ศูนย์ข่าวภูเก็ต-สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ต รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจการค้าจ.ภูเก็ต ช่วง 11 เดือนของปี 2553 ว่า มีการขยายตัว โดยพิจารณาจากภาคอุปทานของจังหวัด ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของจังหวัด และภาคการเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันอุปสงค์ด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนขยายตัวเช่นเดียวกัน
ภาคการบริการและการท่องเที่ยวมีการขยายตัว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานภูเก็ต รวมทั้งสิ้น1,485,115 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 1,015,930 8o หรือคิดเป็นร้อยละ 46.18 นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากที่สุดอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปี มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 87.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.23
ทั้งนี้ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ประชาสัมพันธ์ เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัด รวมทั้งการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในรูปแบบของการจัดงานต่างๆ
นอกจากนี้ เที่ยวบินของสายการบินทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเครื่องบินเช่าเหมาลำได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยจำนวนเที่ยวบินขาเข้าจากต่างประเทศมีจำนวน 9,107 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีจำนวนเที่ยวบิน 6,466 เที่ยวบิน หรือคิดเป็นร้อยละ 40.84 ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน เกาหลี รัสเซียและสิงคโปร์
ในส่วนของธุรกิจโรงแรมมีการขออนุญาตจัดตั้งโรงแรมตาม พ.ร.บ.โรงแรม ทั้งสิ้น 22 ราย ขณะที่ปีก่อนมีเพียง 8 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 175 โดยอยู่ในเขต อ.เมืองภูเก็ต 8 แห่ง อ.กะทู้ 9 แห่ง และ อ.ถลาง 5 แห่ง
ส่วนการค้าการลงทุนมีโครงการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ โดยได้รับอนุมัติให้ลงทุนรวม 9 โครงการ เงินลงทุน 3,001 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ12.50 ในขณะที่จำนวนเงินลงทุนเพิ่มร้อยละ 232.33 กิจการที่ได้รับอนุมัติให้ลงทุนได้แก่ กิจการซอฟต์แวร์ 3 โครงการ กิจการสวนสนุก กิจการผลิตไฟฟ้าจากขยะ กิจการเลี้ยงหอยมุก กิจการผลิตสัตว์น้ำแช่แข็ง และอาหารกึ่งสำเร็จรูปแช่แข็ง กิจการรีสอร์ต
เช่นเดียวกับการลงทุนประกอบธุรกิจ ซึ่งมีการขยายตัวเช่นกัน โดยจำนวนนิติบุคคลที่จัดตั้งใหม่ 1,282 ราย มากกว่าปีก่อนที่มีการจดทะเบียน 1,244 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 3.05 ขณะที่จำนวนเงินลงทุน 2,935.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2,452.93 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 19.65 เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นในด้านการลงทุน โดยการลงทุนส่วนใหญ่เป็นกิจการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ (ซื้อ-ขาย-เช่าอสังหาริมทรัพย์) การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ กิจการโรงแรมและภัตตาคาร
ในขณะที่การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ก็มีการขยายตัวเช่นเดียวกัน โดยพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในจังหวัดภูเก็ต (มกราคม-ตุลาคม 2553) มีจำนวน 1,715,643 ตารางเมตร( ตร.ม.) เพิ่มจากปีก่อนที่มีเพียง 1,362,861 ตร.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 25.88 ซึ่งเป็นการก่อสร้างบ้านพักเพื่อที่อยู่อาศัย (บ้านเดี่ยว/ทาวน์เฮาส์/อาคารชุด) จำนวน 1,298,366 ตร.ม. พื้นที่ที่ขออนุญาตก่อสร้างมากที่สุดอยู่ในเขตเทศบาลเมืองป่าตอ กะรน และ รัษฎา
ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของจังหวัดมีการขยายตัว มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 6.69 ส่วนยอดการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 34.12 และร้อยละ 31.07 ตามลำดับ ส่วนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลลดลงร้อยละ 12.66
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 21.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ12.6 ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของดัชนีความเชื่อมั่นต่อสถานภาพโดยรวมของประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และดัชนีรายได้ในอนาคต
ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 จากการเพิ่มขึ้นดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 5.4 ในขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีหมวดพาหนะ ร้อยละ 0.9 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานซึ่งเป็นดัชนีราคาผู้บริโภคที่ไม่รวมรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน