xs
xsm
sm
md
lg

การฆ่าตัวตายของนักวิชาการ

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

ศาสตราจารย์นอม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) ท่านเป็นนักวิชาการนักคิดผู้ยิ่งใหญ่แห่งสถาบัน MIT ที่นิตยสารไทม์เคยระบุว่า เขาเป็นนักวิชาการที่มีอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ท่านเคยกล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยเอาไว้ว่า... “คุณูปการสำคัญที่มหาวิทยาลัยจะให้กับสังคมเสรีนิยมได้ก็คือ การรักษาความเป็นอิสระในฐานะสถาบันที่มุ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างเสรี การวิเคราะห์อย่างถึงรากถึงโคน การทดลอง การระดมแนวคิดและค่านิยมแบบต่างๆ การศึกษาผลลัพธ์ของกระบวนการทางสังคมและความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เอาไว้”....และหน้าที่ของนักวิชาการที่สำคัญที่สุดมีอยู่ 2 ข้อคือ 1. การพูดความจริงและ 2. การชี้ให้เห็นการโกหก

หากเราเห็นด้วยกับความคิดของท่านนอม ชอมสกี้ ข่าวคราวที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งกันระหว่างการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐหรือเอกชนกับชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนั้นๆ โดยมีเหล่านักวิชาการเดินเข้ามาคั่นเป็นหนังหน้าไฟ โดยเข้ามารับจ้างทำประชาสัมพันธ์ให้กับโครงการบ้าง รับทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) บ้าง และส่วนใหญ่ก็ต้องหน้าแตกหัวเสียกลับออกไปจากพื้นที่อย่างทุลักทุเลในเกือบทุกเวที

เหตุการณ์กรณีที่เกิดขึ้น ณ โรงเรียนบ้านเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ที่มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชท่านหนึ่งและทีมงานซึ่งรับจ้างทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตพื้นที่อำเภอหัวไทร ถูกชาวบ้านในพื้นที่โห่ไล่ให้ออกไปจากพื้นที่ก็จะไม่เกิดขึ้น

ถึงวันนี้เหตุการณ์ก็ลุกลามบานปลายเข้าไปสู่รั้วของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งรู้สึกไม่เห็นด้วยกับบทบาทของอาจารย์ที่ไปทำเช่นนั้น พากันพ่นสีเขียนป้ายประณามอาจารย์ท่านนั้นต่างๆ นานาว่าเป็นผู้ทำให้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะไปรับจ้างรับใช้บริษัทที่ลงไปทำโครงการในพื้นที่ที่ชาวบ้านกำลังรณรงค์ต่อสู้คัดค้านกันอยู่ เพราะเกรงกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนของเขา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ต้องหวานอมขมกลืนจะจัดการกับนักศึกษากลุ่มนั้นก็ลำบากใจ จะไปห้ามไม่ให้อาจารย์ท่านนั้นทำงานต่อก็ไม่ได้เพราะตัวเองเป็นผู้ไปเซ็นสัญญารับงานนี้กับ กฟผ.โดยตรง

เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในพื้นที่ภาคใต้ ในปี 2542-43 พี่น้องในเขตพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และใกล้เคียงที่ต่อสู้คัดค้านโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ ได้พากันยกขบวนนำพวงหรีดไปวางหน้าคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ ทำให้สื่อมวลชนทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ประโคมข่าวกันอึกทึกครึกโครมมาแล้ว เพราะคณาจารย์ของคณะนั้นได้ไปเซ็นสัญญารับประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้กับโครงการฯ ซึ่งชาวบ้านมองว่าเป็นรายงานที่เข้าข้างผู้ดำเนินโครงการฯ และคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยควรที่จะอยู่ฝ่ายชาวบ้านช่วยเหลือชาวบ้านไม่ใช่ไปยืนอยู่ฝ่ายเจ้าของโครงการฯ

หรือกลุ่มทุนที่มาทำความเดือดร้อนให้กับชุมชนของเขา ที่บนพื้นประตูทางเข้า “ลานหอยเสียบ” ที่ชาวบ้านใช้เป็นศูนย์การคัดค้านโครงการโรงแยกก๊าซฯ รายชื่อของเหล่าคณาจารย์ที่รับงานนั้นมาก็ถูกเขียนลงบนพื้นซีเมนต์ให้ผู้ร่วมคัดค้านที่เดินเข้าออกได้เหยียบย่ำ บ้างก็ฉี่รดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจนถึงปัจจุบัน

หากเราพิจารณาความหมายและหน้าที่ของมหาวิทยาลัยตามที่ท่านศาสตราจารย์นอม ชอมสกี้กล่าวไว้ที่ว่า “คุณูปการสำคัญที่มหาวิทยาลัยจะให้กับสังคมเสรีนิยมได้ก็คือ การรักษาความเป็นอิสระในฐานะสถาบันที่มุ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างเสรี การวิเคราะห์อย่างถึงรากถึงโคน การทดลอง การระดมแนวคิดและค่านิยมแบบต่างๆ การศึกษาผลลัพธ์ของกระบวนการทางสังคมและความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เอาไว้”

...การกระทำของคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่รับจ้างทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รับจ้างงานประชาสัมพันธ์ให้กับบริษัทน้อยใหญ่ จึงน่าจะเป็นความชอบธรรมของท่าน ซึ่งแน่นอนว่าหัวใจก็อยู่ที่การทำงานอย่างอิสระ มุ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเสรี การวิเคราะห์ปัญหาอย่างถึงรากถึงโคน ฯลฯ ประชาชนก็น่าจะรับได้กับบทบาทนั้นๆ แต่สังคมไทยวันนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ซับซ้อน ยังมีปัญหาความอดอยากยากจนของพี่น้องในชนบท ขาดโอกาสทางการศึกษาฯลฯ การทำโครงการขนาดใหญ่ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชนไม่มีกลไกหรือการสนับสนุนใดๆ ให้ชาวบ้านมีโอกาสได้รับรู้เรียนรู้อย่างเท่าเทียม

ตรงกันข้ามฝ่ายดำเนินโครงการมีทั้งงบประมาณ กลไกรัฐ และมีเหล่านักวิชาการที่มีความรู้เฉพาะด้านยืนเคียงข้างตลอดเวลา ซึ่งในเรื่องนี้ศาสตราจารย์นอม ชอมสกี้ ได้กล่าวถึงนักวิชาการของสังคมไทยไว้อย่างน่าฟังว่า....  “ชนชั้นนำไทยที่ได้รับการศึกษาและปัญญาชนมีหน้าที่จะต้องหันหลังกลับมา และสำรวจดูสังคมไทยของเราเองด้วยความซื่อสัตย์อย่างกอปรด้วยมโนธรรมสำนึก พวกเขาจำเป็นต้องตรวจสอบมายาภาพเหล่านี้ที่มาทั้งในรูปของวัตถุและทรัพย์สินเงินทอง สถานะทางสังคมของพวกเขาเป็นตัวกำหนดความรับผิดชอบอันสำคัญของพวกเขา ในการแก้ไขปัญหาของคนยากจนและปัญหาสังคมอื่นๆ ที่เรื้อรังในสังคมไทย”

เมื่อนักวิชาการในบ้านเมืองเรายังไม่ทำหน้าที่ปัญญาชนในความหมายของปัญญาชนที่แท้จริง ไม่ได้ทำหน้าที่ของนักวิชาการที่ท่านศาสตรจารย์นอม ชอมสกี้บอกเอาไว้ว่า ต้องมีหน้าที่ในการพูดความจริงและชี้ให้เห็นถึงการโกหก ซึ่งสังคมไทยมีความต้องการนักวิชาการเช่นนี้อีกจำนวนมาก ตราบใดที่เรามีนักวิชาการส่วนใหญ่ ที่เห็นแก่เงินทองอามิสสินจ้างรางวัล พวกเขาก็จะเดินเข้าสู่เส้นทางของการฆ่าตัวตายอย่างช่วยไม่ได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น