xs
xsm
sm
md
lg

ยิงปืนใส่ไทยหมากกลฮุนเซน

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

เป็นเรื่องปกติที่ประเทศทั่วทั้งโลกที่มีชายแดนติดต่อกันจะมีปัญหากระทบกระทั่งกันมาแต่โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม เมื่อเจ้าประเทศให้เอกราช แต่ไม่สามารถแบ่งเขตให้เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่ายได้ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งเรื้อรัง

สหรัฐฯ กับแคนาดามีพื้นที่ปัญหาเขตแดนไม่น้อยกว่า 7 แห่ง ทั้งพื้นดินและพื้นที่ทะเล อังกฤษกับอาร์เจนตินาทำสงครามแย่งเกาะฟอล์คแลนด์ อังกฤษชนะ จึงยังครอบครองเกาะนี้อยู่ และยังขัดแย้งกันอีกหลายเกาะบริเวณแถบใกล้ขั้วโลกใต้ คอขอดยิบรอลตาเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทะเล ที่อังกฤษยึดครองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1713 เมื่อกษัตริย์สเปนยกคอขวดนี้ให้กับอังกฤษแบบถาวร ตามสนธิสัญญาอูเทรชท์ ในปัจจุบันสเปนก็ยังเพียรเรียกร้องคืนจากอังกฤษ

บางแห่งมีการแย่งชิงกันหลายประเทศ เช่น หมู่เกาะสแปรตลีย์ ทั้งจีน จีนไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ต่างต้องการยึดครองในกลุ่มประเทศอาเซียนเองนอกเหนือจากไทยกับกัมพูชาแล้ว ยังมีความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียกับฟิลิปปินส์เหนือเขตซาบา สิงคโปร์กับมาเลเซียตกลงกันไม่ได้กรณีพื้นที่เล็กๆ ที่จุดหมายเลข 20 บนแนวเขตแดนและยังตกลงกันไม่ได้

สำหรับประเทศไทยนั้นมีปัญหาชายแดนรอบประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่เป็นอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส แต่เขตแดนไทย-มาเลเซียยาวประมาณ 780 กิโลเมตรนั้น มีการตกลงและสร้างรั้วกันเป็นแนวแบ่งเขตแดนเห็นได้ชัดเจน ปัญหาเขตแดนจึงยุติไปแล้ว แต่ด้านตะวันตกจนถึงทิศเหนือติดกับพม่ามีปัญหาตลอดแนว ด้านตะวันออกติดต่อกับกัมพูชามีปัญหาตลอดแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตแดนตรงปราสาทพระวิหาร

การปะทะกันตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชานั้น มีมาตลอดตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ในอดีตนั้นหากเขมรแสดงท่าทีก้าวร้าว กองทัพไทยก็จะเข้าย่ำยีทันที เช่นในปี พ.ศ. 1975 พระเจ้าอู่ทองยกทัพไปตีนครธม เมืองหลวงแตกพ่ายยับเยิน จนเขมรเสียเมืองให้กับฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2406 และในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยเสียดินแดนเขมรให้กับฝรั่งเศส เรียกว่าการเสียดินแดน ร.ศ.112

เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2481 ได้กำหนดให้รัฐนิยมเป็นนโยบายหลักในการสร้างชาติ และริเริ่มเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ซึ่งนิสิตนักศึกษาและประชาชนเดินขบวนสนับสนุนให้รัฐบาลเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ซึ่งนอกจากปฏิเสธแล้วยังส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่นครพนม อุบลราชธานี และส่งทหารโจมตีก่อนที่อรัญประเทศ กองทัพไทยที่เตรียมพร้อมอยู่แล้วจึงเปิดศึกเต็มรูปแบบกับกองทัพฝรั่งเศสเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2483

กองทัพไทยสามารถบุกเข้าไปในดินแดนอินโดจีน-ฝรั่งเศส ยึดธงไชยเฉลิมพลทหารฝรั่งเศสได้ และยึดครองพื้นที่ได้หลายจังหวัด เป็นครั้งแรกที่กองทัพอากาศไทยได้พิสูจน์ฝีมือเอาชนะกองทัพอากาศฝรั่งเศสได้ และครองอากาศได้ ทั้งยังป้องกันมิให้ฝูงบินรบฝรั่งเศสเจาะเข้ามาทิ้งระเบิดในไทยได้อีก

