xs
xsm
sm
md
lg

วีรบุรุษแห่งศตวรรษสีเขียว (ที่คนไทยไม่รู้จัก) : แฮร์มันน์ เชียร์

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งคำถามกับหน่วยงานของรัฐว่า ถ้าจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ทำไมจึงเลือกใช้ถ่านหินที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกด้วย ทำไมไม่เลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีในท้องถิ่น เช่น ชีวมวล ลม แสงอาทิตย์ เพราะนอกจากจะไม่เป็นพิษแล้ว ยังช่วยให้ชาวชนบทสามารถขายไม้ฟื้นได้และมีงานทำ

เจ้าหน้าที่ตอบอย่างเย้ยหยันว่า “จะเอาไม้ฟืน ลมและแสงอาทิตย์มาจากไหนจึงจะพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น”

บทความนี้จะนำทั้งแนวคิดและผลงานเชิงประจักษ์ของคนสำคัญคนหนึ่ง โดยยกตัวอย่างจากประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นต้นแบบเรื่องการพึ่งตนเองด้านพลังงานจนแพร่ขยายไปทั่วยุโรป

ย้อนไปปี พ.ศ. 2533 ประเทศเยอรมนีผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง 3 ชนิด (ชีวมวล ลม แสงอาทิตย์) ได้เพียง 1, 463 ล้านหน่วย แต่พอมาถึงปี 2543 และ 2553 กลับเพิ่มขึ้นเป็น 8 และ 50 เท่าตัว ตามลำดับ

ถ้าคิดเทียบกับประเทศไทยเราพบว่า ในปี 2553 ประเทศเยอรมนีสามารถผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่ข้าราชการไทยเย้ยหยันได้ถึง 54% ของที่คนไทยทั้งประเทศบริโภคเลยทีเดียว ขอย้ำว่าจากเชื้อเพลิงเพียง 3 ชนิดคือ ชีวมวล (ไม้ฟืน ของเสียจากการเกษตร) ลม และแสงแดด

สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือ (1) อะไรเป็นสาเหตุให้สองประเทศต่างกันอย่างราวฟ้ากับเหว และ (2) ประเทศเยอรมนีเขาทำได้อย่างไร

ข้อแรก อาจตอบเป็นนามธรรมหน่อยก็คือ “ปัญหาอยู่ที่การเมือง ไม่ใช่ปัญหาเชิงเทคนิคหรือเศรษฐศาสตร์” คำพูดดังกล่าวเป็นของ ดร.แฮร์มันน์ เชียร์ (Dr. Hermann Scheer) ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาของประเทศเยอรมนีนาน 30 ปี เขาศึกษามาทางเศรษฐศาสตร์

ผมขอขยายความคำพูดของเขาว่า เรื่องเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือกังหันลม รวมทั้งอื่นๆ ไม่ใช่ปัญหาในเชิงเทคโนโลยีการผลิต อาจจะมีต้นทุนการผลิตสูงก็จริง แต่ถ้ามีการใช้กันจำนวนมาก ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยก็จะต่ำลง ความเป็นไปได้หรือไม่ได้ของการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงดังกล่าว (เรียกรวมๆ ว่า พลังงานหมุนเวียน) จึงขึ้นอยู่กับมิติทางการเมืองของผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายเป็นสำคัญ

หากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนยังคงสูงกว่าพลังงานจากถ่านหิน รัฐบาลก็ต้องมีหน้าที่ชดเชยต้นทุนให้บ้าง เพราะถือว่า (ก) ไม่เป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (ข) สร้างรายได้ให้กับผู้ขายเชื้อเพลิงในท้องถิ่น และ (ค) สร้างงานจำนวนมาก เป็นต้น

โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของประเทศเยอรมนี (ผลิตไฟฟ้าได้เท่ากับ 54% ของที่คนไทยใช้) มีการจ้างงานกว่า 3 แสนคน ในขณะที่ของประเทศไทยทั้งหมดมีการจ้างงานเพียง 7-8 หมื่นคนเท่านั้น

ตลอดอายุ 20 ปีของกังหันลมขนาด 1.5 เมกะวัตต์เพียงหนึ่งตัวสามารถลดการใช้ถ่านหินกองขนาดเท่ากับตึก 10 ชั้นขนาดใหญ่ 2 ตึก คิดดูก็แล้วกันว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดโลกร้อนได้มากแค่ไหน

