xs
xsm
sm
md
lg

คนทำสื่อ คนการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
คอลัมน์ “โสภณ องค์การณ์”
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์

สวัสดีครับ เป็นสัปดาห์สำหรับการเริ่มต้นของผมในหนังสือฉบับนี้ หลังจากเริ่มใน “หน้ากระดานเรียงห้า” ของ ASTVผู้จัดการรายวัน ก็โดนแซวผสมกับคำท้าทาย

“ไปว่าประชาธิปัตย์ทำไม แน่จริงไปลงเลือกตั้งแข่งดูซิ” เจอแบบนี้ ก็ต้องขอเคลียร์ประเด็นนี้ก่อนก็แล้วกัน ก่อนไปว่ากันเรื่องจริงจังสัปดาห์หน้า

การทำอาชีพสื่อมักได้รับคำท้าทาย จากคนที่ชอบและไม่ชอบ

คนชอบก็เสนอว่า “ทำไมไม่เล่นการเมือง จะใด้ทำประโยชน์ช่วยเหลือประชาชน” พวกที่ไม่ชอบข้อเขียนการวิพากษ์วิจารณ์ขวัญใจของเขา ก็มาในแนวประชด

บรรดาแฟนๆ ของคนหนีคุกหน้าเหลี่ยม และแม่ยกของ “มาร์ค โพเดียม” จะมาพร้อมกับคำท้าทายอย่างที่ว่าไว้ คนกลุ่มนี้เชื่อว่า คนทำสื่อ หรือผู้ประกอบอาชีพอื่น ไม่มีทางสู้นักการเมืองได้ น่าจะเป็นความจริงเกือบหมด เดี๋ยวมาว่ากัน

อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณข้อเสนอของคนหวังดี แต่ต้องปฏิเสธ เพราะไม่ใช่เป็นอาชีพที่ตัวเองถนัด เพราะการเป็นนักการเมือง และคนทำสื่อมวลชนนั้น ต้องการความสามารถพิเศษต่างกัน แม้ส่วนใหญ่ของชีวิตจะคาบเกี่ยวกันจนแยกเกือบไม่ออก

สื่อบางกลุ่ม และนักการเมืองบางพวก เหมือนผีเน่ากับโลงผุ! มีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างแนบแน่น หากินร่วมกัน แยกบทบาท ถึงเวลาก็แบ่งปันรายได้

เหมือนยุคหนึ่ง มีนักการเมืองและพ่อค้าเลี้ยงดูคนทำสื่อระดับพี่เอื้อย จนมีฉายาว่า “18 อรหันต์” และคนกลุ่มนี้แหละมีส่วนเป็นเบ้าหลอมทัศนคติและความคิดของประชาขนบางส่วน ซึ่งหลงเชื่อว่าคนทำอาชีพสื่อนั้น มีความน่าเชื่อถือ เป็นฐานันดร 4

ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะยุคนี้มีสื่อหลากหลาย ทำมาหากินตามสภาพของแต่ละคน มีสื่อกระแสหลัก สื่อแท้ สื่อเทียม สื่อรับจ้าง สื่อสารพัด สื่อมืออาชีพ

มีแต่คนในอาชีพเดียวกัน มองกันออก ว่าใครเป็นใคร มีจุดยืน เบื้องหน้าเบื้องหลังเป็นอย่างไร มีผลประโยฃน์แอบแฝงอย่างไร ทำอาชีพสื่อเป็นหลักหรือไม่

เอาเถอะ! นั่นเป็นทางใครทางมัน เพียงแต่อยากให้ประชาชนวิเคราะห์ และคิดก่อนจะเชื่อว่าสิ่งที่เห็น ตามที่สื่อรายงาน วิเคราะห์ให้ฟังนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่

แต่ยุคนี้ประชาชนผู้บริโภคสื่อแทบไม่มีเวลาวิเคราะห์ เพราะรายงานข่าวต่างๆ นั้น เป็นการ “ลอก” หรือ “ก็อปปี้” กันในกลุ่มผู้สื่อข่าว เข้าทำนองถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

ดังนั้น ถ้าข่าวผิด ก็ผิดเหมือนกัน ถูกก็ถูกเหมือนกัน แล้วแต่ว่าใครจะเป็นเหยื่อ!

ย้อนมาพูดถึงคำท้าทาย “แน่จริง ทำไมไม่เข้าสู่การเมือง ลงสมัคร ส.ส.”

ต้องดูว่าการท้าทายนั้นมีเหตุผลหรือไม่ เขาต้องการเห็นความพ่ายแพ้ เพราะคะแนนเสียงสู้ ส.ส. นักการเมืองอาชีพไม่ได้แน่ๆ! ต้องยอมรับว่า “จริง”

เว้นแต่ในสังคมการเมืองที่ผู้ลงคะแนนเสียงไม่ขายเสียง หรือเป็นกลุ่มจัดตั้ง มีสมองคิดเอง! และต้องเป็นสังคมซึ่งนักการเมืองไม่ซื้อเสียง สังคมไม่ยอมทนคนหน้าด้าน กังฉิน หรือเป็นกลุ่มอาชญากรรวมตัวกันตั้งพรรคการเมือง หาผลประโยชน์

การท้าทายให้คนทำสื่อ หรืออาชีพอื่นเล่นการเมือง เท่ากับว่าเป็นการ “ท้าให้ทำชั่ว” แข่งกับนักการเมืองนั่นเอง!