รัฐบาลญี่ปุ่น จึงเข้าไกล่เกลี่ยให้ยุติการรบในวันที่ 28 มกราคม 2484 และมีการทำสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ทำให้ไทยได้ดินแดนบางส่วนคืน จัดตั้งเป็น 4 จังหวัด จนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2488 ฝรั่งเศสในฐานะพันธมิตรชนะสงครามกับเยอรมนีและญี่ปุ่น จึงเข้ายึดดินแดนคืน

เรื่องราวนี้เป็นบทเรียนของคนไทย เพราะครั้งนั้นเป็นโอกาสทองต่อรองของไทยภายใต้อิทธิพลของเสรีไทย โดยเฉพาะการใช้นโยบายมาร์เชล ที่ใช้จัดระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้เจ้าประเทศอาณานิคมทั้งหลายปลดปล่อยประเทศราชให้เป็นอิสระ เป็นหลักในการร้องขอให้มีการกำหนดเส้นเขตแดนใหม่ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส เพราะมีชนชั้นผู้นำเป็นสมาชิกเสรีไทย สามารถที่จะล็อบบี้มหาอำนาจในสหประชาชาติที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ซึ่งไทยเป็นสมาชิกแล้วให้มีการจัดแจงเขตแดนเสียใหม่ ให้เกิดความยุติธรรมกับไทย เพราะฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2436 ทำสัญญาโกงไทยใครๆ ก็รู้

เมื่อไทยพลาดโอกาสนี้ ฝ่ายเขมรซึ่งยังยึดถือสัญญาและแผนที่เดิมที่ฝรั่งเศสทำไว้ในปี พ.ศ. 2450 โดยรวมเอาเขาพระวิหารเข้าเป็นอาณาเขตเขมร-ฝรั่งเศส แม้ในปี พ.ศ. 2452 มีการประชุมคณะกรรมการทำสัญญาเขตแดน ฝ่ายไทยก็มิได้ทักท้วง จนทำให้ไทยแพ้คดีใน พ.ศ. 2505 เพราะส่วนหนึ่งทนายเขมรใช้กฎหมายปิดปาก อ้างว่าไทยไม่ทักท้วง ก็เท่ากับยอมรับโดยปริยาย ศาลโลกจึงตัดสินให้เขมรครอบครองเฉพาะตัวองค์ปราสาท แต่พื้นที่โดยรอบยังไม่มีข้อยุติจนกระทั่งวันนี้

ฮุนเซนยิงปืนหลายชนิดใส่ไทย ก็เพื่อเรียกร้องความสนใจจากประชาคมโลก เพราะรู้ว่าไทยต้องตอบโต้ และต้องการหลีกเลี่ยงการถูกประท้วงขับออกจากตำแหน่งเพราะครองอำนาจนานเหมือนในตูนิเซียและอียิปต์ จึงสร้างฉากยิงไทยเบี่ยงเบน

ดังนั้น การยิงปืนใส่ไทยสร้างกระแสชาตินิยมในเขมรขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง และฮุนเซนทำตัวเป็นฮีโร่ 2 สถาน คือ จับนักการเมืองและ NGO ไทยได้ และยังสามารถยิงปืนใส่ไทย ทำร้ายทหาร ประชาชนไทย

แต่ที่สำคัญฮุนเซนต้องการให้ต่างชาติ โดยเฉพาะเอาฝรั่งเศสเข้ามาเป็นตัวกลางเจรจา เพราะว่าฝรั่งเศส อย่างไรเสียก็จะต้องเข้าข้างเขมรตามธรรมชาติของประเทศเจ้าอาณานิคมเขมรมาก่อน และสามารถที่จะใช้สัญญาไทย-ฝรั่งเศส พ.ศ. 2450 มาจัดการกับพื้นที่ปัญหาได้เพราะเป็นหลักกฎหมายที่ไทยแพ้ความ ทำให้ไทยอยู่ในฐานะเสียเปรียบอีกเช่นเคย

หากต้องการยุติการทำร้ายคนไทย เราจะต้องป้องปรามด้วยกำลังเด็ดขาด หนักแน่น เช่น การใช้ F-16 กราดกระสุนปืนใหญ่อากาศบริเวณรอบที่ตั้งฐานทหารเขมรลักษณะขู่ไม่ได้ยิงให้ตายเพียงแต่เสียงไอพ่นและห่ากระสุนปืนใหญ่อากาศก็น่าพอที่ข่มขู่ให้ฮุนเซนและทหารเขมรยุติการยิงฆ่าทหารและประชาชนชาวไทย แต่ถ้าดื้อดึงก็ต้องยิงถล่มเป็นฐานๆ ไป และการยิงกันชายแดนไม่ใช่สงคราม
กำลังโหลดความคิดเห็น