ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณี “นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่วันนี้ผันตัวไปนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ออกมาโยนหินถามทางด้วยแนวความคิดเรื่อง “ชนะปาร์ตี้ลิสต์มีสิทธิ์ตั้งรัฐบาล”ถือเป็น “ใบเสร็จ” ที่สะท้อนให้เห็นถึงธาตุแท้พรรคประชาธิปัตย์อย่างชนิดที่ไม่สามารถหาคำใดๆ มาแก้ตัวได้
ธาตุแท้ที่ว่านั้นก็คือ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันสุดตัวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เพิ่งผ่านสภาไปสดๆ ร้อนๆ ว่า มิได้กระทำการเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนแต่อย่างใด หากเป็นการกระทำเพื่อทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถครองอำนาจและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ต่อไป
เนื่องเพราะสูตร 375+125 นั้นคือสูตรที่เพิ่มสัดส่วนให้กับ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ เป็นสูตรที่ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า ประชาธิปัตย์ได้ประโยชน์จากการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไปเต็มๆ
ยิ่งเมื่อนายกอร์ปศักดิ์ออกมาเสนอประเด็นดังกล่าวด้วยแล้ว ก็ยิ่งสะท้อนมิต้องตีความเป็นอย่างอื่นเลย เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เปลือยตัวตนที่แท้จริงออกมาอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่า สูตร 375+125 ถูกออกแบบและวางแผนในการรับศึกเลือกตั้งมาล่วงหน้าแล้ว มิฉะนั้นแล้ว นายกอร์ปศักดิ์ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งจะไม่มีวันคิดสูตร “ชนะปาร์ตี้ลิสต์มีสิทธิ์ตั้งรัฐบาล” ออกมาได้อย่างเด็ดขาด
“แม้จำนวน ส.ส.รวมไม่ได้มาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถ้าคะแนนป๊อปปูล่าร์โหวตชนะขาดล่ะ ใครจะได้ฟอร์มรัฐบาลก่อน”
“อย่าลืมว่าหลังแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจะเพิ่มเป็น 125คน”
นี่คือวรรคทองที่ออกมาจากปากของนายกอร์ปศักดิ์ที่คงไม่มีคำอธิบายใดๆ เพราะมีความชัดเจนอยู่ในคำพูดของตัวเองว่า นายกอร์ปศักดิ์และพรรคประชาธิปัตย์อยากเป็นรัฐบาลจนตัวสั่น
ทั้งนี้ สมการการเมืองของนายกอร์ปศักดิ์เที่ยวนี้มีที่มาที่ไปจากประวัติศาสตร์การเมืองในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งประชาธิปัตย์ได้คะแนนในระบบปาร์ตี้ลิสต์ 12,148,504 คะแนน แพ้ “พรรคพลังประชาชน” ของนช.ทักษิณ ชินวัตรที่ได้คะแนนในระบบปาร์ตี้ลิสต์ไป 12,339,903 คะแนนเพียงสองแสนกว่าเสียง โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.จากระบบปาร์ตี้ลิสต์ไป 33 คน ส่วนพรรคพลังประชาชนได้ ส.ส.จากระบบปาร์ตี้ลิสต์ไป 34 คน หรือแพ้ไปเพียง 1 คนเท่านั้น
คราวนี้จากการทุ่มเม็ดเงินตกเขียวไปกับโครงการต่างๆ รวมทั้งการเกาะกุมกลไกอำนาจรัฐ ทำให้นายกอร์ปศักดิ์และประชาธิปัตย์มั่นใจที่จะได้คะแนนในระบบปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้น จึงตัดสินใจโยนหินถามทางออกมาอย่างหน้าไม่อาย
และว่ากันว่า ประชาธิปัตย์คาดหวังว่า จะได้คะแนนเสียงจากระบบปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ต่ำกว่า 60-70 คน
พรรคประชาธิปัตย์ในยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่มี “วอลเปเปอร์แก๊งไอติม” ที่กระสันอยากเป็นรัฐบาล จึงต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งปี 2539 หรือยุคที่ “นายชวน หลีกภัย” เป็นหัวหน้าพรรค เพราะในครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์แพ้พรรคความหวังใหม่ภายใต้การนำของ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไปแค่เพียงจำนวน ส.ส.1 คนเท่านั้น แต่พวกเขาก็ยอมรับความพ่ายแพ้ด้วยหัวใจที่เป็นธรรม และไม่จัดตั้งรัฐบาลแข่ง
ดังนั้น ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ใช้ทฤษฎีเพื่อการเข้าสู่อำนาจดังที่นายกอร์ปศักดิ์นำเสนอจริง ก็ต้องถามว่า “มีหิริโอตัปปะ” บ้างหรือไม่
