xs
xsm
sm
md
lg

ดูกัมพูชามันทำ!?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

น่าแปลกใจมากที่การสู้รบระหว่างไทย-กัมพูชากลายเป็นสมรภูมิการสู้รบที่ยืดเยื้อยาวนาน ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่าการสู้รบเช่นนี้จะจบลงหรือไม่และเมื่อใด

กัมพูชาได้ใช้เวลาวางแผนอย่างลึกซึ้ง เดินเกมทางการทูตและการทหาร และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าตรงที่ว่ารัฐบาลไทยเป็นฝ่ายที่ช้ากว่ารัฐบาลกัมพูชาอย่างชัดเจน

ขอย้ำอีกทีว่าสมรภูมิที่มีการสู้รบกันตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ครั้งนี้อยู่ในบริเวณที่สยามกับฝรั่งเศสตกลงกันเมื่อ 103 ปีที่แล้วว่าให้ใช้ขอบหน้าผาเป็นเส้นเขตแดนระหว่างช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ จนถึงช่องบก จ.อุบลราชธานี ความยาว 195 กิโลเมตร และสามารถมองเห็นด้วยตาโดยไม่ต้องจัดทำหลักเขตแดนใดๆ ทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ในเชิงสมรภูมิการสู้รบแล้ว เดิมกัมพูชาไม่สามารถจะมาทำร้ายทหารหรือราษฎรไทยจากบริเวณนี้ได้เลย เพราะทหารที่อยู่ฝั่งกัมพูชาย่อมอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็น “ตีนหน้าผา” ไม่เหมาะที่จะเป็นยุทธภูมิที่โจมตีฝ่ายไทยได้

ก่อนปี พ.ศ. 2543 กัมพูชาได้ใช้เวลาเริ่มรุกรานไทยอย่างเป็นระบบ เริ่มก่อสร้างวัด ย้ายชุมชน และสร้างตลาด เข้ามาอยู่ในดินแดนไทย หลังจากนั้นก็เซ็นบันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2543 (MOU 2543) กับฝ่ายไทย กัมพูชาจึงได้อาศัยข้อ 5 ใน MOU 2543 ว่าห้ามเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมใดๆ ในระหว่างการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน เป็นผลทำให้ฝ่ายไทยไม่สามารถใช้กำลังผลักดันกัมพูชาออกจากพื้นที่ได้ กัมพูชาจึงสามารถยึดครองดินแดนบริเวณดังกล่าวได้อย่างไม่มีกำหนดระยะเวลาจนกว่าการเจรจาจะเป็นที่พอใจของฝ่ายกัมพูชาเท่านั้น

หลังจากปี 2543 กัมพูชาก็ได้ย้ายกำลังทหาร และทยอยสร้างถนนขึ้นจากบ้านโกมุยของฝั่งกัมพูชาเข้ามายังฝั่งไทยผ่านวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระแล้วขึ้นถึงตัวปราสาทพระวิหารในที่สุด โดยที่ฝ่ายไทยมีความภาคภูมิใจมาหลายปีว่าเพราะมี MOU 2543 ทำให้ฝ่ายไทยได้ทำหนังสือประท้วงไปแล้วหลายสิบครั้งในการรักษาสิทธิ์ และทหารไทยก็ไม่สามารถใช้กำลังทหารผลักดันได้ เพราะต้องยึด MOU 2543 ข้อ 8 อีกเช่นกัน

ในที่สุดปราสาทพระวิหารก็กลายเป็นมรดกโลกและวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระก็กลายเป็นพื้นที่ซึ่งกัมพูชาอ้างว่าเป็นของกัมพูชาฝ่ายเดียว และยังใช้เป็นเกราะคุ้มกันให้กับทหารกัมพูชาที่ใช้สำหรับยิงทำร้ายราษฎรไทยอย่างอำมหิตยิ่งนัก

