xs
xsm
sm
md
lg

เรามีพระอาทิตย์ แต่ทำไมเราไม่มีงานทำ? : คำถามจากผู้ถูกละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม


ก่อนอื่น ขออนุญาตเล่าความในใจสักเล็กน้อย คือ ผมรู้สึกว่า ประเด็นที่ผมนำมาเขียนมักจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ดังนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากเป็นพิเศษก็คือ ทำอย่างไรให้ท่านเลือกอ่านและตรึงความสนใจของท่านไว้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด การเสนอภาพประกอบเป็นเพียงความพยายามหนึ่งเท่านั้น

ภาพนี้เป็นโปสเตอร์ที่องค์กรชาวบ้านแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกาจัดทำขึ้น ข้อความสำคัญตัวโตๆ เขียนว่า “พลังงานหมุนเวียนคือพลังของประชาชน”

ความหมายของพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) คำว่า renewable หมายถึงความสามารถที่จะแทนที่ตัวเองได้ คือ พลังงานที่สามารถเกิดขึ้นเองได้จากแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด ได้แก่ พลังงานลม แสงอาทิตย์ทั้งในรูปของพลังความร้อนและเซลล์แสงอาทิตย์ ชีวมวล รวมทั้งของเสียจากพืช และพลังน้ำขนาดเล็ก

ทางราชการไทยได้แปลคำว่า Renewable Energy เป็น “พลังงานทดแทน” ซึ่งไม่สอดคล้องกับความหมายที่แท้จริงเลย ต่อมาบริษัท ปตท. จำกัด ได้โฆษณาว่า “ก๊าซเอ็นจีวี” ว่าเป็นพลังงานเพื่อมา “ทดแทน” น้ำมัน ยิ่งทำให้สับสนกันไปใหญ่

อย่างไรก็ตาม ใน “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ผมจำได้ดีว่ามีการระบุถึง “พลังงานหมุนเวียน” เอาไว้ด้วย แต่เมื่อผมได้ตรวจสอบใหม่เพื่อความแน่ใจขณะเขียนบทความนี้กลับพบข้อความดังนี้ครับ

“ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนซึ่งได้จากธรรมชาติและเป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ”

ผมรู้สึกผิดหวังนิดๆ แต่ก็ยังดีที่มีการขยายความด้วย “ซึ่งได้จากธรรมชาติและเป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อม”

นักวิชาการเรียกพลังงานอีกประเภทหนึ่งซึ่งไม่ใช่ที่กล่าวมาแล้วว่า “พลังงานฟอสซิล (Fossil Energy)” ซึ่งได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

คำตอบว่าทำไม“พลังงานหมุนเวียนคือพลังของประชาชน?” นั้นมีอยู่แล้วในโปสเตอร์นี้ เช่น

“เรามีพระอาทิตย์ แต่ทำไมเราไม่มีงานทำ”

“พลังงานที่ยั่งยืนทำให้เรามีงานทำได้มากกว่า”

“พลังงานหมุนเวียนดีกว่าสำหรับกระบวนการพัฒนาที่เริ่มต้นจากล่างขึ้นบน เพราะทำให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมได้”

เรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่มาก ในแต่ละปีคนไทยใช้พลังงานสูงถึง 19% ของจีดีพี (สูงกว่าหลายประเทศ) ถ้าคิดเฉพาะไฟฟ้าก็มีมูลค่าประมาณ 4 แสน 3 หมื่นล้าน หรือประมาณ 4.9% ของจีดีพี แต่ปรากฏว่า มีคนทำงานในภาคกิจการไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 8 หมื่นคน หรือประมาณ 0.2% ของคนวัยทำงานเท่านั้น

ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร เคยวิพากษ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีเพียง 11% ของแรงงานทั้งหมด แต่มีส่วนแบ่งของจีดีพีถึง 40% ซึ่งถือว่าเป็นความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงแล้ว แต่ภาคกิจการไฟฟ้ากลับรุนแรงมากกว่าครับ

