xs
xsm
sm
md
lg

ทัวร์ลาว-R3a ยอดนักท่องเที่ยวทะลุล้าน เชื่อสะพานโขง 4 เสร็จการค้าลงทุนบูมอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะของผู้ว่าฯเชียงราย ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามโขงแห่งที่ 4 ในฝั่งสปป.ลาว ที่เริ่มมีการก่อสร้างมาระยะหนึ่งแล้ว
เชียงราย- นักธุรกิจลาวย้ำพร้อมรับสะพานน้ำโขง เผยหลังเส้นทาง R 3 a เสร็จ ทำนักท่องเที่ยวทะลักเข้าลาวผ่านแขวงบ่อแก้วเกินล้านคนแล้ว เชื่อหลังสะพานเสร็จการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวเติบโตอีกมหาศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้นำคณะหัวหน้าส่วนราชการและเอกชนเดินทางข้ามฝั่งโขงที่ อ.เชียงของ ไปยังเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เพื่อพบปะและเจริญสัมพันธไมตรีกับท่านคำมั่น สูนวิเลิด เจ้าแขวงบ่อแก้ว ที่อยู่ติดกับ จ.เชียงราย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งได้รับการต้อนรับจากคณะของแขวงห้วยทรายเป็นอย่างดี และผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ร่วมกับนายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้า จ.เชียงราย ได้เชิญคณะจากแขวงบ่อแก้วได้เข้าร่วมงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 16 ที่จะจัดขึ้น 15-17 ม.ค.นี้ ณ สนามบินฝูงบิน 416 ถนนสนามบิน เทศบาลนครเชียงราย

ในการเดินทางไปครั้งนี้ ท่านคำมั่นได้ให้คณะฝ่ายไทยเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้วและโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมบ้านดอน เมืองห้วยทราย-บ้านทุ่งงิ้ว ต.สถาน อ.เชียงของ ซึ่งคณะของผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้พบกับคณะวิศวกรชาวจีนของบริษัท CR5-KT (China Raiway No.5 Engineering Group) จำกัด ที่ได้นำเครื่องจักรอุปกรณ์และแรงงานเริ่มก่อสร้างโครงสร้างของสะพาน อย่างไรก็ตามในฝั่ง สปป.ลาว ยังไม่มีการก่อสร้างถนนเชื่อมสะพานเข้ากับเส้นทาง R3a ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้

ขณะที่ฝั่งไทย บริษัทกรุงธนเอ็นจิเนียร์ริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนที่ร่วมทุนกับบริษัท CR5-KT ในการก่อสร้างสะพาน ถนนและอาคารที่เกี่ยวข้อง ได้ก่อสร้างถนนแยกจากถนนสายเทิง-เชียงของ ไปจนถึงหมู่บ้านทุ่งงิ้วอย่างคึกคักเช่นกัน

นอกจากนี้ คณะยังได้เยี่ยมชมโครงการนาคราชนคร ซึ่งเป็นการลงทุนของเอกชนไทยนำโดยบริษัทเอเอซี กรีน ซิตี้ ลาว จำกัด ร่วมทุนกับเกาหลีใต้ พัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว สินค้าปลอดภาษี โรงแรม การเกษตร ฯลฯ ครบวงจร บนเนื้อที่ 1,200 ไร่ ภายใต้สัญญาสัมปทานกับรัฐบาล สปป.ลาว 40 ปีและต่อได้อีก 40 ปี แต่การก่อสร้างสะพานได้ออกแบบถนนให้ตัดผ่านโครงการกว่า 120 ไร่ ซึ่งคณะได้รับทราบจากโครงการนาคราชนครว่าปัจจุบันได้มีการปรับตัวด้วยการปรับแบบเพื่อให้เหมาะสมกับถนนที่จะตัดผ่านแล้ว

ด้านท่านสุพอน ปันยาดา ประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแขวงบ่อแก้ว ซึ่งเป็นนักธุรกิจด้านการสื่อสารในแขวงบ่อแก้ว กล่าวว่า อดีตที่ผ่านมาการค้าชายแดนด้านห้วยทราย-เชียงของ เป็นการค้าเกี่ยวกับการเกษตรเป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีอัตราการขยายตัวมากขึ้น และเชื่อว่าเมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งนี้แล้วเสร็จจะทำให้การค้าและการท่องเที่ยวขยายตัวอีกมาก