ด้าน “ภูมะเขือ” ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกของปราสาทพระวิหารก็เช่นกัน ได้มีการสร้างบันได และถนนจากตีนหน้าผาขึ้นมาถึงยอดสุดภูมะเขือของฝั่งไทย โดยที่ทหารไทยได้คุมเชิงอยู่ด้านล่างเพื่อไม่ให้กัมพูชาขยายตัว ทั้งนี้ฝ่ายไทยหลงเพียงแค่ว่าเราควบคุมไม่ให้กัมพูชาขยายตัวลงจากยอดภูมะเขือคือชัยชนะแล้วตาม MOU 2543

ภาพ: ทางขึ้นภูมะเขือทิศใต้จากฝั่งกัมพูชาที่สร้างขึ้นเพื่อยึดยอดภูมะเขือฝั่งไทยให้กลายเป็นฐานทัพแห่งใหม่ของกัมพูชาเพื่อยิงใส่ราษฎรไทยในวันนี้

แต่ในที่สุดยอดภูมะเขือกัมพูชายึดครองนั้น กัมพูชาใช้ความเพียรพยายามจนสามารถสร้างศูนย์โทรคมนาคมทางทหาร เป็นเส้นทางลำเลียงและซ่องสุมอาวุธ และสามารถวางกำลังเป็นฐานทัพแห่งใหม่ที่ยิงอาวุธสงครามใส่ทหารและราษฎรไทยอย่างอำมหิตโหดเหี้ยมเลวทรามต่ำช้าเป็นที่สุด

ทั้งบริเวณ “เขาพระวิหาร” และ “ภูมะเขือ” ทหารกัมพูชาเปลี่ยนจากสถานภาพที่เคยอยู่ “ตีนหน้าผา” ในดินแดนกัมพูชากลายเป็นมาอยู่ “ยอดหน้าผา” ในดินแดนไทย ซึ่งถือเป็นการยึดจุดสูงข่มที่ได้เปรียบสมรภูมิทางการทหาร จากแผนการที่วางเอาไว้ล่วงหน้าในการยึดครองดินแดนไทย

ดังนั้นการปะทะกันระหว่างไทย-กัมพูชาตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นมา จึงถือเป็นผลลัพธ์ MOU 2543 อย่างแท้จริง!!!

เพราะในขณะที่ฝ่ายไทยยึดถือ MOU 2543 อย่างเคร่งครัด ในขณะที่กัมพูชาได้อาศัยความเคร่งครัดของไทยต่อ MOU 2543 เข้ายึดพื้นที่ยุทธภูมิสำคัญในดินแดนไทย

พื้นที่บริเวณเขาพระวิหารและภูมะเขือถือเป็นบริเวณที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ตามปกติแล้วไม่มีราษฎรไทยอาศัยอยู่ แต่กัมพูชากลับมีเจตนาเลือกยิงปืนใหญ่ข้ามเขตอุทยานแห่งชาติใส่ราษฎรไทยเป็นเป้าหลักสำคัญ ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นมา

เจตนาอย่างแรกที่กัมพูชาทำเช่นนี้ก็เพราะต้องการให้ประชาชนชาวไทยเดือดร้อนมากกว่าจะต้องการสู้รบกับทหารไทยที่กัมพูชาเสียเปรียบ การทำร้ายประชาชนชาวไทยก็ต้องการเพื่อทำให้คนไทยแตกแยกกัน หวาดกลัวกัมพูชา และต้องการให้คนไทยยอมจำนนกับการที่กัมพูชารุกรานดินแดนไทยในยุคที่รัฐบาลไทยอ่อนแอ

เจตนาอย่างที่สอง กัมพูชาต้องการทำให้ทหารไทยตอบโต้ไปยังที่วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ และปราสาทพระวิหาร เพื่อต้องการประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลกว่าทหารไทยรุกรานกัมพูชาเท่านั้น แต่ยังหาความชอบธรรมจากนานาชาติว่ากัมพูชาถูกรังแกจากไทยแม้กระทั่ง “วัด” ซึ่งควรเป็นพื้นที่สันติภาพ และ “ปราสาท” ที่เป็นมรดกโลก

