xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ ก.ค.พุ่ง 4.08% พาณิชย์มั่นใจทั้งปีคุมอยู่-ยันเป็นที่ 2 ของเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เงินเฟ้อเดือนก.ค.พุ่ง 4.08% หลังราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอาหารขยับขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดรวม 7 เดือนเฉลี่ย 3.64% “ยรรยง”ยังมั่นใจทั้งปีคุมได้ 3.7% เผยเงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชีย ย้ำขึ้นค่าแรง 300 บาทไม่กระทบเงินเฟ้อ เหตุยังไม่รู้ว่าขึ้นเมื่อใด หรือแม้จะขึ้น แต่การขึ้นราคาสินค้าก็ต้องได้รับการพิจารณาก่อน

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ประจำเดือนก.ค.2554 ดัชนีอยู่ที่ 112.74 สูงขึ้น 4.08% เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.2553 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทย เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.2554 สูงขึ้น 0.18% และเฉลี่ย 7 เดือนของปี 2554 (ม.ค.-ก.ค.) สูงขึ้น 3.64% โดยแม้เงินเฟ้อ 7 เดือนจะขยับขึ้นมาใกล้เคียงกับเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ แต่ยังคงยืนยันว่า เงินเฟ้อปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ไม่เกิน 3.7% โดยคาดว่าทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 3.6% เพราะแนวโน้มเงินเฟ้อจะเริ่มลดลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานออกจากการคำนวณ เดือนก.ค.2554 เท่ากับ 106.35 เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.2553 สูงขึ้น 2.59% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.2554 สูงขึ้น 0.08% และเฉลี่ย 7 เดือนสูงขึ้น 2.01%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนก.ค.สูงขึ้น 4.08% เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.2553 เป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 7.17% โดยดัชนีหมวดข้าว แป้ง แลผลิตภัณฑ์ สูงขึ้น 3.32% เนื้อสัตว์ 12.02% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 2.98% ผักและผลไม้ 1.45% เครื่องประกอบอาหาร 12.89% อาหารสำเร็จรูป 8.70% และดัชนีหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 2.21% จากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร 3.73% หมวดเคหสถาน 1.54% การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 0.85% เป็นต้น

“เงินเฟ้อที่สูงขึ้น เป็นเพราะการสูงขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอาหาร โดยเฉพาะราคาอาหารสด เช่น เนื้อหมู ราคาเฉลี่ยในเดือนก.ค. เทียบเดือนมิ.ย. สูงขึ้น 1.99% แต่เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.ปีที่แล้ว สูงขึ้นถึง 16.43% ส่วนกับข้าวสำเร็จรูป เพิ่ม 0.49% เมื่อเทียบมิ.ย. แต่เมื่อเทียบก.ค.2553 สูงถึง 16.04% ส่วนสินค้าอื่นๆ ก็มีทั้งลดลงและเพิ่มขึ้น ที่ลดลงสำคัญๆ เช่น น้ำตาลทราย ไข่ไก่ และไก่เนื้อ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหารชนิดอื่น”นายยรรยงกล่าว

นายยรรยงกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อเงินเฟ้อไทยในปีนี้ ยังคงเป็นราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ไทยใช้เป็นสมมติฐานคำนวณเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือนอยู่ที่ 106.06 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทั้งที่คาดว่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 78-88 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเท่านั้น แต่ยังถือว่าโชคดีที่ขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำราคานำเข้าน้ำมันไม่แพงมาก และยังช่วยให้การนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตเป็นสินค้ามีต้นทุนต่ำลง ซึ่งมีส่วนช่วยชดเชยกันไปได้

อย่างไรก็ตาม แม้หลายฝ่ายจะมองว่า เงินเฟ้อไทยกำลังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถือว่าอัตราดังกล่าวเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทย และยังต่ำเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากมาเลเซียที่เฉลี่ย 6 เดือนสูงขึ้น 3.05% ขณะที่ฟิลิปปินส์สูงขึ้น 4.27% สิงคโปร์ 4.95% จีน 5.40% อินโดนีเซีย 6.36% อินเดีย 8.78% เวียดนาม 16.08%

สำหรับการเงินค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ไม่น่าจะกระทบเงินเฟ้อในขณะนี้ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะปรับขึ้นเมื่อไร อีกทั้งยังต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีอีก ขณะที่ปัญหาเงินทุนที่ไหลเข้ามาในไทยจำนวนมากขณะนี้ ก็ไม่น่าทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เพราะเม็ดเงินดังกล่าวเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ไม่ได้เข้าถึงมือประชาชนโดยตรง อีกทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้คนเอาเงินไปออมมากขึ้นแทนการจับจ่ายใช้สอย เพื่อสกัดเงินเฟ้ออยู่แล้ว ดังนั้น ทั้ง 2 ปัจจัยนี้จึงไม่ใช่เป็นตัวกดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นได้

“ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกว่าสินค้าจะขึ้นราคา แล้วแห่ซื้อมากักตุน เพราะจะยิ่งสร้างความต้องการเทียม และมีโอกาสให้ผู้ผลิตฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาขายได้ แต่กระทรวงจะพยายามดูแลราคาสินค้าให้เป็นธรรมกับทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค”นายยรรยงกล่าว

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้นเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับโครงสร้างต้นทุนของแต่ละสินค้าว่ามีการใช้แรงงานในการผลิตมากน้อยเพียงใด เช่น ยาสีฟัน อาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียง 0.17% ในขณะที่เครื่องแบบนักเรียน อาจเพิ่มถึง 14% แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้นแล้ว กรมฯ จะให้ปรับขึ้นราคาขายได้ทันที กรมฯ ต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบก่อน หากต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่มากก็อาจไม่ให้ปรับขึ้นก็ได้ แต่กรมฯ จะพยายามกำกับดูแลราคาสินค้าให้เป็นไปตามโครงสร้างต้นทุน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการและประชาชนผู้บริโภค
กำลังโหลดความคิดเห็น