ในส่วนของฝ่าย สปป.ลาว ก็ได้มีการรองรับด้วยการพัฒนาจุดผ่านสินค้าให้สะดวกและรวดเร็วหรือ Single Window รวมทั้งระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากสะพานแห่งนี้คงจะทำให้เกิดการค้าระหว่างไทย-จีน มากขึ้นในส่วนของ สปป.ลาว คงจะได้ประโยชน์ด้านค่าผ่านทาง ภาษีและการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ท่านสุพอน กล่าวอีกว่า แม้ว่าการคมนาคมจะสะดวกขึ้นและในปัจจุบันมีการค้าเสรีโดยปลอดอัตราภาษีสินค้ากันมากขึ้น แต่สำหรับ สปป.ลาว ถือว่ายังไม่ได้เข้าร่วมกับเขตเสรีอาเซียนหรือ AFTA อย่างเต็มตัวจนกว่าจะถึงปี 2557 ดังนั้นหากสะพานก่อสร้างเสร็จในปี 2555 สปป.ลาว ก็คงจะมีการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายลาวและข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ตามขั้นตอน แต่สิ่งที่จะได้รับประโยชน์อย่างทันทีคือเรื่องการท่องเที่ยว หลังจากที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวผ่าน R3a และแม่น้ำโขงไปเยือนแขวงบ่อแก้วเกือบ 1 ล้านคนแล้ว

"ด้านการลงทุนส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มทุนจีน ที่เข้าไปลงทุนในแขวงบ่อแก้วมากกว่ากลุ่มทุนใดๆ รวมทั้งกลุ่มทุนไทย ทั้งโรงแรม ขนส่งสินค้า และด้านการขนส่งสินค้าก็เห็นว่าหลังสะพานก่อสร้างแล้วเสร็จก็คงจะใช้ระบบลอจิสติกส์เดิมคือมีการเปลี่ยนถ่านหัวลากกันที่บ้านนาเตย แขวงหลวงน้ำทา ชายแดน สปป.ลาว-จีนตอนใต้ เพราะรถขนส่งของไทยและจีนบนถนน R3a ไม่เหมือนกัน มีพวงมาลัยและการขับขี่แตกต่างกัน"

ท่านสุพอน กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในอนาคตก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตั้งจุดเปลี่ยนหัวลากที่เมืองห้วยทรายได้ เพราะเมื่อเกิดความแตกต่างกันดังกล่าวทำให้รถบรรทุกจากประเทศไทยประสบปัญหาการขนส่งบนถนน R3a ในเขต สปป.ลาว เพราะขับขี่คนละช่องทางกัน ขณะที่ของฝ่าย สปป.ลาว และจีนขับขี่ช่องทางเดียวกัน จึงทำให้ที่ผ่านมาเคยเกิดอุบัติเหตุบนถนนสายนี้มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งหากมีจุดเปลี่ยนหัวลากที่ห้วยทรายก็จะแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ได้

ท่านสุพอน กล่าวด้วยว่า สำหรับธุรกิจที่จะตามมาจากการก่อสร้างสะพาน คือ ขณะนี้ตนกำลังเจรจาในการเชื่อมสายเคเบิลไฟเบอร์ออฟติกมาจากฝั่งไทย โดยระบบดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้พร้อมๆ กับสะพานที่มีโครงสร้างให้สามารถเชื่อมต่อสายดังกล่าวได้อยู่แล้ว เพื่อให้สามารถใช้การสื่อสารในฝั่ง สปป.ลาว ได้ทั้งระบบดีแทค เอไอเอส หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งแม้ว่าในฝั่ง สปป.ลาว จะใช้การสื่อสารระบบ 3จี ไปแล้วแต่หากเข้าสู่จุดอับบางจุดก็จะได้ใช้ระบบ 2จีที่ใช้ในฝั่งไทยทดแทนได้ เพื่อให้ลูกค้าได้รับการอำนวยความสะดวกมากที่สุดต่อไป

สำหรับสะพานข้ามแม่น้ำโขงดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือของรัฐบาลไทย-สปป.ลาว-จีน เพื่อเชื่อมแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ โดยมีมูลค่าการก่อสร้างรวม 44,815,322.13 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าจ้างที่ปรึกษารวม 2,540,366.10 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,400 ล้านบาทโดยรัฐบาลไทยและจีนเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายประเทศละ 50% กำหนดเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.2553 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 10 ธ.ค.2555 ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น