xs
xsm
sm
md
lg

รุมต้าน“ศรีตรังฯ”ฮุบป่าเชียงรายปลูกยาง พบพิรุธ !ที่มาเอกสารสิทธิผิดเงื่อนไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านหมู่ 3 และ 14 ต.แม่อ้อ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อเร็วๆนี้ ที่ไม่พอใจนายทุนบุกรุกป่าต้นน้ำ เข้ายื่นหนังสือถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านต่อผู้ว่าฯและส่งผ่านถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เชียงราย - ชาวบ้านรุมขวาง “ศรีตรังฯ” ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมยางพาราไทยฮุบผืนป่า “ดอยลาน เมืองพ่อขุนฯ” ทำสวนยาง ตั้งโต๊ะรับบริจาคหาทุนเดินสายร้องเรียน-ทำรั้วขวางเส้นทางไม่ให้เครื่องจักรบริษัทใหญ่เข้าแผ้วถางพื้นที่ ด้านตัวแทนบริษัทยันที่ดินมีโฉนดถูกต้อง ฝ่ายความมั่นคงรุกสอบอีกทาง

ท่ามกลางกระแสยางพาราฟีเวอร์ จากราคายางที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง และก่อให้เกิดปัญหาการรุกพื้นที่ป่า เพื่อทำสวนยางกันหลายพื้นที่ในภาคเหนือนั้น ที่จ.เชียงราย ก็เริ่มเกิดปัญหาลักษณะเดียวกันหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ อ.แม่จัน ที่ก่อนหน้านี้ “ASTVผู้จัดการ” ได้นำเสนอข่าวการรุกเข้าครอบครองผืนป่าดอยป่าเมี่ยง ตลอดจนการบุกรุกผืนป่าสบกกฝั่งซ้าย แถบ ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน - อ.เชียงแสน - อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่มาแล้วอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดปัญหาการรุกผืนป่าของเชียงราย ได้โผล่ให้เห็นที่เขต อ.พาน จ.เชียงราย อีกแห่งหนึ่ง โดยชาวบ้านจากหมู่บ้านแม่แก้วรุ่งเรือง และหมู่บ้านแม่แก้วใต้ ต.แม่อ้อ อ.พาน กว่า 100 คน ได้เข้าตรวจสอบสภาพผืนป่าดอยแง่ม และดอยห้วยปลากั้ง ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำห้วยกั้ง เขตติดต่อระหว่าง ต.แม่อ้อ อ.พาน กับ ต.ดอยลาน อ.เมือง จนพบว่ามีกลุ่มนายทุนใหญ่คือ บริษัท ศรีตรังรับเบอร์แอนด์แพลนเทชั่น จำกัด ในเครือเดียวกับ “ศรีตรังแอโกรฯ” เข้าแผ้วถางพื้นที่ในผืนป่าแห่งนี้บางส่วน รวมเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ จากทั้งหมด 4,000 ไร่ และเคยร้องเรียนไปยังนายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย มาแล้ว

ชาวบ้านทั้ง 2 ชุมชนดังกล่าว ต่างยืนยันว่า พื้นที่ ที่ถูกแผ้วถาง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงชันและมีสภาพเป็นภูเขา ป่า ที่ยังอุดมสมบูรณ์ และเคยอุดมสมบูรณ์

นอกจากชาวบ้านแล้ว ยังมีหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ได้เข้าไปตรวจสอบอย่างคึกคัก เนื่องจากก่อนหน้านี้ พล.ท.วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาคที่ 3 เคยให้นโยบายว่าจะต้องปกป้องทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้ในภาคเหนือเอาไว้ให้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการบุกรุกและเข้าใช้ประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องในหลายพื้นที่ จนส่งผลกระทบต่อประชาชน

จากการตรวจสอบพื้นที่ป่าดอยแง่มและห้วยปลากั้ง พบว่า ปัจจุบันบริษัทศรีตรังรับเบอร์แอนด์แพลนเทชั่น จำกัด ได้นำเครื่องจักรกลเข้าไปแผ้วถาง ตัดต้นไม้และปรับพื้นที่เป็นบริเวณกว้างประมาณ 300 ไร่

นายคำมูล เตสทิ ผู้ใหญ่บ้านแม่แก้วรุ่งเรือง กล่าวว่าชาวบ้านไปร้องเรียนต่อจังหวัด เพื่อหวังให้มีการระงับการเข้าไปใช้พื้นที่ของบริษัท เพราะเกรงว่าป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ที่เป็นแหล่งต้นน้ำจะสูญเสียไป แต่จนถึงขณะนี้บริษัทก็ยังมีการรุกขยายพื้นที่เข้าไปอีกเป็นวงกว้าง จึงอยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดการเรื่องนี้ด้วย
ล่าสุด กลุ่มชาวบ้านได้ช่วยกันนำไม้มาทำเป็นรั้วกั้นบริเวณปากทางเข้าออกที่ป่าผืนดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีการนำเครื่องจักรเข้าไปปรับพื้นที่เพิ่มเติม พร้อมกับได้เปิดโต๊ะรับบริจาคเงิน เพื่อใช้เป็นทุนในการต่อสู้โดยเฉพาะค่าเดินทางไปร้องเรียนยังคณะกรรมาธิการรัฐสภา อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมป่าไม้และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น

ด้านเจ้าหน้าที่ของบริษัท ศรีตรังฯ ได้ออกมาชี้แจงต่อตัวแทนชาวบ้าน ว่า บริษัทมีโฉนดในที่ดินแล้ว โดยได้มีการนำหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินและสัญญาซื้อขายที่ดิน รวมถึงระวางแผนที่ว่าอยู่นอกเขตป่าและมีการซื้อขายที่ดินจากชาวบ้านอย่างถูกต้องในปี 2553 พร้อมกับระบุว่า บริษัทตั้งเป้าที่จะใช้พื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ เพื่อปลูกยางพารา

ส่วนประเด็นที่ว่า ขณะนี้บริษัทมีเอกสารซื้อขายที่ดินเพียง 36 แปลง เนื้อที่รวม 740 ไร่ ซึ่งบริษัทอ้างว่าพื้นที่ที่แจ้งเกินดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการทำสัญญาอยู่

ด้านหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ได้มีการประสานขอข้อมูลไปยังหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า สำหรับพื้นที่ที่บริษัทเข้าไปดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามโฉนดที่ดินที่ออกโดยวิธีเดินสำรวจปี 2537 มาตรา 58 ทวิ วรรสอง (3) แห่งประมวลกฎหมายที่ดินจริง โดยกฎหมายนี้อนุญาตให้ชาวบ้านที่ขาดแคลนที่ดินทำกินได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ แต่กำหนดไม่ให้เกิน 50 ไร่ หากเกินต้องขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเสียก่อน รวมทั้งยังห้ามมีการโอนที่ดินภายใน 10 ปี

ข้อมูลดังกล่าวขัดแย้งกับโฉนดที่บริษัทนำออกมาชี้แจง เพราะชื่อของเจ้าของโฉนดคนแรกๆ ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่ทำการเกษตรหรือเป็นชาวบ้านในพื้นที่ แต่มาจากกรุงเทพฯ และนนทบุรี นอกจากนี้จากสภาพพื้นที่ยังขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายที่ดิน 2497 ข้อ 14 (2) ที่ห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน ที่เขา ที่ภูเขา แต่ที่ดินโฉนดดังกล่าวกลับมีสภาพภูมิประเทศตรงกันข้ามกัน จึงเสนอให้มีการตรวจสอบแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศปี 2537,2536,2535 ว่า เคยมีการทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวมาแล้วหรือไม่อย่างไรต่อไป

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่าปัจจุบันข้อมูลทั้งหมดอยู่ระหว่างพิจารณาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเบื้องต้นเห็นว่าคงไม่สามารถเข้าไปดำเนินคดีหรือเพิกถอนสิทธิของบริษัทได้โดยตรง เพราะยังถือโฉนดในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่จริง แต่ต้องใช้วิธีตรวจสอบแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศดังกล่าว ควบคู่กับการตรวจประวัติโฉนดเพื่อดำเนินการกับเจ้าของโฉนดคนแรกเพื่อโยงถึงบริษัทในปัจจุบันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น