เจตนาอย่างที่สาม กัมพูชาพยายามยกให้ปัญหาไทย-กัมพูชาให้อยู่ในเวทีนานาชาติ โดยกัมพูชาจับได้ว่าแถลงการณ์ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ที่กัมพูชาได้อ้างว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ข้อ 1 (ค) ที่มีสภาพบังคับให้ไทย-และกัมพูชาต้องพิจารณาแผนที่นี้บนโต๊ะเจรจานั้น เมื่อผนวกกับคำบรรยายคำพิพากษาของศาลโลกเกี่ยวกับกฎหมายปิดปากในเรื่องแผนที่ดังกล่าวในคดีปราสาทพระวิหารนั้นหมายความว่าฝ่ายไทย-และกัมพูชาต้องยึดถือตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 แต่เพียงอย่างเดียวนั้น ฝ่ายไทยก็ไม่ได้โต้แย้งหรือไม่สามารถโต้แย้งแถลงการณ์ดังกล่าวกลับไปได้แต่ประการใด

ทำให้กัมพูชามีความเชื่อมั่นว่าตัวเองมีความได้เปรียบที่จะขยายผลคำพิพากษาของศาลโลกที่เดิมจำกัดอยู่แค่ตัวปราสาทพระวิหาร ให้ลามไปถึงการใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 หากได้รับความช่วยเหลือในเวทีนานาชาติ ด้วยเหตุนี้กัมพูชาจึงได้ระดมกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ยิงเข้าใส่ราษฎรไทยเพื่อหวังให้ไทยตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงเพื่อที่จะได้พึ่งกองกำลังแห่งสหประชาชาติ

แต่แผนของกัมพูชาแทบจะพังพาบไปเกือบทั้งหมดในคราวนี้ เพราะยุคนี้เป็นยุคที่มีเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว บวกกับภาคประชาชนในนามการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดินที่บริเวณถนนราชดำเนินที่ได้ประณามกัมพูชาพร้อมๆ กับได้แสดงหลักฐานมากมายในทางสาธารณะทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้นานาชาติเข้าใจได้ทันทีว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายโจมตีใช้อาวุธสงครามกับราษฎรไทย และยังใช้วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ และปราสาทพระวิหารเป็นฐานทัพอย่างไร้ยางอาย

และเมื่อหลักฐานมีความาชัดเจนเช่นนี้ก็ทำให้กัมพูชาไม่สามารถอาศัยกองกำลังของสหประชาชาติเข้ามาช่วยเหลือได้ เพราะไม่มีความชอบธรรมประการหนึ่ง ไม่สามารถฝ่าด่านสำคัญที่ชัดเจนที่สุดก็คือการปะทะตามแนวชายแดนเป็นการสู้รบที่จำกัดพื้นที่ประการหนึ่ง และเป็นสถานการณ์ที่กัมพูชาสร้างขึ้นมาเองเป็นอีกประการหนึ่ง จึงย่อมไม่เป็นภัยต่อทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับนานาชาติตามกฎบัตรสหประชาติ ด้วยเหตุนี้อาเซียนและองค์การสหประชาชาติจึงไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้ถ้าประเทศไทยไม่ยินยอม

ความจริงแล้วกัมพูชาพยายามมาเป็นเวลาถึง 50 ปีที่จะให้องค์การสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงเพื่อหวังที่จะขยายผลคำพิพากษาของศาลโลกมาโดยตลอด แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จจึงไม่ได้เกี่ยวข้องว่าประเทศไทยและกัมพูชาจะมี MOU 2543 หรือไม่แต่ประการใด

ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา สหประชาชาติทำได้สูงสุดกรณีปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชาก็คือฝ่ายไทยยินยอมอนุญาตให้ผู้แทนขององค์การสหประชาชาติมาเป็นผู้รับฟังการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชาเท่านั้น โดยไม่มีฐานะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหรือเป็นคนกลางในการตัดสิน เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเอกราชและสามารถตัดสินการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

กรณีเหตุการณ์ปะทะกันตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ทหารกัมพูชารุกรานประเทศไทยก็ดี กรณีการซ่องสุมอาวุธสงครามในวัดและปราสาทก็ดี ตลอดจนกรณีการยิงอาวุธสงครามใส่ราษฎรไทยโดยตั้งฐานทัพอยู่ในดินแดนไทยก็ดี รวมไปถึงการเจรจาว่ายุติการยิงแล้ว กัมพูชายังยิงอาวุธสงครามใส่ราษฎรไทยไม่เลิกก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยสามารถชี้แจงได้ที่จะไม่ให้นานาชาติเข้ามาแทรกแซง ยกเว้นว่ากระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไร้ฝีมืออ่อนหัดหรือมีวาระซ่อนเร้นเท่านั้นจึงจะทำภารกิจนี้ไม่ได้

เพราะกัมพูชาเพลี่ยงพล้ำเช่นนี้แล้ว หากรัฐบาลไทยไม่ฉกฉวยโอกาสในการประชาสัมพันธ์ หรือแถลงการณ์ประณามเพื่อทำให้ประชาคมโลกมีความเข้าใจก็น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นโอกาสและความชอบธรรมเต็มเปี่ยมที่รัฐบาลไทยจะยกเลิก MOU 2543 แล้วให้ทหารไทยได้ทำหน้าที่ “ผลักดัน” เพื่อให้ทหารกัมพูชาที่ตั้งฐานทัพอยู่ในดินแดนไทยต้องออกไปจากประเทศไทยโดยไม่มีเงื่อนไข และหยุดภัยคุกคามต่อราษฎรไทยโดยเร็วที่สุด

ราษฎรไทยไม่ควรจะเป็นฝ่ายอพยพหนีออกจากพื้นที่อย่างไม่มีกำหนดระยะเวลาอีกต่อไป แต่ทหารกัมพูชาต่างหากที่จะต้องถูกผลักดันให้ออกจากดินแดนไทยโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อไม่ให้เป็นภัยต่อราษฎรไทยอีกต่อไป

ไม่ใช่กลับไปเจรจายอมจำนนให้กัมพูชาเข้ามารุกคืบตั้งฐานทัพในดินแดนไทยเป็นอันตรายต่ออธิปไตยและราษฎรไทยได้ต่อไป อย่างที่เคยทำกันอยู่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

หลังจากสร้างความชอบธรรมในเวทีนานาชาติแล้ว ไทยก็มีความชอบธรรมที่ทำลาย “ถนน” ที่สร้างเข้ามาในดินแดนไทย เพื่อทำลายเส้นทางลำเลียงยุทโธปกรณ์ทั้งหมดที่นำเข้ามาในฐานทัพกัมพูชาในดินแดนไทย และถ้าจะไม่ให้ยืดเยื้อก็ควรพิจารณาให้ “กองทัพอากาศ” เข้าดำเนินการผลักดันกองกำลังทหารกัมพูชาที่ยึดดินแดนไทยแล้วยิงอาวุธสงครามใส่ราษฎรไทยให้ออกจากดินแดนไทยโดยเร็ว

ลงมือทำเสียโดยเร็ว ประชาชนจะได้ไม่ร่ำลือไปว่ารัฐบาลไทย-กัมพูชา เล่นปาหี่สร้างฉากรบยืดเยื้อ เพื่อให้ประชาชนเดือดร้อนเพื่อให้มากดดัน หรือกล่าวโทษใส่ร้ายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อที่รัฐบาลไทยจะได้ปัดความรับผิดชอบจากการที่ประเทศไทยต้องเสียดินแดน

ลงมือทำเสียโดยเร็ว ประชาชนจะได้ไม่เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าตั้งค่ายอพยพชาวไทยแทนการผลักดันทหารกัมพูชาออกจากพื้นที่นั้นเพื่อที่จะได้งบประมาณแผ่นดินจากการรบยืดเยื้อ และแสวงหาผลประโยชน์จากการนำเข้าส่งออกของเถื่อนหนีภาษีที่ต้องให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างไม่รู้จบสิ้น

สุดท้ายขอให้กำลังใจทหารที่กำลังทำหน้าที่อย่างหาญกล้า และให้กำลังใจประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยของ MOU 2543 ที่ได้แผลงฤทธิ์แล้วในวันนี้ และขอประณามรัฐบาล ทหารกัมพูชา และนักการเมืองไทยบางคนที่เลวทรามต่ำช้าและอำมหิตอย่างที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น