xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรเมินถูกบีบ 11ก.พ.ไปช่วยทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-พันธมิตรปรับแผน 11 ก.พ. เคลื่อนคาราวานไป อ.กันทรลักษณ์จุดเดียว นำสิ่งของจำเป็นมอบทหารหาญที่ปกป้องแผ่นดินไทยจากเขมร ยันตั้งกรรมการปกป้องแผ่นดิน เปิดโอกาสให้ผู้รักชาติเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมเปิดตู้ปณ.รับฟังเสียงประชาชนทั่วประเทศ หลัง "มาร์ค"ปิดเฟซบุ๊คหนี ด้านผู้อพยพลี้ภัยสู้รบเครียดหนัก ผวาปะทะอีก ในหลวง ราชินีพระราชทานผ้าห่ม เครื่องครัวช่วยเหลือ โรงเรียนบริเวณชายแดนปิด 50 แห่ง ขณะที่กรมศิลปากรเร่งสำรวจปราสาทเสียหาย

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนประจำวัน หลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในการจำกัดพื้นที่การชุมนุม วานนี้ (8 ก.พ.) ว่า คณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน ได้มีมติร่วมกันว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป มีการปะทะกันบริเวณชายแดน จึงเห็นควรที่จะนำสิ่งของที่จำเป็นไปให้ทหารหาญที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยจัดรถบรรทุกออกจากที่สะพานมัฆวานฯ เวลา 09.00 น. ของวันที่ 11 ก.พ. เดินทางไปยังที่ว่าการ อ.กันทรลักษ์ ในช่วงเย็นวันเดียวกัน โดยไม่ได้มีมวลชนติดตามไป แต่จะมีแกนนำหรือผู้แทนไปบางส่วน

"ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ จะเพียงมีการเคลื่อนคาราวานไปที่ จ.ศรีสะเกษ จุดเดียวเท่านั้น โดยนับตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 11 ก.พ. จะไม่มีการเคลื่อนขบวนไปที่ไหน ขอให้ตำรวจสบายใจได้ว่าไม่มีมวลชนหรือคณะของพันธมิตรฯ เคลื่อนไปที่ไหนเป็นอันขาดไม่ต้องห่วงว่าจะมีการเคลื่อนขบวนไปที่รัฐสภา หรือเข้าทำเนียบรัฐบาล แต่หลังจากนั้น เป็นไปได้ทั้งนั้น เราสงวนสิทธิที่จะไปที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ" พล.ต.จำลองกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ ในฐานะคณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดินได้ออกหนังสือถึง ผบ.ทบ.ในการชมเชยทหารหาญที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ชายแดนในการตอบโต้กัมพูชา รวมทั้งแจ้งว่าในวันที่ 11 ก.พ. จะนำสิ่งของไปมอบให้กับทหารในพื้นที่ อ.กันทรลักษ์ ณ ที่ว่าการอำเภอด้วย

เมื่อถามว่าการตั้งคณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน เป็นการปรับโครงสร้างภายในพันธมิตรฯ เพื่อวางแผนในการเคลื่อนขบวนหรือไม่ พล.ต.จำลอง กล่าวว่า เหตุผลที่ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เนื่องจากมีหลายคนต้องการมาร่วมเคลื่อนไหวด้วย โดยเราไม่ผูกขาดเฉพาะพันธมิตรฯ เท่านั้น ในกรรมการ 17 คน มีตน ซึ่งเป็นแกนนำพันธมิตรฯ เข้าร่วมเพียงคนเดียว ไม่มีเรื่องแอบแฝงใดๆ โดยเมื่อมีการตั้งขึ้นมาคณะกรรมการก็ทบทวนแล้วเห็นว่า ควรปรับเป็นการเคลื่อนสิ่งของไปให้ทหารหาญที่ จ.ศรีสะเกษ เหมาะสมกว่า

