ธปท. เผยมุมมอง ศก.ไทย ไตรามาส 4 ยังได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคผลิตและการบริโภค ส่วนตัวเลขเดือน ส.ค.ปรับตัวดี เชื่อน้ำท่วมเป็นปัญหาชั่วคราว
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึง ภาวะเศรษฐกิจและการเงินในเดือนสิงหาคม 2554 โดยระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าแทบทุกหมวด ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน ขณะที่อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น
ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 4.29% และ 2.85% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 4.08% และ 2.59% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการคาดการณ์เงินเฟ้อชะลอลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง แต่ยังอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ธปท.จะนำภาวะเศรษฐกิจล่าสุดมาใช้ในการพิจารณาคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 19 ตุลาคม ส่วนการปรับประมาณการณ์ขยายตัวทางเศรษฐกิจจะมีการทบทวนในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม สำหรับผลกระทบจากน้ำท่วมในขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากเหตุการณ์ยังไม่สิ้นสุดจึงต้องมีการติดตามผลกระทบอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว
ส่วนผลกระทบที่มีต่อราคาสินค้านั้นเชื่อว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าบางประเภทปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ธปท.ต้องดูแรงกดดันราคาสินค้าว่ามาจากปัจจัยใด ซึ่งหากเป็นปัจจัยชั่วคราวก็จะไม่นำมาใช้พิจารณานโยบาย
“หากเหตุการณ์เกิดขึ้นไม่นานผลกระทบก็ไม่น่าจะมาก ห่วงแต่ประชาชนและทรัพย์สินที่เสียหาย ส่วนภาคเกษตรกระทบยังไม่มาก ขณะที่บางพื้นที่จะได้รับผลดีจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น ซึ่งภายหลังน้ำลดก็เชื่อว่าจะมีการบูรณะฟื้นฟูที่และเห็นการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น”
นายเมธีกล่าวว่า ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนตามการผลิตที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสำคัญได้แก่ฮาร์ดดิสก์และยายนต์ แต่การที่ตลาดสหรัฐและยโรปชะลอตัวลง ส่งผลให้ภาคสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มยังคงหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งในระยะต่อไปภาคการผลิตยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากภาคยานยนต์ที่ฟื้นตัวจากการผลิตและความต้องการในประเทศ
ขณะที่ภาคเกษตรฟื้นตัวทั้งผลผลิตและราคา โดยผลผลิตสินค้าเกษตรฟื้นกลับมาขยายตัวที่ 3.5% จากที่หดตัว 7.1% ในเดือนกรกฎาคม ส่วนราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้น 9% ตามราคาข้าวและปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรขยายตัว 12.8% จากที่หดตัว 2.7% ในเดือนก่อนหน้า
“รายได้เกษตรกรที่ขยายตัว ประกอบกับอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 5.4% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศ ที่เพิ่มขึ้นและปริมาณการใช้น้ำมันที่เร่งขึ้นจากนโยบายลดราคาน้ำมัน ซึ่งการบริโภคยังมีปัจจัยหนุนให้ขยายตัวดีทั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้นและมาตรการของรัฐบาลเข้ามากระตุ้น ทำให้การบริโภคในระยะต่อไปยังมีแนวโน้มที่ดี ส่วนปัญหาน้ำท่วมในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนคงเห็นผลกระทบในระยะต่อไป”
ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัว 8.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งการลงทุนในหมวดก่อสร้าง และหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สะท้อนจากเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวตามการนำเข้าเครื่องจักรในกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลทั้งประเทศและปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง
สำหรับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาขยายตัวดีในทุกฐานภาษี โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบครึ่งปีที่เพิ่มขึ้นมาก แต่เนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายก่อนสิ้นปีงบประมาณ ทำให้ดุลเงินสดขาดดุล 9.8 พันล้านบาท ภาคอุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวดีทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว โดยการส่งออกมีมูลค่า 20,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 28.4% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวในทุกหมวดสินค้าที่สำคัญ ได้แก่สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม
ส่วนผลกระทบจากปัญหาหนี้ในสหรัฐและยุโรปที่มีต่อการส่งออกเชื่อว่าคงมีบ้างซึ่งต้องรอดูต่อไป แต่ที่ผ่านมาผู้ส่งออกไทยมีการกระจายสินค้าที่ดี ทำให้คาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นคงไม่มากนัก ส่วนการท่องเที่ยวในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1.7 ล้านคน ขยายตัว 35.7% มาจากนักท่องเที่ยวแถบเอเชียเป็นสำคัญ สำหรับปัญหาน้ำท่วมในประเทศยังไม่กระทบการท่องเที่ยวมากนัก เนื่องจากไม่ได้ท่วมในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ด้านการนำเข้าเพิ่มขึ้น 45.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมและอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวดี