หัวอกคนราชประสงค์ที่กลุ่มเสื้อแดงไม่มีวันเข้าใจ เปิดจดหมายเปิดผนึกจากผู้ประกอบการย่ายราชประสงค์ ชี้แดงเผาเมืองปีที่แล้วผู้ค้าเสียหาย 2 พันกว่าราย มูลค่า 1 หมื่น 1 พันล้าน กระทบพนักงาน 3 หมื่นกว่าคน หนำซ้ำยึดพื้นที่ราชประสงค์ชุมนุมทุกเดือน ทำต่างชาติไม่กล้าเข้ามาเที่ยว สูญเสียรายได้มหาศาล-การจราจรติดขัดต่อเนื่อง เรียกร้องเสื้อแดงอย่ามาชุมนุมที่นี่ จี้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย-เร่งออก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
วันนี้ (11 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ได้รวมตัวบริเวณหน้าห้างเกษรพลาซ่า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าในบริเวณดังกล่าว โดยได้มีการลงชื่อพร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยในจดหมายเปิดผนึกมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ในปี 2553 ที่ผ่านมาการชุมนุมบริเวณราชประสงค์เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่จำนวน 2,088 ราย มูลค่าความเสียหายคิดเป็น 11,275 ล้านบาท พนักงานจำนวน 30,661 คนได้รับผลกระทบ รวมทั้งได้รับความเดือดร้อนต่อการจราจรและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่และประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้ เมื่อผู้ชุมนุมยังคงใช้พื้นที่ราชประสงค์ในการชุมนุมเดือนละ 1-2 ครั้ง มีผู้ชุมนุมจำนวนมากและไม่ได้บริหารจัดการอย่างเหมาะสม ทำให้ส่งผลเสียหายที่ประเมินไม่ได้ ขาดความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยลดลง ต้องปิดกิจการในช่วงการชุมนุมหนาแน่น บางแห่งมีผู้ใช้บริการน้อยลง การจราจรติดขัดเป็นวงกว้าง และเกิดความไม่มั่นคงต่ออาชีพและวิถีชีวิตชุมชน
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการสี่แยกราชประสงค์ได้เสนอข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่าย่านราชประสงค์มีพื้นที่ไม่เพียงพอ ให้กำหนดหาพื้นที่ที่เหมาะสม ถ้ามีความจำเป็นต้องชุมนุมบนทางเท้าสาธารณะ จะต้องไม่มีการจำหน่ายสินค้าและปิดกั้นทางเข้า-ออกสถานที่ประกอบการและที่พักอาศัย รวมทั้งจัตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ผู้ชุมนุม และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่ในระยะยาวต้องให้รัฐสภาเร่งรัดออก พรบ.การชุมนุมสาธารณะมาบังคับใช้โดยเร็ว และขอให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะดังกล่าวเพื่อกำหนดมาตรการการชุมนุมให้เหมาะสมกับพื้นที่ชุมนุม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
สำหรับจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและผู้ชุมนุม ในข้อเรียกร้องการบริหารจัดการการชุมนุมซึ่งละเมิดสิทธิบุคคลอื่น ในพื้นที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีใจความดังต่อไปนี้
“ในฐานะประชาชนคนไทย ชาวราชประสงค์ขอแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี เรื่องความรับผิดชอบของรัฐบาลในการบริหารจัดการการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนโดยส่วนรวม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนในประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง มีการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องรัฐบาลเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง แต่เดิมนั้นจะใช้ท้องสนามหลวงเป็นพื้นที่ชุมนุม ต่อมาเปลี่ยนมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล และลุกลามไปจนถึงพื้นที่สาธารณะ เช่น สนามบิน ท้องถนน และล่าสุด สี่แยกราชประสงค์
ชาวราชประสงค์เข้าใจดีว่าการชุมนุมประท้วงและการเดินขบวนถือเป็นวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลในระบบประชาธิปไตย รัฐบาลไม่อาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงหรือเดินขบวนเรียกร้องของประชาชนที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ หากแต่การชุมนุมดังกล่าวนั้นจะต้องไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของกันและกัน
ทั้งนี้ ในปี 2553 ที่ผ่านมา ได้เกิดความเสียหายที่สามารถวัดได้อันเกิดจากการชุมนุมบนพื้นที่สาธารณะบริเวณย่านราชประสงค์ดังนี้
• ความเสียหายทางธุรกิจของผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่จำนวน 2,088 ราย มูลค่าความเสียหายคิดเป็น 11,275 ล้านบาท
• ผลกระทบต่อความมั่นคงในอาชีพของพนักงานในธุรกิจดังกล่าวจำนวน 30,661 คน
• ความเดือดร้อนในด้านการจราจรและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่และของประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ความเสียหายยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องและเรื้อรัง จากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมยังใช้พื้นที่สาธารณะบริเวณย่านราชประสงค์ในการชุมนุมเดือนละ 1-2 ครั้ง แต่ละครั้งมีผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ยังไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมจากรัฐบาลในเรื่องการชุมนุมซึ่งกำลังละเมิดสิทธิบุคคลอื่น จึงยังส่งผลเสียหายที่ประเมินไม่ได้ต่อเนื่องดังนี้
• ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยในย่านราชประสงค์ลดน้อยลง
• สูญเสียรายได้จากการต้องปิดกิจการในบางช่วงที่มีการชุมนุมหนาแน่น และจากการที่มีผู้ใช้บริการน้อยลง
• การจราจรติดขัดสร้างความเดือดร้อนกระทบไปในวงกว้าง
• เกิดความไม่มั่นคงต่ออาชีพและวิถีชีวิตของคนในชุมชน
ข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีเรื่องการบริหารจัดการการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนโดยส่วนรวม เราประชาชนคนไทยชาวราชประสงค์ขอนำเสนอวิธีการจัดการโดยเร็ว ดังนี้
1. การชุมนุมประท้วงที่มีผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก ย่านราชประสงค์มีพื้นที่ไม่เพียงพอ ทำให้ส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่นเป็นจำนวนมาก จึงขอให้กำหนดและหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเป็นพื้นที่ชุมนุมประท้วงของประชาชน
2. ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องจัดการชุมนุมประท้วง บนทางเท้าสาธารณะจะต้องไม่มีการจำหน่ายสินค้าและไม่มีการปิดกั้นทางเข้า-ออกสถานที่ประกอบการและที่พักอาศัย อีกทั้งต้องให้การจราจรมีความสะดวกพอสมควร
3. ให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการเร่งด่วนร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายผู้ชุมนุม และฝ่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า
มาตรการระยะยาวที่ต้องการเรียกร้อง
1. รัฐบาลต้องเร่งรัดให้รัฐสภาออก พรบ.การชุมนุมสาธารณะมาบังคับโดยเร็ว
2. ขอให้ประชาชนคนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่าง พรบ.การชุมนุมสาธารณะเพื่อกำหนดมาตรการการชุมนุมประท้วงของประชาชนให้เหมาะสมกับพื้นที่การชุมนุม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกต่อไป
ชาวราชประสงค์หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยดี จึงขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้
จากพวกเราชาวราชประสงค์และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ”