ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การฟื้นคืนชีพของ “ม็อบเผาบ้านเผาเมือง” ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ที่มีขึ้นบ่อยครั้งนอกจากจะทำให้อุณหภูมิการเมืองเริ่มเพิ่มดีกรีแห่งความดุเดือดแล้ว ยังทำให้ประชาชนคนที่หากินในละแวกราชประสงค์ที่ฝันร้ายกับการชุมชุมของคนเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมปี 2553 ไม่อาจงอมืองอเท้ารอคอยชะตากรรมเหมือนเช่นที่ผ่านมาได้อีกต่อไป
ยิ่งหลังจากศาลไฟเขียวให้ “นายจตุพร พรหมพันธุ์” ไปปรากฏตัวในม็อบได้อย่างสะดวกโยธินด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ “สัญญาณเสี่ยง” ที่จะเกิดเหตุซ้ำรอยมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทีเดียว
นี่ไม่นับรวมถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตามมาอันเป็นผลจากการชุมนุมของม็อบแดงที่ประกาศเอาไว้ชัดเจนว่า จะออกมาชุมนุมเชิงสัญลักษณ์เดือนละสองครั้งเพื่อรำลึกถึงคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตในการชุมนุมเผาเมือง ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ผ่านมา
ด้วยเหตุดังกล่าวกลุ่มผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ทั้งรายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ ประมาณกว่า 500คน จึงได้นัดรวมตัวบริเวณห้างเกษรพลาซ่า แยกราชประสงค์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการค้าต่อบริเวณดังกล่าว โดยมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมมีการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งส่งตัวแทนเดินทางไปยื่นเรื่องถึงทำเนียบรัฐบาล
สำหรับจดหมายเปิดผนึกมีเนื้อหาโดยสรุปได้ว่า ในปี 2553 ที่ผ่านมาการชุมนุมบริเวณราชประสงค์เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่จำนวน 2,088 ราย มูลค่าความเสียหายคิดเป็น 11,275 ล้านบาท พนักงานจำนวน 30,661 คนได้รับผลกระทบ รวมทั้งส่งผลต่อวิกฤตการจราจรและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่และประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้ เมื่อผู้ชุมนุมยังคงใช้พื้นที่ราชประสงค์ในการชุมนุมเดือนละ 1-2 ครั้ง มีผู้ชุมนุมจำนวนมากและไม่ได้บริหารจัดการอย่างเหมาะสม ทำให้ส่งผลเสียหายที่ประเมินไม่ได้ ขาดความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยลดลง ต้องปิดกิจการในช่วงการชุมนุมหนาแน่น บางแห่งมีผู้ใช้บริการน้อยลง การจราจรติดขัดเป็นวงกว้าง และเกิดความไม่มั่นคงต่ออาชีพและวิถีชีวิตชุมชน
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการสี่แยกราชประสงค์ได้เสนอข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่าย่านราชประสงค์มีพื้นที่ไม่เพียงพอ ให้กำหนดหาพื้นที่ที่เหมาะสม ถ้ามีความจำเป็นต้องชุมนุมบนทางเท้าสาธารณะ จะต้องไม่มีการจำหน่ายสินค้าและปิดกั้นทางเข้า-ออกสถานที่ประกอบการและที่พักอาศัย รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ผู้ชุมนุม และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่ในระยะยาวต้องให้รัฐสภาเร่งรัดออก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะมาบังคับใช้โดยเร็ว และขอให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะดังกล่าวเพื่อกำหนดมาตรการการชุมนุมให้เหมาะสมกับพื้นที่ชุมนุม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
“นางหทัยรัตน์ เจริญวัฒนานนท์” แม่ค้าขายเสื้อผ้าอยู่บริเวณประตูน้ำ ให้เหตุผลถึงการลุกขึ้นต่อสู้ในครั้งนี้ว่าเป็นเพราะพ่อค้า แม่ค้าเดือดร้อนมาก ดังนั้นอยากจะเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือประชาชน
เช่นเดียวกับ “นางปิ่นแก้ว พิพัฒน์ธาดา” แม่ค้าขายดอกไม้ที่ศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์ ที่บอกว่า ขายดอกไม้มา40ปี เวลามีการชุมนุมจะต้องงดขายทุกครั้งเพราะชาวต่างชาติไม่กล้ามาเที่ยวโดยเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ชาวต่างชาติจะมากราบพระพรหมเป็นจำนวนมาก พอมีการประท้วงนักท่องเที่ยวก็หายไป แต่การชุมนุมตามสิทธิ์ทำได้ อยากให้ไปชุมนุมที่รัฐบาลจัดที่ทางให้ แต่การออกมาชุมนุมที่ไม่มีการจัดการแบบนี้ พ่อค้าแม่ค้าย่านนี้เดือดร้อนทั้งนั้น
