ปชป.โยนบาปน้ำมันปาล์มขาดแคลน เหตุ เอกชนบิดเบือนกลไกตลาด เผย รบ.เร่งออกมาตรการช่วยเหลือแล้ว ชี้ ข้อเสนอปรับโครงสร้างการเมืองยังไม่ตกผลึก คาด กระบวนการเสร็จไม่ทัน รบ.ชุดนี้ แนะตั้ง กก.เหมือน ส.ส.ร.ขึ้นมาพิจารณาต่อ ปัด “กอร์ปศักดิ์” เสนอผูกขาดจัดตั้ง รบ.
วันนี้ (18 ก.พ.) นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม ว่า เห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการบิดเบือนกลไกตลาดของภาคเอกชนบางส่วน ที่ทำให้การนำเข้าและการกระจายสินค้า เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันขาดแคลนไม่สัมฤทธิ์ผล ดังนั้น นายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการผ่านกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และขณะนี้กำลังขยายผลไปยังกลุ่มบุคคล หรือองค์กรใดที่ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันในตลาดหรือไม่ แต่มีความพยายามอิงนโยบายทางการเมือง เพื่อเอาเปรียบประชาชนโดยการเอาเปรียบการกระจายสินค้า ซึ่งนอกเหนือจากที่รัฐบาลดำเนินการก็จะเร่งพิจารณามาตรการเร่งด่วนในเรื่องอื่นๆ ซึ่งขณะนี้การดำเนินการแก้ไขน้ำมันปาล์มเป็นเรื่องที่จำเป็น และถ้ามีการอ้างเรื่องการแยกประเภทการนำเข้านั้นไม่ถูกต้องนั้นเหตุใดจึงเพิ่งยกเรื่องนี้ขึ้นมา
นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า การนำเข้ามีการกระจายไปยังผู้บริโภคดังที่ควรจะเป็น แต่ขณะนี้ปัญหาอยู่ที่ความจำเป็นในการใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมพลังงาน ที่เห็นว่า การกระจายน้ำมันปาล์ม ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ควรที่จะใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผสมในน้ำมันไบโอดีเซลเป็นการชั่วคราวจนกว่าภาวะน้ำมันขาดตลาดจะหมดไป ดังนั้น ควรยกเลิกการผสมน้ำมันดีเซลเพื่อเป็นไบโอดีเซลในอัตราสูง เช่น น้ำมัน บี5 ควรที่จะยกเลิกในขณะนี้และควรจะลดการใช้น้ำมันปาล์มที่มีต้นทุนสูงถึง 70 บาทต่อลิตร เพื่อมาผสมกับน้ำมันดีเซลที่มีต้นทุนต่ำกว่า คือ 30 บาทต่อลิตร เพราะว่าเหตุผลในการใช้น้ำมันปาล์มมาผสมกับน้ำมันดีเซลเกิดขึ้นในภาวะที่เกินตลาดจึงทำให้ราคาต้นทุนต่ำกว่าตลาด ซึ่งแตกต่างจากภาวะปัจจุบัน ที่ส่วนผสมที่หวังว่าจะให้ต้นทุนลดลง กลับมีต้นทุนสูงกว่าน้ำมัน ทำให้การกระจายน้ำมันในตลาด เกิดภาวะซ้ำเติมมากยิ่งขึ้น แต่ภาระสำคัญ คือ เร่งกระจายน้ำมันให้ถึงมือประชนเร็วที่สุด
นพ.บุรณัชย์ กล่าวถึงกรณีข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคระกรรมการสมานฉันท์ ว่า เรื่องดังกล่าวขณะนี้ยังถือว่าเป็นขั้นตอนของการทำงานยังไม่มีการเสนอผลการประชุมต่อการพิจารณาของที่ประชุม ครม.แต่อย่างใด ตนเข้าใจว่าเป็นความตั้งใจของคณะกรรมการชุดนายสมบัติ ที่ต้องการให้เกิดการถกเถียงเหมือนกรณีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ในส่วนของพรรคถือว่าการทำงานของคณะกรรมการเป็นไปตามอิสระ พรรคและรัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระที่สำคัญความคืบหน้าของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มีอยู่ 5 กระบวนการขับเคลื่อนในการสร้างความปรองดองจะมีส่วนสำคัญในการเสนอต่อรัฐบาลเพื่อนำมาพิจารณาประกอบกับการตัดสินใจแก้ไขปัญหาของประเทศ รวมทั้งการคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการยุบสภาต่อไป ถือว่า เป็นความพยายามที่จะตอบโจทย์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา ในเบื้องต้นว่าจะตอบโจทย์ในปัญหาความขัดแย้ง และปฏิรูปการเมืองอย่างไร
นพ.บุรณัชย์ กล่าวอีกว่า การเสนอความคิดเพื่อเป็นตัวตั้งให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็น และยังเหลืออีก 4 ประเด็น รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองในวงกว้าง ซึ่งตรงนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่คณะกรรมการเสนอให้สังคมวิจารณ์ แต่เชื่อว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่การพิจารณาของ ครม.และนำไปสู่การแก้ไขจริงนั้นไม่น่าจะทันกรอบระยะเวลาอายุรัฐบาล และอายุสภาชุดปัจจุบัน คิดว่า คงจะต้องมีกระบวนการที่ต้องใช้คณะกรรมการเป็นคนกลาง เช่นเดียวกับ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เข้ามาพิจารณาถึงประเด็นเหล่านี้ แต่ในส่วนของพรรคต้องดูรายละเอียดของกระบวนการก่อน
นพ.บุรณัชย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการยุบสภาถือเป็นกลไกถ่วงดุลสำคัญในระบบรัฐสภา ว่าหากอำนาจการถ่วงดุลของฝ่ายบริหารด้วยการยุบสภานั้นขาดไป จะทำให้ความสมดุลทางการเมืองสูญเสียไป และส่งผลกระทบถึงการตรวจสอบและการรับผิดชอบการคานอำนาจระหว่างสถาบันนิติบัญญัติ และสถาบันบริหาร หรือไม่ ส่วนการสังกัดพรรคการเมืองซึ่งเป็นสิ่งยืนยันถึงข้อกล่าวหาของ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบจากข้อเสนอนี้นั้น ถือว่าไม่เป็นความจริง เพราะพรรคไม่มีทางได้เปรียบ หากมีการเสนอให้ ส.ส.ไม่จำเป็นต้องมีการสังกัดพรรคการเมือง แต่มีคำถามว่าความรับผิดชอบของผู้แทนต่อประชาชนหากไม่มีพรรคการเมืองเข้ามารองรับจะมีกลไกใดในการกำกับการทำงานของผู้แทนที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง และความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ที่เสนอให้คำนึงถึงคะแนนที่ได้จากระบบสัดส่วน เป็นตัวกำหนดผู้ที่มีสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคคิดว่า เป็นประเด็นคำถามที่ต้องตั้งว่าความชอบธรรมในการตั้งรัฐบาลอยู่ที่จำนวน ส.ส.แต่คะแนนที่สะท้อนด้วยการเลือกระบบสัดส่วนเป็นคะแนนที่มีนัยสำคัญ
นพ.บุรณัชย์ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอของ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นข้อเสนอที่พูดถึงความชอบธรรรมในการจัดตั้งแต่ไม่ใช่การผูกขาดไม่ให้ผู้ที่ได้คะแนนในลักษณะอื่นจัดตั้งรัฐบาลนั้น ตนเชื่อว่าข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยว่าจะมีใครเป็นผู้นำ แต่เมื่อขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่าพรรคเพื่อไทยมีผู้นำคนใหม่ คือ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และพร้อมที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ นำไปสู่การเลือกตั้งหาเสียงครั้งต่อไป ประเด็นนี้ไม่น่าเป็นปัญหา เพราะอยากให้พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ หาเสียงในลักษณะเดียวกัน คือ หากมีความเชื่อในตัวนายมิ่งขวัญที่จะเป็นนายกฯ ก็ขอให้ประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทย ทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อเป็นเบอร์เดียว ถ้ามีความมั่นใจในทิศทางการบริหารงานของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ขอให้เลือกเขต และบัญชีรายชื่อเป็นเบอร์เดียวกันเช่นกัน หากเป็นเช่นนั้นก็จะไม่มีความแตกต่าง ระหว่างบัญชีรายชื่อกับระบบเขต ประเด็นข้อปัญหาคณะกรรมการที่มี นายสมบัติ เป็นประธาน และข้อเสนอของนายกอร์ปศักดิ์ ก็จะไม่เกิดขึ้น จึงขอท้าไปยังพรรคเพื่อไทย ว่า พร้อมที่จะเข้าสู่การหาเสียงในลักษณะดังกล่าว เพื่อที่จะถกเถียงในเรื่องความแตกต่างระหว่างระบบเขต และระบบสัดส่วน หรือไม่