**เปิดตู้ปณ.ช่องทางถล่ม"มาร์ค"

นายประพันธ์ คูณมี โฆษกการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดิน กล่าวว่า ขณะนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ปิดโทรศัพท์ ปิดเฟซบุ๊ก ไม่ให้ประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็น ทั้งยังประกาศใช้กฎหมายที่ต้องการปิดปากประชาชน เพราะคนเข้ามาตำหนิการทำงานของรัฐบาล รัฐบาลจึงเลือกที่จะปิดกั้นความคิดเห็นของประชาชน ดังนั้น คณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน จะเช่าตู้ไปรษณีย์ ชื่อตู้ ปณ.รวมพลังปกป้องแผ่นดิน เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศ ส่งความคิดเห็นมาว่าจะให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าจะมีไปรษณียบัตรมาเป็นล้านฉบับ โดยเราจะนำมาถ่ายทอด และส่งให้รัฐบาลรับรู้ว่ารัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์ ควรฟังเสียงประชาชน

***ผู้อพยพที่"กันทรลักษ์"เครียดหนัก

สำหรับบรรยากาศที่บริเวณหอประชุมที่ว่าการ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นศูนย์ศูนย์อพยพผู้ประสบภัยการสู้รบระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา ชายแดนเขาพระวิหาร เมื่อวานนี้ (8 ก.พ.) เวลา 11.00 น. ได้มีบรรดาคณะแพทย์และนักจิตวิทยาจากหลายจังหวัดมาให้ช่วยเหลือดูแลรักษาประชาชน เพราะชาวบ้านส่วนมากที่อพยพพักอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพแห่งนี้มีอาการเครียดกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความเป็นห่วงบ้านเรือน ที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้โดยไม่มีใครดูแล และเกรงว่าหากมีการปะทะกันเกิดอีกครั้งจะทำให้บ้านเรือนและทรัพย์สินต่างๆ ได้รับความเสียหาย จากกระสุนปืนใหญ่ ลูกจรวด ของทหารฝ่ายกัมพูชา เพราะทุกครั้งที่มีการปะทะกัน ทหารกัมพูชามักยิงกระสุนปืนใหญ่ ลูกจรวด ถล่มเข้าใส่พื้นที่ชุมชนบ้านเรือนประชาชนไทยตามแนวชาวแดนจนได้รับความเสียหายจำนวนมาก

ล่าสุดประชาชนตามหมู่บ้านแนวชายแดนเขาพระวิหารหลายตำบลของ อ.กันทรลักษ์ ได้อพยพหนีภัยการสู้รบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ก.พ.เป็นต้นมา เข้ามาพักอาศัยอยู่ตามศูนย์อพยพชั่วคราวที่กระจายกันอยู่หลายพื้นที่ 21จุดรวมประมาณ 15,000คน

***ชาว"ภูมิซรอล"ย้ายสัตว์เลี้ยงหนีภัยสู้รบ

ขณะเดียวกันที่บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ ได้มีชาวบ้านบางส่วนพากันมานำสัตว์เลี้ยงจำพวกวัว ควาย เป็ด ไก่ ออกมาจากบริเวณหมู่บ้านไปเลี้ยงไว้ในพื้นที่ปลอดภัย อีกทั้งสัตว์เลี้ยงจำนวนมากไม่ได้รับการดูแลมาเป็นเวลา 5 วัน ทำให้สัตว์เลี้ยงของชาวบ้านจำนวนมากอยู่ในสภาพผอมอดโซ

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำเอาอาหารสัตว์เข้าไปช่วยเหลือดูแลสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านที่ประสบความเดือดร้อนจากการสู้รบโดยด่วนแล้ว

***คุณยายร้องโจรย่องงัดบ้านกวาดเรียบ

นางฉวีวรรณ บุญเสนอ อายุ 70 ปี อยู่บ้านเลขที่ 265 ม.12 ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ ได้เข้าร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่า ตนอาศัยอยู่เพียงตามลำพังกับสุนัข 1 ตัว และได้ทิ้งบ้านเอาไว้แล้วอพยพมาอยู่ที่ศูนย์อพยพแห่งนี้ แต่ปรากฏว่าจากการที่เพื่อนบ้านของตนได้กลับไปตรวจสอบดูแลบ้านที่บ้านภูมิซรอล ได้กลับมาแจ้งให้ทราบว่า บ้านของตนได้ถูกโจรงัดบ้าน และทรัพย์สินภายในบ้านที่มีค่าหลายรายการได้สูญหายไป แต่ว่าสิ่งที่หวงแหนมากที่สุด คือ ขันเงินแท้ ซึ่งเป็นสินสอดในวันแต่งงานของตนกับสามีที่เก็บรักษาเอาไว้นานกว่า 50 ปี ได้ถูกโจรลักเอาไปรวมกับทรัพย์สินอื่น