ขณะที่ “นางนันทิยา พัฒน์ทอง” อายุ 47 ปี แม่ค้าขายสินค้าประตูน้ำเซ็นเตอร์ บอกว่า ช่วงชุมรายได้หายไปกว่า 70เปอร์เซ็นต์ เพราะมีการปิดกั้นทางเดิน จนไม่มีกล้ามาซื้อของจนสินค้าขายไมได้ อยากวิงวอนผู้ชุมนุมเห็นใจต้องเคารพสิทธิ์คนอื่นบ้าง
ด้าน “นายชาย ศรีวิกรม์” นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่บริเวณแยกราชประสงค์ว่า สร้างความสูญเสียเกิดขึ้นราว 100 ล้านบาท และทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไม่เดินทางมาในย่านราชประสงค์และส่วนหนึ่งมีการยกเลิกการจองที่พักบริเวณดังกล่าว ซึ่งหากปัญหายืดเยื้อต่อไปจะส่งกระทบต่อเนื่องเหมือนปี 2553
... ทั้งหมดคงไม่มีคำอธิบายอะไรให้มากความสำหรับความเสียหาย ที่กลุ่มคนเสื้อแดงได้ก่อไว้ให้กับประชาชนย่านราชประสงค์ อีกทั้งประชาชนโดยทั่วไปยังต้องประสบปัญหาจราจรในเส้นทางบริเวณดังกล่าว และยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาพลักษณ์ในสายตาต่างชาติอีกด้วย ขณะเดียวกันหากใครไม่ความจำเสื่อม คงจะจำความเจ็บปวดในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมืองเสียวอดวาย สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และผลกระทบทางจิตใจแก่คนไทยทั้งประเทศมาแล้ว ซึ่งไม่มีใครรับประกันได้ว่าเสื้อแดงจะไม่รวมตัวชุมนุมใหญ่เผาเมืองอีกครั้งหนึ่ง
กระนั้น การรวมตัวอย่างเป็นทางการครั้งนี้ของกลุ่มผู้ค้านย่านราชประสงค์ ถือเป็นสัญญาณที่ดีแค่ระดับหนึ่งเท่านั้นหากแต่ว่าวิธีการที่ไปยื่นหนังสือให้รัฐบาลช่วยนั้นดูจะเป็นการหงอให้กับคนเสื้อแดงไปเสียหน่อย หากเปรียบเทียบการลุกขึ้นมาต่อสู้โดยตรงเหมือนกับชาวชุมชนนางเลิ้ง ชาวเพชรบุรีซอย 7 ที่ได้ออกมาต่อสู้แสดงพลังขับไล่คนเสื้อแดงที่มาระรานเมื่อช่วงการชุมนุมที่ผ่าน ก็ถือว่ายังห่างไกลพอสมควร
อีกทั้งยังสะท้อนว่ากลุ่มผู้ค้าราชประสงค์ยังคงมีความหวาดผวาให้กับคนเสื้อแดงมากจนเกินไป และที่สำคัญยังมีช่องทางที่สามารถปลดล็อกได้อีกเปลาะก็ยังพอมีเช่น การยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้ค้าราชประสงค์เดินทางไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ในอีกมุมหนึ่งก็ยิ่งจะเข้าทางกับดักของคนเสื้อแดงที่รอตั้งธงสร้างเงื่อนไขในการเผชิญหน้ากับรัฐบาลอยู่แล้ว โดยเฉพาะ “นางธิดา ถาวรเศรษฐ” รักษาการประธาน นปช. ที่อกหักครั้งใหญ่ ไม่สามารถนำเหล่าแกนนำเสื้อแดง ก่อการร้ายออกมาจากคุกได้
ยิ่งล่าสุดท่าทีของแกนนำเสื้อแดงก็ชัดเจนยิ่งในความพยายามเดินเกมเข้าโหมดความขัดแย้งขึ้นไปอีกด้วยการประกาศว่า ในวันที่ 23 มกราคมนี้ จะชุมนุมยืดยาวต่อไปอีกถึงเวลาเที่ยงคืน ซึ่งปกติการชุมนุมของคนเสื้อแดงจะเลิกราประมาณ 2-3 ทุ่มเท่านั้น
ประกอบกับ การปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยจากฝั่งเสื้อแดงที่ตัวแทนผู้ค้าราชประสงค์ พยายามยื่นข้อตกลงโดยได้โทรศัพท์ติดต่อไปยัง “ธิดาแดง” แต่ไม่ได้รับการตอบรับ โดยอ้างว่าย่านราชประสงค์ ถือเป็นพื้นที่สัญลักษณ์ของการชุมนุมไปแล้ว
แน่นอนว่า สถานะของรัฐบาลไม่ต่างจากเหยื่อของแกนนำเสื้อแดงที่ถูกลากเข้ามาสู่กับดักในกลเกมขัดแย้งอีกรอบหนึ่ง โดยมีผู้ค้ากลุ่มราชประสงค์รวมถึงประชาชนที่ต้องใช้เส้นทางสัญจรเป็นตัวประกัน ซึ่งจากท่าทีรัฐบาล โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ก็ปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยด้วยการผลักภาระให้กลุ่มผู้ค้าราชประสงค์ไปเจรจากับกลุ่มคนเสื้อแดงเอง โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนกลางเจรจา
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่จะลืมไม่ได้ก็คือ สิ่งที่ “นางธิดา ถาวรเศรษฐ” หัวขบวนคนเสื้อแดงและแกนนำทั้งหลาย ได้ท่องคาถาอ้างว่ากลุ่มคนเสื้อแดงออกมาต่อสู้เพือประชาธิปไตยมาตลอดนั้น ก่อนหน้ายังเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ได้เคยอ้างว่ากระทบกระเทือนต่อธุรกิจและท่องเที่ยว แต่พฤติกรรมทั้งหมดกลับตรงกันข้ามซึ่งที่ผ่านมาชัดเจนแล้วว่าเป็นการการละเมิดสิทธิของคนอื่นอย่างชัดเจน ซ้ำร้ายยังเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นตัวเลขนับหมื่นล้านบาท สุดท้ายก็ไม่ทราบได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดในโลก ที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพการแสดงออกในการชุมนุม แต่สามารถสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นได้ หรือว่าจะมีแต่ประชาธิปไตยแบบเหวงๆ ของคนเสื้อแดงเพียงฉบับเดียว