xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปฏิวัติเรื่องตอแยทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

วันนี้ 27 กรกฎาคม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภา ซึ่งมีเนื้อหาข่าวลือการปฏิวัติรวมทั้งยังวิพากษ์ข่าวที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า จะมีการยุบสภาในประมาณเดือนเมษายนนี้ว่า “การยุบสภานั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่ สภาวการณ์ของเศรษฐกิจโดยรวมของชาติเข้ารูปเข้ารอยเป็นไปตามแผนงาน หรือเป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญดำเนินไปอย่างไร้อุปสรรคตามครรลองที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ หรือสถานการณ์ชาติบ้านเมืองเรียบร้อยสงบสุข และไม่วุ่นวาย นายกรัฐมนตรีก็อาจตัดสินใจยุบสภาได้

ครั้นเมื่อถูกถามว่า “เหตุผลยุบสภาเพื่อหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นความจริงหรือไม่” นายสุเทพ ตอบว่า “ไม่มีแนวคิดเช่นนี้” และกล่าวต่อไปว่า “การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นข้อดีของทุกฝ่าย โดยเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลจะได้ชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบทุกเรื่อง ทุกประเด็น”

ประเด็นสำคัญที่นายสุเทพ กล่าวย้ำก็คือ “ผมยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ สะอาด บริสุทธิ์ สามารถพิสูจน์ความจริงใจต่อประชาชนได้ และนายกฯ ได้เรียนไว้กับประชาชนว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งในปีนี้ เพราะเราอยากให้การเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ จะได้ไม่ต้องเอามาเป็นเงื่อนไขอีก”

แต่มีการตอแยทางการเมืองที่กำลังเบี่ยงเบนวิถีทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีข่าวออกจากนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช.ระบุว่า มีนายทหารระดับสูงร่วมประชุมกันที่เซฟเฮาส์เพื่อวางแผนทำรัฐประหาร ซึ่งนายสุเทพ กล่าวว่า “ถ้าอยู่ๆ มีข่าวลือมา แล้วบอกให้ผมสั่งการตามข่าวลือ ผมก็เป็นคนบ้าไปแล้ว ผมไม่บ้าไปด้วย ไม่รู้เอามาจากไหนกัน”

การสร้างเรื่องการทำรัฐประหารของนายจตุพร ย่อมมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสงครามประสาท เป็นเรื่องจิตวิทยา สร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุน ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทท่องเที่ยว กิจการโรงแรมในเขตพื้นที่การท่องเที่ยว เพราะทุกครั้งที่มีข่าวลือเช่นนี้ ผนวกกับสถานการณ์การชุมนุมประท้วงรัฐบาลของคนเสื้อแดงที่กระทำการต่อเนื่องเพื่อรักษาโมเมนตัมสงครามการเมืองกับรัฐบาล นายอภิสิทธิ์และกลุ่มอำมาตย์นิยมที่มุ่งเน้นเฉพาะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และราชภักดี และการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองประท้วงรัฐบาลกรณีที่อ่อนข้อให้กับรัฐบาลเขมร ทั้งยังยอมให้รัฐบาลและฝ่ายทหารเขมรจับคนไทย และตั้งป้ายประณามประเทศไทย

ทั้งสองกรณีนี้ เมื่อนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติฟังดูแล้ว ก็อาจจะลงความเห็นว่า สถานการณ์เอื้ออำนวยต่อการรัฐประหาร สามารถตัดสินใจระงับการลงทุนและเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

ทั้งสองปัจจัยเชิงเศรษฐศาสตร์บ่งชี้ว่าเป็นดัชนีสร้างรายได้ที่มีต้นทุนต่ำที่สุด แต่ให้ผลตอบแทนสูง

ดังนั้น หากเม็ดเงินไม่เข้าประเทศ ความฝืดเคืองก็จะมาเยี่ยม เงินสำรองก็จะถูกใช้ไป และสภาพเศรษฐกิจก็จะซบเซา คนว่างงานทุกหย่อมหญ้า เพราะประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกภาค แม้การที่ประเทศประกาศกฎอัยการศึก หรือประกาศภาวะฉุกเฉิน นักท่องเที่ยวก็ยกเลิกแผนการท่องเที่ยวทันที

ความต้องการของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็เป็นเพียงสร้างภาพหลอน และปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในชาติ ยอมเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยได้มีโอกาสเสนอหนทางแก้ไข

แต่การสร้างข่าวลือการรัฐประหารก็เพียงต้องการให้เกิดความแตกแยกในหมู่นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์กับฝ่ายทหาร เกิดความไม่เข้าใจกัน ระแวงกัน และเมื่อเป็นไปตามแผนนี้แล้ว การยกระดับการชุมนุมย่อมกระทำได้ง่ายขึ้น เพราะการใช้กำลังทหารเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ทหารไม่ชอบที่จะให้รัฐบาลแทรกแซงในเรื่องการดำเนินกลยุทธ์หรือตั้งกฎเกณฑ์จนการปฏิบัติตามยุทธวิธีขาดความอ่อนตัว เพราะรัฐบาลระแวงทหารจะทำรัฐประหาร

การที่ทหารจะทำรัฐประหารนั้น จะต้องมีเงื่อนไขที่ผู้บังคับหน่วยทหารทั้ง 3 เหล่าทัพวิเคราะห์แล้วว่า หากปล่อยให้ลุกลามขยายความล้มเหลว หรือสร้างความเสียหายขั้นร้ายแรงจนไม่สามารถที่จะนำสู่สภาพเดิมของชาติบ้านเมืองได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปกครองสังคม และการสูญเสียบูรณภาพของประเทศ

แต่ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่มีสัญญาณว่าฝ่ายต่อต้านสถาบันได้เปรียบเชิงสังคม ความระแวงในประเด็นนี้ของฝ่ายทหารก็หมดไป ในแต่ละกองทัพก็มีการจัดแถวทหารที่ภักดีต่อระบอบทักษิณจนแปรพักตร์ขาดความจงรักภักดี ประชาชนต่างออกมาแสดงจุดยืนถวายความจงรักภักดี ทำให้ฝ่ายต่อต้านสถาบันต้องถอยไปตั้งหลักใหม่ การปลุกระดมต่อต้านลัทธิอำมาตยาธิปไตยก็กระทำได้ในขีดจำกัด

การตอแยทางการเมืองลักษณะที่สร้างความสับสน และสร้างสถานการณ์ให้ประชาชนระแวงทหารเป็นกลยุทธ์ที่นายจตุพร เลือกเพื่อขยายผลในการเพิ่มความเข้มข้น การต่อต้านลัทธิอำมาตยาธิปไตยที่ถูกอ้างว่า เป็นระบอบเผด็จการรูปแบบหนึ่ง และทหารเป็นกลไกของระบบอำมาตยาธิปไตย แต่ความลึกแผนอุบาทว์ของนายจตุพรก็คือ สร้างภาพยักษ์ให้เป็นสัญลักษณ์ของทหาร เกิดจุดเปลี่ยนในการต่อต้านรัฐบาลเพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างกระแสกดดันรัฐบาลให้ปลดผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารบก ผู้ที่เมื่อเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแล้ว ประกาศปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยชีวิต

การผนวกต่อสื่อสร้างกระแสทหารปฏิวัติ เป็นอีกมิติหนึ่งในการปลุกระดมมวลชนให้ออกมาต่อต้านรัฐบาล และกองทัพ

แต่ทหารคงจะสงบอยู่ในกรมกอง คงไม่วอกแวกไปกับกระแสข่าวลือนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น