“หมดตัวแล้วไม่เหลืออะไรอีกเลยจึงได้มาร้องเรียนกับสื่อเพื่อขอให้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ติดตามนำเอาทรัพย์สินของตนกลับคืนมาให้ด้วย”

***ชาว“กันทรลักษ์”จับปืนพร้อมสู้เขมร

ต่อมาเวลา 15.00 น.ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบชุดอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) สำรองจำนวน 1,000 ชุด และอาวุธปืนลูกซอง 5 นัด 1,000 กระบอก พร้อมกระสุนปืนให้กับตัวแทนชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน (ชรบ.) จาก 4 ตำบล 41 หมู่บ้าน อ.กันทรลักษ์ ที่อยู่ติดกับแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อไว้ใช้ในการป้องกันรักษาความปลอดหมู่บ้าน โดยมี นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 3 และนายวีระยุทธ ดวงแก้ว กำนันตำบลเสาธงชัย ร่วมเป็นเกียรติในพิธีรับมอบในครั้งนี้
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ชุด อส.สำรองทั้งหมดนี้ได้รับมอบมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มาเยี่ยมปลอบขวัญชาวบ้านแล้ว เห็นว่า ชุดของ ชรบ.เก่ามากแล้ว และบางส่วนยังไม่มีชุดสวมใส่ ดังนั้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดสรรชุด อส.สำรองส่งมาให้ พร้อมทั้งได้ส่งมอบปืนลูกซอง 5 นัดและกระสุน จำนวน 1,000 กระบอกที่เรียกกลับคืนระหว่างที่มีการชุมนุมทางการเมือง ได้นำมาส่งคืนให้กับชุด ชรบ.ซึ่งได้มอบให้กับชาวบ้านภูมิซรอล และทุกหมู่บ้านในเขต 4 ตำบล ได้ใช้เพื่อป้องกันหมู่บ้านต่อไป

สำหรับยอดจำนวนประชาชนผู้อพยพ ล่าสุดมีประชาชนเข้ามาอยู่ในศูนย์อพยพของ จ.ศรีสะเกษ แล้วจำนวน 21,000 คน โดยได้จัดตั้งศูนย์อพยพรองรับเพิ่มขึ้นจากเดิมรวมจำนวนทั้งสิ้น 41 ศูนย์แล้ว

***ปืนค. ดังขึ้นอีก 1 นัดที่ภูมะเขือ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.วานนี้ (8 ก.พ.) ได้มีเสียง ค.ดังขึ้น 1 นัดที่บริเวณภูมะเขือ ช่องโดนเอาว์ ทางด้านทิศตะวันตกของเขาพระวิหาร ชายแดนด้าน บ.โดนเอาว์ ต.รุง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ แต่ไม่มีใครยืนยันได้ว่าเป็นเสียงปืนของฝ่ายใดและมีการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา เกิดขึ้นหรือไม่

***นำของพระราชทานมอบผู้อพยพอุบลฯ

ที่ศูนย์อพยพโรงเรียนน้ำขุ่นวิทยา อ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี นายดิสธร วัชโรทัย ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำผ้าห่มพระราชทาน 1,200 ผืน หม้อข้าว 360 ใบ จานและช้อนอย่างละ 1,080 ชุด โดยผ้าห่มมอบให้ประชาชนที่อพยพหนีภัยการสู้รบระหว่างทหารไทยและกัมพูชา ส่วนหม้อข้าว จาน และช้อน มอบให้เป็นของกลางใช้ในศูนย์อพยพ

