากต้นไม้ไปใช้ในการหายใจ แล้วต้นไม้ก็รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากคนไปสังเคราะห์แสง สองสิ่งนี้พึ่งพาเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี
ระบบนิเวศของโลกมีความซับซ้อนมากกว่าในการ์ตูนมากมายนัก
นักวิทยาศาสตร์สรุปว่า สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเกิดจากก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ที่ไปห่อหุ้มชั้นบรรยากาศของโลกเอาไว้ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (มีส่วนร่วมถึง 72%) ก๊าซมีเทน (18%) และไนตรัสออกไซด์ (9%- จากปุ๋ยเคมี)
กล่าวเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พบว่า 66% มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหินน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) อีก 33% มาจากการใช้ที่ดิน การทำลายป่าไม้ และการเกษตร
ดังนั้น การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยน้ำมือของมนุษย์เป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน
ปัญหาที่เราจะต้องถามต่อไปก็คือ ณ ปัจจุบันนี้โลกเราได้มาถึงค่าของลิมิตที่เป็นขีดจำกัดเชิงนิเวศน์แล้วหรือยัง?
คำถามนี้ตอบยากมากครับ เพราะไม่มีใครทราบล่วงหน้าได้ แต่เราสามารถตรวจสอบข้อมูลในอดีตและปัจจุบัน แล้วทำนายแนวโน้มในอนาคตได้ ข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์ติดตามอยู่คือ ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก และอุณหภูมิของผิวน้ำทะเล
ตอนที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่ชื่อ “สโมสรแห่งโรม (The Club of Rome)” ได้ออกมาเตือนชาวโลกเมื่อปี พ.ศ. 2511 ถึงทิศทางการพัฒนาและการใช้พลังงานฟอสซิลนั้น ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอยู่ที่ระดับ 320 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) จนกระทั่งถึงการประชุมระดับโลกครั้งแรก ปี 2535 และเดือนมกราคม 2554 พบว่าระดับดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 354 และ 391 พีพีเอ็ม ตามลำดับ
หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 ภายในช่วงเวลา 43 ปี ที่น่ากลัวกว่านี้ก็คือ อัตราการเพิ่มไม่คงที่ แต่มีอัตราเร่งตลอดมา
การประชุมเจรจาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Conference of the Parties หรือ COP) ถึง 16 ครั้งที่ผ่านมาก็ไม่สามารถตกลงกันได้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนังโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาที่ปล่อยมากที่สุด
นับจากช่วง 43 ปี ดังกล่าว อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้สูงขึ้นแล้ว 0.6 องศาเซลเซียส และองค์กรที่มีชื่อย่อว่า IPCC คาดว่าอุณหภูมิดังกล่าวจะสูงขึ้นถึง 1.1 ถึง 6.4 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้
นักวิทยาศาสตร์(อีกแล้ว) ทำนายว่า ทุกๆ 1 องศาที่อุณหภูมิของผิวน้ำสูงขึ้น โอกาสที่จะเกิดพายุระดับรุนแรงสูงสุดจะเพิ่มขึ้นปีละ 31%
บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ (บริษัท CGNU) ได้พยากรณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2608 ความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติจะมากกว่ารายได้ประจำปีของคนทั้งโลก
นอกจากนี้ ประเทศในเขตหนาวที่ไม่เคยมียุงก็จะมี ปะการังที่เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและที่พักพิงของฝูงปลาก็จะตายจำนวนมาก ข่าวจากหน่วยงานราชการไทยได้รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า บางพื้นที่ปะการังได้ตายไปแล้วถึง 90-100%
เมื่อปี 2544 รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของบังกลาเทศกล่าวว่า "ถ้าผลการพยากรณ์เกี่ยวกับระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเป็นความจริง หนึ่งในห้าของคนบังกลาเทศ หรือประมาณ 20 ล้านคน ต้องกลายเป็น “ผู้ลี้ภัยสิ่งแวดล้อม” แล้วประเทศร่ำรวยได้เตรียมตัวที่จะรับผู้อพยพจากประเทศของข้าพเจ้าแล้วหรือยัง”
ด้วยสถานการณ์และคำพยากรณ์ที่ได้กล่าวแล้ว ท่านผู้อ่านคิดว่ามันถึงขีดจำกัดเชิงนิเวศของโลกแล้วหรือยัง แล้วเมื่อใกล้ถึงวันที่โลกเข้าสู่ขีดจำกัดเชิงนิเวศเข้ามาจริงๆ ต่อให้โลกนี้มีน้ำมันมากกว่าน้ำทะเล และมีราคาถูกแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์อะไรอีกต่อไปแล้ว