xs
xsm
sm
md
lg

ไดนาสตี้ฯลงทุนเพิ่มปีนี้ 420ล. เบรกลดราคาขายหลังต้นทุนพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ไดนาสตี้เซรามิคเบรกแผนปรับลดราคากระเบื้อง เหตุต้นทุนพลังงานและค่าแรงพุ่ง เทงบลงทุน 420 ล้านบาทปีนี้เพิ่มกำลังการผลิตอีก 4ล้านตร.ม./ปีและขยายสาขาเอาท์เล็ตเพิ่ม ดันส่วนแบ่งตลาดรวมเพิ่มเป็น 35% ติงนโยบายรัฐที่จะผลักภาระค่าไฟให้ภาคอุตสาหกรรม

นายมารุต แสงศาสตรา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบ บริษัท ไดนาสตี้เซรามิค จำกัด (มหาชน) (DCC) เปิดเผยว่าในปีนี้บริษัทฯจะลงทุนเพิ่มเติม 420 ล้านบาทเพื่อใช้ในการลงทุนเพิ่มเตาเผาอีก 1 เตา ใช้เงินลงทุน 240 ล้านบาท ทำให้มีกำลังการผลิตกระเบื้องเซรามิคเพิ่มขึ้นจาก 61 ล้านตร.ม.เป็น 65 ล้านตร.ม.ในเดือนก.ค.นี้ รวมทั้งมีการขยายสาขาเอาท์เล็ตเพิ่มขึ้นอีก 10-15 สาขา ใช้เงินลงทุนสาขาละ 5-6 ล้านบาทโดยจะเน้นเปิดสาขาที่ภาคใต้และภาคเหนือ เนื่องจากเห็นว่ากำลังซื้อของประชากรในภาคใต้สูงกว่าภาคอื่นๆจากราคายางที่ปรับตัวดีขึ้นมาก

จากกำลังการผลิตกระเบื้องเซรามิคที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้บริษัทฯมีส่วนแบ่งการตลาดรวมเพิ่มขึ้นจาก 32%เป็น 34-35 % คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดเฉพาะตลาดในประเทศจาก 40%เป็น 43-44% ทำให้บริษัทฯตัดสินใจตรึงราคาขายกระเบื้องเซรามิคในปีนี้ จากเดิมที่เคยมีแผนว่าจะปรับลดราคาขายลง เนื่องจากต้นทุนพลังงานและค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากคู่แข่งมีการปรับลดราคาลง บริษัทก็พร้อมที่จะปรับลดราคาแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯเป็นผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิคที่มีต้นทุนต่ำและมีช่องทางการจัดจำหน่ายมากที่สุดอยู่แล้ว

ส่วนการส่งออกนั้นในปีนี้บริษัทฯยังรักษาสัดส่วนการส่งออกเพียง 3-4%ของยอดขาย แม้ว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก็ไม่เอื้อให้การส่งออกเพิ่มขึ้น และมาร์จินการทำตลาดในประเทศดีอยู่ โดยตลาดส่งออกหลัก คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไต้หวัน ออสเตรเลีย และเยเมน เป็นต้น

นายมารุต กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตขึ้น 10%จากปีก่อนที่มีรายได้ประมาณ 6 พันกว่าล้านบาท ซึ่งขณะนี้การจำหน่ายกระเบื้องในภาคเหนือได้ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ หลังจากเกิดอุทกภัยเมื่อปลายปีที่แล้ว ขณะที่ภาคอีสานและภาคกลางกำลังซื้อยังชะลอตัว และภาคใต้มีฝนตกทำให้บางพื้นที่ยังประสบ
ปัญหาน้ำท่วมอยู่แต่ทั้งนี้เชื่อว่าภาพรวมตลาดกระเบื้องเซรามิคในประเทศปีนี้ขยายตัว 7-8%

ส่วนนโยบายที่กระทรวงพลังงานจะผลักภาระผู้ใช้ไฟน้อยกว่า 90หน่วย/เดือนให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟมากนั้น เห็นว่าไม่สมควร เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมต้องรับภาระค่าแรงที่ปรับขึ้นรวมทั้งต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว หากมีการผลักภาระค่าไฟเพิ่มอีกจะเป็นการซ้ำเติมทำให้ต้นทุนการผลิตขยับขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯมีต้นทุนค่าไฟฟ้าคิดเป็น 6%ของต้นทุนการผลิต ซึ่งหากรัฐมีการผลักภาระผู้ใช้ไฟน้อยให้ภาคอุตสาหกรรมก็คงทำให้ต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เนื่องจากต้นทุนพลังงานของบริษัทฯส่วนใหญ่มาจากค่าก๊าซธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วน 27%ต้นทุนการผลิต และปีนี้ค่าก๊าซฯจะปรับขึ้นอีก 12%ตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นแต่เนื่องจากบริษัทฯมีการปรับขึ้นราคาขายเซรามิคในปีที่แล้ว 4 บาท/ตร.ม. และการเพิ่มกำลังการผลิตทำให้ค่าใช้จ่ายคงที่ลดลง ทำให้มีรายได้มาชดเชยค่าพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น