การนำผ้าห่มและเครื่องครัวของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ครั้งนี้ สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยหลังเกิดการปะทะระหว่างทหารของทั้ง 2 ประเทศ จนส่งผลให้ประชาชนตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาด้าน จ.อุบลราชธานี อพยพมาอยู่ในที่ปลอดภัยในศูนย์อพยพชั่วคราว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำสิ่งของพระราชทาน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน

ด้านอบจ.อุบลราชธานี ให้เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องกลเข้าขุดหลุม ทำห้องน้ำในศูนย์อพยพชั่วคราวเพิ่มอีก 12 ห้อง เพราะไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน พร้อมส่งรถบรรทุกน้ำใช้ซักล้างทำความสะอาดเสื้อผ้า และอาบชำระล้างร่างกายวันละ 2 เที่ยว เพื่อไม่ให้น้ำในศูนย์อพยพขาดแคลน

ส่วนสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด หน่วยงานราชการ รวมทั้งองค์กรการกุศล ยังนำอาหารสดและอาหารแห้งปรุงแจกจ่ายให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในศูนย์อพยพทั้ง 3 มื้อ เพราะผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีรายได้น้อย เมื่ออพยพออกจากที่พักอาศัย จึงมีเงินติดตัวมาไม่มาก หน่วยงานบรรเทาทุกข์ จึงระดมความช่วยเหลือมาให้อย่างต่อเนื่อง

***เกจิดังมอบวัตถุมงคลประชาชน-ทหาร

เวลา 16.30 น.ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ ซึ่งเป็นศูนย์อพยพชั่วคราวใหญ่ที่สุดของ จ.ศรีสะเกษ พระอาจารย์วิรพล ฉัตติโก หรือ หลวงปู่เณรคำ ประธานสงฆ์วัดป่าขันติธรรมและประธานมูลนิธิส่งเสริมคุณธรรมและคุณภาพชีวิต บ้านยาง ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ และคณะสงฆ์วัดป่าขันติธรรมได้นำเอาเครื่องอุปโภคบริโภคผ้าห่มกันหนาว ยารักษาโรคจำนวนมากมามอบให้แก่นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากภัยการสู้รบระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาที่บริเวณชายแดนเขาพระวิหาร ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตรายหลาย

นอกจากนี้ หลวงปู่เณรคำ ยังได้นำเอาเหรียญวัตถุมงคลซึ่งทำด้วยปีกเครื่องบินด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่เณรคำ นั่งสมาธิและด้านหลังเป็นพระฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 12,000 เหรียญมามอบให้แก่ พ.ท.กัมปนาท วาพันสุ นายทหารหัวหน้าฝ่ายการข่าว กองกำลังสุรนารี ซึ่งเป็นตัวแทนของกองกำลังสุรนารี เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับทหารไทยทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาด้านเขาพระวิหาร และแจกจ่ายให้กับประชาชนทุกคนที่อพยพหนีภัยการสู้รบชายแดนเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย

***“ปู่จิ้น”ถก3ผู้ว่าฯชายแดนไทย-เขมร

ส่วนที่ จ.สุรินทร์ วานนี้ (8ก.พ.) ช่วงเวลา 09.00 น.ที่ห้องประชุมอำเภอกาบเชิง จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นอำเภอมีพื้นที่ติดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะ เช่น นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายมงคล สุระสัจจะ อธิบดีกรมการปกครอง ได้เรียกประชุมเพื่อมอบนโยบาย ในการพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลัง ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ประกอบด้วย สุรินทร์ บุรีรัมย์ และสระแก้ว พร้อมทั้งรับฟังแผนการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ชายแดนหากมีการปะทะกันเกิดขึ้น

นายชวรัตน์ ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 3 จังหวัด ได้จัดเตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนหากเกิดการปะทะกันเกิดขึ้นตามแนวชายแดน โดยให้อำเภอแต่ละอำเภอที่มีพื้นที่ติดแนวชายแดนได้จัดเตรียมพื้นที่อพยพ และการอพยพประชาชนออกจากแนวชายแดนไปสู่พื้นที่ปลอดภัย