“ตามหลักประชาธิปไตย พรรคที่ได้ ส.ส.รวมเป็นลำดับที่หนึ่งจะต้องได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ถึงจะเป็นโอกาสของพรรคที่ได้คะแนนมาเป็นลำดับที่สอง จากนั้นค่อยเป็นโอกาสของพรรคที่มีคะแนนรองลงไป พรรคที่แพ้เลือกตั้งจะไปแย่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เนื่องจากผิดหลักสากล ....ที่คุณกอร์ปศักดิ์พูดคงนึกว่าตัวเองจะชนะทั้ง ส.ส.เขตและส.สว.บัญชีรายชื่อมากกว่า เพราะขณะนี้ ปชป.ได้เปรียบมหาศาล และเชื่อว่าหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคเพื่อไทยจะแตกกระจายด้วย ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา
และเมื่อประชาธิปัตย์อยากเป็นรัฐบาลจนตัวสั่น ประชาธิปัตย์ก็สามารถทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่เกี่ยงวิธีการ ซึ่งใครที่เป็นศัตรูและเป็นขวางหนามขัดขวางการก้าวสู้อำนาจย่อมรู้ถึงพิษสงของกลเกมทางการเมืองนี้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ความพยายามในการกลับมาครองอำนาจอีกครั้งของประชาธิปัตย์ที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งคือ การเร่งผลักดัน “งบกลาง” ด้วยเม็ดเงินที่สูงถึง 100,000 ล้านบาทโดยอ้างว่าเป็นงบที่ใช้ฟื้นฟูประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ รวมถึงการดำเนินการสวัสดิการสังคมให้ทั่วถึง แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกรู้กันดีว่า นี่คือการของบและใช้งบจากภาษีประชาชนเพื่อเตรียมการเลือกตั้งที่มาถึง รวมทั้งเป็นเม็ดเงินที่จะซื้อใจพรรคร่วมรัฐบาลที่หิวโซเพื่อใช้เป็น “เชือกสนตะพาย” มิให้แตกแถวออกไปพลิกขั้วจับมือกับพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล
นี่คือกลเกมที่น่าสะพรึงกลัวยิ่ง
แต่สิ่งหนึ่งที่นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์กำลังสูญเสียคะแนน หรือแต้มต่อทางการเมืองอย่างหนักท่ามกลางความฝันอันเลิศหรูในทางการเมืองเบื้องหน้าก็คือ ความทุกข์ยากลำบากของประชาชนคนไทยในทุกระดับอันเป็นผลมาจากภาวะข้าวยากหมากแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลน ที่ไม่สามารถคลี่คลายให้ลุล่วงไปได้
งานนี้ว่ากันว่า นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของวิชามารเพื่อสั่งสมกระสุนดินดำในการเข้าสู่อำนาจของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ซึ่งผู้คนในวงการรับรู้กันดีว่า “สโนไวท์กับคนแคระทั้ง 7” ในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มนั้นใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง ดังนั้น จงอย่าแปลกใจว่า ทำไมปัญหานี้ถึงได้คาราคาซังมาจนถึงทุกวันนี้
นี่คือความอำมหิตขนานแท้และดั้งเดิมที่หาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว.....
ขณะที่บรรดาสินค้าอุปโภคบริโภคก็กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทุกหย่อมหญ้า ทั้งไข่ไก่ในยุคของนายอภิสิทธิ์ที่ถีบตัวสูงขึ้นทุกวัน กล่าวคือไข่ไก่เบอร์ 3 ซึ่งเป็นไข่ขนาดเล็ก ขณะนี้ในตลาดสดขายกันอยู่ที่ฟองละ 3.10 บาทแล้ว หรือเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนมกราคมที่ขายกันอยู่ที่ฟองละ 2.90 เท่านั้น แถมนโยบาย “ไข่ไก่ชั่งกิโล” ท่ำคลอดออกมาก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาไข่ราคาแดงได้ เช่นเดียวกับราคาเนื้อหมู่ที่พุ่งทะลุไปถึงกิโลกรัมละ 115-120 บาท แถมบางตลาดก็ทะลุ 130 บาทต่อกิโลกรัมไปเรียบร้อยแล้ว
และล่าสุดที่เพิ่งสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับคนทั้งประเทศก็คือ การที่ผู้ประกอบการข้าวถุงได้ยื่นราคาขายข้าวถุงใหม่ในราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 5-15% โดยผู้ผลิตอ้างต้นทุนข้าวสาร ข้าวเปลือกใหม่และค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้น
เช่น ข้าวหอมมะลิจากราคาขายปลีกถุง(5 กิโลกรัม) ซึ่งเดิมขายอยู่ที่ราคา 90-95 บาท ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 105-115 บาท ข้าวเจ้าจาก 65-70 บาท ขึ้นเป็น 70-85 บาท เป็นต้น
และนั่นคือสารพัดปัญหาที่ประชาชนตาดำๆ กำลังรอคอยการแก้ไข มิใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองกลับเข้ามามีอำนาจและบริหารราชการแผ่นดินเหมือนเช่นที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์กระทำอยู่ในเวลานี้