คำถามที่สอง ประเทศเยอรมนีเขาทำอย่างไรจึงทำให้การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานที่เป็นมิตรกับคนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นถึง 50 เท่าตัวภายใน 20 ปี ในขณะที่ของประเทศไทยยังมีส่วนร่วมเพียงไม่ถึง 1% หลายปีมาแล้ว

ดร.เชียร์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าววิทยุที่ออกอากาศในสหรัฐอเมริกาก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเพียงไม่กี่สัปดาห์ (เขาเสียชีวิต 14 ต.ค. 53 วัย 66 ปี) ว่า “กฎหมายพลังงานหมุนเวียนเป็นหนึ่งในความริเริ่มของผมและ ส.ส. ในรัฐสภาอีกสองสามคน กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ร่างของรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่เห็นด้วย เรา-หมายถึงรัฐสภา-ช่วยกันระดมแรงสนับสนุนมาตรการนี้ แม้ว่าจะขัดเจตจำนงของรัฐบาลเพื่อนำกฎหมายนี้มาใช้ มันเป็นกฎหมายที่ช่วยให้เกิดความอิสระในการลงทุนสำหรับใครก็ตามที่ต้องการลงทุนในด้านพลังงานหมุนเวียน โดยที่ไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขว่าต้องไปถามบริษัทไฟฟ้าก่อนว่า” ชื่อเต็มของกฎหมายนี้คือ Law for the Priority of Renewable Energies โดยมีหลักการสำคัญ 3 ประการคือ

หนึ่ง รับประกันว่าผู้ที่ผลิตด้วยพลังงานหมุนเวียนจะได้รับการพิจาณาให้ส่งไฟฟ้าเข้าสายส่งได้ก่อน โดยไม่ต้องตั้งคำถามว่าใครเป็นผู้ผลิต สอง รับประกันราคาค่าไฟฟ้าในระยะยาว 20 ปี โดยในช่วง 5 ปีแรกอาจซื้อสูงกว่า 15 ปีหลัง เพื่อลดปัญหาดอกเบี้ยเงินกู้ สาม การไม่มีเพดานคือซื้อไม่จำกัดซึ่งจะช่วยให้เกิดความอิสระในการลงทุน

ด้วยสามหลักการนี้จะมีปัจเจกบุคคลมากขึ้นๆ ทั้งเจ้าของบ้าน บริษัท สหกรณ์ เทศบาล หน่วยสาธารณูปโภคท้องถิ่น จะกลายเป็นผู้ลงทุน ในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนในเยอรมนีทั้งหมดถึง 45,000 เมกะวัตต์ (ใกล้เคียงกับที่ประเทศไทยจะผลิตทั้งหมดในอีก 20 ปีข้างหน้า) ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด ทั้งเซลล์แสงอาทิตย์ พลังงานลม ไบโอแก๊ส (หรือชีวมวล) และพลังงานน้ำขนาดเล็ก

ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่า นโยบายการลงทุนด้านไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นอย่างไร ตอบสั้นๆ ว่าเขาทำตรงกันข้ามกับหลักการใน ข้อหนึ่ง และ ข้อสาม อย่างสิ้นเชิง

ดร.แฮร์มันน์ เชียร์ ได้รับรางวัล Alternative Nobel ในปี 2542 และในอีก 3 ปีต่อมา เขาได้รับการคัดเลือกจากนิตยสารไทม์ให้เป็น “วีรบุรุษแห่งศตวรรษสีเขียว”

เขาให้สัมภาษณ์ผ่านวิทยุในสหรัฐอเมริกา (ไม่นานก่อนเสียชีวิต) ว่า “มากกว่าหนึ่งในสามของงบประมาณกลาโหมสหรัฐฯ ใช้ไปกับการปกป้องแหล่งพลังงานที่อยู่นอกประเทศของตน”

นี่เป็นต้นทุนของพลังงานฟอสซิลที่ไม่เคยถูกนับรวมไว้ในกลไกการตลาด ซึ่งนักคิดระดับนำของโลกกล่าวว่า เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเลยทีเดียว

prasart2552@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น