ผ่าประเด็นร้อน
จะเป็นเพราะปัญหาน้ำมันปาล์มขาดตลาดและมีราคาแพง รวมไปถึงน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ ไม่ว่าน้ำมันถั่วเหลืองที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน ทำให้ถูกประชาชนก่นด่ากันขรมถึงความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาล ซึ่งเฉพาะหน้าก็ต้องด่ากระทรวงพาณิชย์ไปก่อน นาทีนี้ถือว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย รับไปเต็มๆ แต่ก็ถือว่าไม่ผิดตัวเพราะฝีมือ “ห่วยแตก” จริงๆ
ขณะเดียวกันจะเป็นเพราะสังคมกำลังจับตาปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาที่เปิดศึกกันในเวลานี้ ทำให้มีแต่คนพูดถึงเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศต่างรายงานนี้เป็นเรื่องหลัก
หรือเป็นเพราะทั้งสองกรณีประดังเข้ามาทำให้ คนที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงควบประธานคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ สุเทพ เทือกสุบรรณ ฉวยโอกาสเข้ามาดูแลปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลนและราคาแพงอย่างเต็มตัว
ส่วนอีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามลดบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในเวลานี้อยู่ในความดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย พรรคภูมิใจไทยโควตาของกลุ่ม สมศักดิ์ เทพสุทิน และ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ไตรงค์ สุวรรณคีรี จากพรรคประชาธิปัตย์ ออกไปนอกวง
สิ่งที่ต้องจับตาและตั้งคำถามกันก็คือ ทำไมคนที่เป็นรองนายกฯ “ฝ่ายความมั่นคง” อย่างสุเทพ ถึงต้องเข้ามาดูแลปัญหาเรื่องปาล์มน้ำมันด้วยตัวเอง ทำไมไม่ให้ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจคือ ไตรรงค์ เป็นคนดูแล
หากจำกันได้ก่อนหน้านี้ สุเทพเคยบอกว่าได้รับมอบหมายจากนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากเวลานั้นเป็นช่วงรอยต่อที่ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ แต่ข้อสังเกตก็คือ จนบัดนี้ ไตรรงค์ เข้ามาเป็นรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจนานนับปีแล้ว จึงยังไม่ยอมปล่อยมือ หรือว่าเป็นเพราะมีเรื่อง “ผลประโยชน์มหาศาล” มาเกี่ยวข้องหรือไม่
ในฐานะที่ สุเทพ เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ได้อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบถึงสองครั้ง ครั้งแรกจำนวน 3 หมื่นตัน จากนั้นก็นำมาแจกจ่ายให้กับโรงงานนำไปกลั่น และแบ่งโควตากันตามสัดส่วนซึ่งเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้ว ในลักษณะที่เป็น “ฝาสีฟ้า” และบรรจุถุง ครั้งที่ 2 อีก 1.2 แสนตัน คาดว่าจะทยอยออกสู่ตลอดในราวมีนาคม ซึ่งจากการคำนวณ
“ปริมาณ” ที่นำเข้าน่าจะมีเพียงพอ รวมไปถึงความรู้สึกทาง “จิตวิทยา” ก็น่าจะทำให้บรรเทาปัญหาความขาดแคลนได้ดี แต่ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม ปัญหา “ราคาแพง” และ “ขาดแคลน” ยังมีอยู่ต่อไป มิหนำซ้ำยังร้ายแรงกว่าเดิม เมื่อปัญหาลุกลามไปถึง “น้ำมันถั่วเหลือง” ในลักษณะเดียวกัน หรือแม้แต่ปัญหาความขาดแคลนน้ำตาลก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
หากพิจารณาเฉพาะน้ำมันปาล์ม ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าคนในพรรคประชาธิปัตย์ต้องตกเป็นจำเลยถูกกล่าวหาว่ามี “ผลประโยชน์” จากการนำเข้าน้ำมันปาล์มดังกล่าวจากประเทศมาเลเซีย ประกอบกับเมื่อคนอย่าง สุเทพ ที่มีภาพลักษณ์ “สีเทา” ติดตัวมันก็ยิ่งข้อสงสัยดังกล่าวเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น
ขณะเดียวกัน พื้นที่ภาคใต้ถือว่าเป็นเขตอิทธิพลของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพื้นที่ที่ปลูกปาล์มมากที่สุดในประเทศไทย ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามี “กลุ่มทุน” โรงงานน้ำมันปาล์มที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่ สุราษฎร์ธานี พื้นที่อิทธิพลของ สุเทพ เทือกสุบรรณ นั่นเอง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่มีเสียงวิจารณ์กันหนาหูก่อนหน้านี้ก็คือ การ “กักตุน” น้ำมันปาล์ม และกำไรจากการขายน้ำมันปาล์มแพง รวมไปถึงการ “นำเข้า” น้ำมันปาล์มเถื่อนโดย “สวมโควตา” ฟันกำไรจาก “ส่วนต่าง” ราคาที่ในมาเลเซียราคาต่ำกว่าไทยมาก ซึ่งการตรวจสอบทำได้ยาก และคนที่ทำได้ก็ต้องมีความชิดกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลเท่านั้น
ล่าสุด สุเทพยังได้แสดงท่าทีว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มฯในวันอังคารหน้าจะเปิดทางให้ “เอกชน” เป็นผู้นำเข้าปาล์มน้ำมันดิบแทนกระทรวงพาณิชย์ โดยอ้างว่ามีความล่าช้าไม่ทันการ พร้อมทั้งได้ฉวยโอกาสตำหนิกระทรวงพาณิชย์ที่บริหารโดย พาทิวา นาคาศัย จากพรรคภูมิใจไทย แต่เป็นโคตาของกลุ่ม สมศักดิ์ เทพสุทิน
หากสังเกตให้ดีนี่คือการรุกคืบเข้ามาจัดการกับบางปัญหา โดยเฉพาะเรื่องปาล์มน้ำมันที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์อันมหาศาล ดังนั้นทำไมต้องเป็นสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็น่าจะเห็นคำตอบเห็นอยู่ในตัวอยู่แล้วไม่ใช่หรือ
อย่างไรก็ดีนี่คือความอำมหิตที่ “บางกลุ่ม” ที่เป็นกลุ่ม “ทุนการเมือง” กำลังแสวงหากำไรจากความเดือดร้อนของชาวบ้าน ทั้งในเรื่องของต้นทุนราคาอาหารที่แพงขึ้น
ดังนั้น นาทีนี้ต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานในวันอังคารที่ 22 ก.พ.นี้ โดยเฉพาะจะมีการอนุญาตให้ “เอกชน” นำเข้าน้ำมันปาล์มเข้ามาอีกล็อตหรือไม่ เพราะงานนี้รับรองว่า ไม่ชอบมาพากลแน่นอน!!