จากนั้นนายชวรัตน์ และคณะ ได้เดินทางไปมอบถุงยังชีพแก่ประชาชน ที่อพยพมาพักอยู่อาศัยชั่วคราว ที่โรงเรียนกาบเชิงวิทยา อ.กาบเชิง โดยมีประชาชนมารอรับถุงยังชีพ กว่า 300 คน

***ผู้อพยพอุบลฯเครียดห่วงบ้าน-ทรัพย์สิน

นางจารุวรรณ โมงขุนทด นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลอำเภอน้ำขุ่น ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.ถึงปัจจุบัน มีผู้อพยพจาก 3 ตำบล ใน อ.น้ำขุ่น และ อ.กันทรลักษ์ หมุนเวียนเข้ามาพักอาศัยในศูนย์แห่งนี้แล้วกว่า 5,000 รายและมีผู้อพยพกว่า 500 รายเกิดความเครียดที่แสดงออกทางร่างกาย คือ มีอาการปวดหัว จุกเสียดแน่นท้อง ทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่วนคนที่มีอาการทางสุขภาพจิต จะมีอาการซึมเศร้า หรือนั่งเหม่อลอยในกลุ่มนี้พบผู้ป่วยประมาณ 50-100 ราย

***ตลาดชายแดนช่องจอมร้างเป็นวันที่สอง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บรรยากาศการค้าชายแดนไทย-กัมพูชาที่ตลาดช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้ามาฝั่งไทยประมาณ 3 กิโลเมตร (กม.) วานนี้ (8 ก.พ.) ร้านค้ากว่า 400 ร้านยังคงปิดตายไม่เปิดให้บริการขายสินค้า กลายเป็นตลาดร้างต่อเนื่องเป็นวันที่สอง หลังจากแม่ค้าพ่อค้าชาวกัมพูชาและชาวไทยทำการปิดร้านขนสินค้า สิ่งของขนกลับเข้าไปยังพื้นที่ชั้นในของประเทศตัวเอง เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากทหารไทย-กัมพูชาได้เปิดฉากปะทะกันอย่างรุนแรงรอบ 3 เมื่อคืนวันที่ 6 ก.พ. จึงมีเพียงพ่อค้าแม่ค้าบางส่วนได้เดินทางมาสังเกตการณ์ในพื้นที่ว่าสถานการณ์น่าไว้วางใจหรือไม่เพื่อประเมินว่าจะสามารถเปิดร้านขายสินค้าได้ตามปกติเมื่อใด

นายพัฒนา ชื่นยง ผู้จัดการตลาดการค้าชายแดนช่องจอม กล่าวว่า ตนรู้สึกเบาใจขึ้นที่ นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาออกมาแถลงข่าวเมื่อวานนี้ระบุว่า จะไม่ให้ปัญหาการสู้รบกระทบกับเศรษฐกิจการค้าชายแดนไทย-กัมพูชาตามจุดผ่านแดนต่างๆ ซึ่งการออกมาพูดเช่นนี้จะทำให้นำไปสู่การคลี่คลายสถานการณ์ตามบริเวณด่านผ่านแดนต่างๆ โดยเฉพาะตลาดการค้าชายแดนช่องจอมนั้น มีโอกาสที่เปิดร้านค้าทำการค้าขายกันได้ตามปกติในเร็ววันนี้ ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์อีก 1-2 วัน

***ทหารยังตรึงกำลังเข้มช่องจอม-โอรเสม็ด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ส่วนที่บริเวณด่านผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชาช่องจอม-โอรเสม็ด ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ซึ่งได้มีการเปิดประตูด่านตามปกติแล้วตั้งแต่เวลา 07.00 น.ที่ผ่านมานั้นตลอดทั้งวานนี้ บรรยากาศยังเต็มไปด้วยเงียบเหงา มีพ่อค้าแม่ค้าประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้ง 2 ประเทศ เดินทางผ่านข้ามแดนเข้า-ออกจำนวนน้อย เพราะยังไม่ไว้วางใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงต้องการรอดูท่าทีสถานการณ์ในพื้นที่ไปอีกสักระยะหนึ่งก่อน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทหารไทยทั้งทหารราบ ทหารปืนใหญ่ จากกองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ยังได้วางกำลังเตรียมความพร้อมตลอดแนวชายแดน ตั้งแต่ ด่านผ่านแดนถาวรช่องจอม-โอร์เสม็ด ต.ด่าน อ.กาบเชิง ไปจนถึงบริเวณปราสาทตาควาย และปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์