ถ้าคิดเรื่องเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า พบว่าประมาณร้อยละ 66 ของค่าไฟฟ้าเป็นค่าเชื้อเพลิง แต่เกือบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นเชื้อเพลิงที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ ถ่านหินก็นำเข้าจากต่างประเทศ ก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นของคนไทยก็จริง แต่ก็ผลิตโดยบริษัทต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ คนไทยได้รับเพียงค่าภาคหลวง 12.5% ภาษีเงินได้ก็มีการยกเว้นในช่วง 8 ปีแรกภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุน

ประชาชนไทยจึงเป็นเพียงแค่ผู้จ่ายเงินซื้อไฟฟ้าเท่านั้น ไม่สามารถเป็นผู้ผลิตเองได้

รัฐบาลไทยเคยมีแผนที่จะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าจากร้อยละ 0.5 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 8 ในปี 2554 แต่ในความเป็นจริงนับถึงสิ้นปี 2553 เรายังเพิ่มพลังงานหมุนเวียนไปได้ประมาณ 1% เท่านั้น มันต่างกันเยอะมากระหว่างแผนกับผลสัมฤทธิ์

บางท่านอาจจะแย้งว่า แผนการดังกล่าวไม่สำเร็จก็เพราะความไม่ต่อเนื่องของรัฐบาล แต่ผมเชื่อจากประสบการณ์ของตนเองว่า รัฐบาลไหนๆ ก็ไม่มีความจริงใจที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนเลย

ที่สำคัญกว่านั้น พ่อค้าพลังงานมีอำนาจเหนือกว่ารัฐมนตรีและเหนือกว่ารัฐบาล เป็นเช่นนี้เกือบทั่วโลก ยิ่งนานวันประชาชนก็ยิ่งยากจนลง ตัวเงินอาจจะสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ความเหลื่อมล้ำกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมา ในกรณีประเทศไทยความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนรวยสุดกับจนสุดสูงถึง 69 เท่า

ชาวบ้านในแอฟริกาจึงได้ตั้งคำถาม ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นเจ้าของพระอาทิตย์ร่วมกัน แต่ทำไมรัฐบาลจึงไม่เปิดโอกาสให้ให้พวกเขาได้ใช้ เป็นการละเมิดสิทธิ์ชัดเจน!

ผมเขียนเรื่องไฟฟ้าบ่อยๆ ก็เพราะว่าขณะนี้หน่วยงานของรัฐกำลังรณณรงค์ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมากทั้งด้วยเชื้อเพลิงถ่านหินและนิวเคลียร์ ด้วยกระบวนการที่ไม่ต่างอะไรกับนักการเมืองซื้อเสียงในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งท่านผู้อ่านที่ตื่นรู้คงรู้สึกรังเกียจ

ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดอาจจะมีความรู้สึกโน้มเอียงไปกับผู้นิยมถ่านหิน แต่สิ่งที่ผมพยายามนำเสนอทั้งจากแนวคิดใหม่ๆ และตัวอย่างของประเทศต่างๆ พร้อมหลักฐานที่อ้างอิงได้ พบว่าเรามีทางเลือกอื่นๆ มากมาย

เช่น ในปี 2553 ประเทศเยอรมนีสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึงกว่า 50% ของไฟฟ้าที่คนไทยใช้ทั้งประเทศ ประเทศเขาอาจมีลมแรงกว่าประเทศเรา แต่แสงแดดกับไม้ฟืนเรามีมากกว่าแน่นอน สำคัญอยู่ที่นโยบายของรัฐครับ

ภายใต้รัฐที่พ่อค้าพลังงานมีอำนาจเหนือรัฐบาล มีคนแนะนำให้เราทำงานแบบ “3F” คือค้นคว้าหาความจริง (Finding) กลั่นกรองและทำให้เข้าใจง่าย (Filtering) และ (3) เผยแพร่ต่อไป (Forwarding) ให้กว้างขวางที่สุด ช่วยกันนะครับ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมของเราและของโลกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น