xs
xsm
sm
md
lg

ผลกระทบต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์

วันที่ 19 ธันวาคม 2549 ธปท.ได้ออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ เงินทุนไหลเข้า โดยหวังจะยับยั้งการไหลเข้าของเงินทุน แต่ออกมาตรการแค่วันเดียว ดัชนีตลาดหุ้นตกกว่า 100 จุด มูลค่าตลาดหุ้นเสียหายกว่า 8 แสนล้านบาท ต้องยุติมาตรการดังกล่าวในวันรุ่งขึ้น แสดงถึงการยอมจำนนและพ่ายแพ้ต่อการแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้า ยิ่งทำให้เงินทุนไหลเข้ามากกว่าเดิม ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสุทธิอยู่ที่ระดับ 74 พันล้านเหรียญสหรัฐ

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 หรืออีก 3 ปีต่อมา ธปท.ได้ออกมาตรการ 4 ข้อ เพื่อที่จะหาทางลดสภาพคล่องที่ท่วมระบบ เช่น ให้นิติบุคคลสามารถลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ไม่จำกัดจำนวน และขยายวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศจากที่เคยอนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) จัดสรร 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552 อยู่ที่ระดับต่ำสุดที่ 1.25 เปอร์เซ็นต์ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสุทธิอยู่ที่ระดับ 119.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ แล้วก็คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำ 1.25 เปอร์เซ็นต์นี้ เป็นเวลา 14 เดือน จากนั้นจึงประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อธิบายเหตุผลการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายว่า เป็นเพราะดอกเบี้ยติดลบ อันเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อสูง และดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ทำให้เงินของผู้ฝากเงินมีค่าน้อยลงตลอดเวลา ตั้งแต่กลางปี 2553 ถึงต้นปี 2554 มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว 4 ครั้ง

(1) วันที่ 14 กรกฎาคม 2553 ขึ้น 0.25 เปอร์เซ็นต์ เป็น 1.50 เปอร์เซ็นต์ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสุทธิ 161.39 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2) วันที่ 25 สิงหาคม 2553 ขึ้นอีก 0.25 เปอร์เซ็นต์ เป็น 1.75 เปอร์เซ็นต์ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสุทธิ 166.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ (3) วันที่ 1 ธันวาคม 2553 ขึ้นอีก 0.25 เปอร์เซ็นต์ เป็น 2.00 เปอร์เซ็นต์ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสุทธิ 185.98 พันล้านเหรียญสหรัฐ (4) วันที่ 12 มกราคม 2554 ขึ้นอีก 0.25 เปอร์เซ็นต์ เป็น 2.25 เปอร์เซ็นต์ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสุทธิ 192.18 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สภาพคล่องท่วมระบบ ทำให้มีการจัดทำงบประมาณประจำปี 2544 สูงเป็นประวัติการณ์ 2.07 ล้านล้านบาท และเป็นงบประมาณขาดดุลสูงเป็นประวัติการณ์เช่นกันกว่า 4 แสนล้านบาท ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นการฉวยโอกาสที่จะระบายสภาพคล่องผ่านงบประมาณนี้ด้วย ใส่งบประมาณลงไปยังกระทรวงต่างๆ มากขึ้นเป็นพิเศษ เพิ่มเงินให้โครงการเมกะโปรเจกต์สูง เงินมาก จึงพบเห็นบิลบอร์ดโฆษณารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ทุกถนนหนทาง รวมทั้งในป่าและบนภูเขาข้างทาง เป็นการจัดการปัญหาการขาดสภาพคล่องที่ผิดวิธี ขาดวินัยทางการเงินการคลัง โดยไม่ใส่ใจการสูงขึ้นของหนี้สาธารณะแต่อย่างใด

สภาพคล่องท่วมระบบ ทำให้เงินฝากเข้ามาอยู่ในธนาคารสูง ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ระดับต่ำ สภาพคล่องสูง แต่ปล่อยกู้ได้น้อย คนจำนวนมากติดแบล็กลิสต์จากวิกฤตครั้งก่อนจึงมีคนขอใช้สินเชื่อน้อย และอีกอย่างก็คือสถาบันการเงินปล่อยกู้มากเท่าใด ก็ต้องตั้งสำรองสูงขึ้นเท่านั้น จึงทำให้การปล่อยสินเชื่อทำได้ยาก เมื่อปล่อยกู้ได้น้อย อัตราดอกเบี้ยการให้สินเชื่อจึงอยู่ที่ระดับสูง ส่งผลให้สเปรดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้กว้างมาก คนฝากเงินก็เสียหาย คนกู้เงินก็เสียหาย

ธนาคารและสถาบันการเงินมีรายได้หรือมีกำไรจากธุรกรรมดอกเบี้ยน้อย จึงหันมาเน้นรายได้จากค่าธรรมเนียม จะเห็นว่าค่าธรรมเนียมต่างๆ ของธนาคารปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก ไม่ว่าราคาค่าเช็ค ค่าโอนเงิน การรักษาบัญชี ค่าการติดตามทวงหนี้ ฯลฯ

ปลายปี 2549 ที่ออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสุทธิเท่ากับ 74 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถึงวันที่ 28 มกราคม 2554 ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสุทธิอยู่ที่ระดับ 192.94 พันล้านเหรียญสหรัฐ ชี้บอกว่าสภาพคล่องท่วมประเทศไทยหนักกว่าเดิม

ดูเหมือนนอกจากรัฐบาลและธปท.จะแก้ปัญหาอันใดไม่ได้แล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักมากกว่าเดิม สภาพคล่องท่วมระบบมากกว่าเดิม เงินเฟ้อก็สูงขึ้นมากกว่าเดิม

         indexthai@yahoo.com 
         http://twitter.com/indexthai
กำลังโหลดความคิดเห็น