***บุรีรัมย์แจงชาวบ้านอย่าตื่นการสู้รบ
ส่วนที่ จ.บุรีรัมย์วานนี้ (8 ก.พ.) นายณัฐ ชาติวัฒนศิริ นายอำเภอบ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้าน บ้านสายโท 6 ใต้ ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านอยู่ติดแนวชายแดนไทย-กัมพูชามากที่สุด โดยอยู่ห่างจากตะเข็บชายแดนเพียง 4 กิโลเมตร (กม.) เท่านั้น เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ปะทะระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา ที่บริเวณชายแดนเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย เพราะเชื่อว่าสถานการณ์ปะทะจะไม่บานปลาย ประกอบกับขณะนี้พื้นที่ตามแนวชายแดนในเขตจ.บุรีรัมย์ ยังไม่มีเหตุปะทะหรือความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น จึงขอให้ชาวบ้านใช้ชีวิตตามปกติ

***ชาวบ้านยังผวาหันกรีดยางกลางวัน

นายสนั่น สะอิ้งรัมย์ อายุ 80 ปี อยู่บ้านเลขที่ 16 ม.5 บ้านสายโท 6 ใต้ ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด บอกว่า ครอบครัวของตนมีสวนยางอยู่ทั้งหมดกว่า 20 ไร่ ถึงแม้รู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์ปะทะกันที่ จ.ศรีสะเกษอยู่บ้าง แต่ช่วงนี้ยังต้องออกไปกรีดและเก็บน้ำยางตามปกติ แต่จะเน้นเฉพาะการกรีดยางตอนกลางวัน เพราะครอบครัวจะมีรายได้จากการขายน้ำยาง ประกอบกับช่วงนี้ยางมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละกว่า 160 บาท

**ร.ร.ชายแดนปิดหนีเหตุปะทะ 50 แห่ง

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงเรียนที่ต้องสั่งปิดเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปะทะระหว่างทหารไทยและกัมพูชา บริเวณแนวชายแดน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ แล้ว 50 แห่ง อยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) ศรีสะเกษ เขต 4 จำนวน 48 แห่ง สพป.เขต 3 จำนวน 1 แห่ง และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 28 จำนวน 1 แห่ง ในส่วนความเสียหายของโรงเรียนภูมิซรอลวิทยานั้น จากการประเมินพบว่า อาคารเรียนและอาคารอเนกประสงค์ ได้รับความเสียหายประมาณ 3,200,000 บาท ซึ่งสพฐ.จะส่งผู้บริหารลงพื้นที่ในวันพรุ่งนี้(9 ก.พ.) เพื่อตรวจเยี่ยมประเมินความเสียหาย พร้อมจัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

***กรมศิลป์ฯ สำรวจโบราณสถาน

สำนักศิลปากรที่ 11 จ.อุบลราชธานี สรุปความเสียหายของโบราณสถาน ที่อยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.ศรีสะเกษ จากเหตุปะทะว่า มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่งที่เสียหาย เช่น ปราสาทโดนตวล สถูปคู่ ภาพแกะสลักผามออีแดง และทำนบโบราณ ขณะนี้ยังไม่สามารถเข้าไปประเมินความเสียหายได้ เพราะเป็นเขตสู้รบ ทหารไม่อนุญาตให้เข้าใกล้พื้นที่ เกรงว่าจะได้รับอันตราย จึงต้องรอให้เหตุการณ์สงบลงก่อน

ด้านสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ยืนยัน ปราสาทตาควาย ตาเมือนธม และตาเมือนโต๊ด อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุปะทะ เนื่องจากมีทหารเข้าไปตั้งฐานประจำการ เพื่อดูแลความปลอดภัย อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเข้าไปตรวจสอบดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น