เริ่มต้นที่ต้องมีความกล้าทำความชั่วทุกอย่าง ต้องมีเงินสำหรับซื้อเสียง มีพวก หรือการจ้างให้ประชาชนทำความชั่วด้วยการขายเสียง ให้นักการเมืองเป็นผู้ซื้อ

ลงทุนซื้อเสียงจากชาวบ้าน เพื่อเอาเสียงไปขายต่อในสภา! เป็นการตีกินต่อเนื่อง ซื้อเสียงครั้งเดียว แต่ขายใด้หลายครั้ง จนกว่ายุบสภา! ช่วงนอกเวลาขายเสียง ก็ขายอิทธิพล ใช้เส้นสาย แสวงหาประโยชน์ร่วมกับกลุ่มพ่อค้า

ดังนั้น เป็นธรรมดาซึ่งวิญญูชน คนเคารพตัวเอง หลีกเลี่ยงการเมืองสกปรก ไร้กติกา มองการเมืองเป็นเกมสำหรับทุรชน คนหน้าด้าน ขี้โกง ไร้สำนึกยางอาย

ถึงใครจะพร้อมทำความชั่ว ก็ไม่มีทางสู้นักการเมืองได้ เพราะความเจนสนาม มีเครือข่าย ความสามารถในการพูดเอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้คนอื่น และการโกหกตาไม่กระพริบ เห็นได้ชัดว่าการเมืองเหมือนเป็นการผูกขาดของนักลงทุนการเมือง

สืบต่อทายาท ขยายไปถึงเครือข่าย ญาติมิตร เขย สะใภ้ ตัวแทน!

คนทำสื่อที่เลวก็มีมากมาย และพวกนี้มีศักยภาพพอสำหรับการเป็นนักการเมืองชั่วร้ายได้ เพราะมีสายโยงใยเซ็งลี้กับคนหลายวงการในเวลาที่ทำอาชีพสื่อ

การเมืองเปลี่ยนคน เพราะผลประโยชน์ ความทะเยอทะยาน ในอำนาจ วาสนา เงินตรา และความมีชื่อเสียง บางคนไม่โกง แต่เปิดช่องให้คนใกล้ชิดจัดการแทน

การเมืองเป็นเบ้าหลอมเปลี่ยนคนดีให้เป็นคนชั่ว การเมืองไม่เคยเปลี่ยนคนชั่วให้เป็นคนดี มีแต่ทำให้ชั่วร้าย มีเล่ห์เหลี่ยม ความเลือดเย็น อำมหิตมากกว่าเดิม

ไม่ต้องยกตัวอย่างให้ดูก็ได้มั้ง คนลอยหน้าลอยตา เล่นคารมโวหารทุกวันนี้ไง!

มีคนทำสื่อผันตัวเข้าสู่การเมือง สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง! แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่ได้เป็นคนดีขึ้น ภาพลักษณ์ที่เคยดีในสายตาประชาชน เสื่อมโดยพฤติกรรมน่าสงสัย

แทบไม่มีนักการเมืองเปลี่ยนอาชีพมาเป็นคนทำสื่อ! เพราะไม่ง่าย ทำมาหากินลำบาก โอกาสรวยแทบไม่มี เว้นแต่เป็นเจ้าของกิจการ และประสบความสำเร็จจริงๆ! แม้นักการเมืองอยากเป็นเจ้าของสื่อ ก็ไปไม่รอด เพราะปัญหาความน่าเชื่อถือ

หวังว่าคำท้าทายให้เข้าสู่การเมือง มีคำตอบในที่นี้แล้ว!

วันก่อน “น้ามิ่ง” คนทำสื่อสายประชาสัมพันธ์ ซึ่งดันตัวเองให้เป็นนักการเมือง เริ่มประลองคารมกับนายกฯ มาร์คในสภา กรณีอภิปรายเรื่องเพิ่มงบกลางปี

เห็นได้ชัดว่า “มิ่ง โพเดี้ยง” ไม่ติดฝุ่น “มาร์ค โพเดียม” ห่างกันหลายชั้น ในความเป็นมือสมัครเล่น กับมืออาชีพในการเมือง “น้ามิ่ง” เป็นรองทั้งความหล่อและคารม

ทั้งคู่มีความเหมือนกันคือ “ความดันทุรัง” ขณะที่ “มิ่ง โพเดี้ยง” ดันทุรังขอเป็นหัวหน้าพรรค และเป็นว่าที่นายกฯ จึงเป็นการท้าทาย “มาร์ค โพเดียม” ซึ่งกำลังดันทุรังสุดโต่งกรณี MOU43 ซึ่งสร้างปัญหาระหว่างไทยและกัมพูชา ถึงขั้นสู้รบกันด้วยอาวุธ

แม้การเมืองจะถูกมองว่าชั่วร้าย ก็ยังเป็นคุณอยู่ประการหนึ่ง คือช่วยกระชากหน้ากาก เปิดเผยธาตุแท้ของคน! ดังนั้น ให้ “มาร์ค โพเดียม” เป็นนายกฯ กระดูกอ่อน ไร้เดียงสา ตอนนี้ดีแล้ว ชาวบ้านได้รู้ว่าเป็นคนอย่างไร

ดีกว่าปล่อยให้ให้เขี้ยวยาว ฤทธิ์มากกว่านี้ อีกหลายปีข้างหน้า จริงมั้ยนิ! อิอิอิ!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น