xs
xsm
sm
md
lg

“สวนยาง”เบ่งบานทั่วเหนือ-อีสาน เปลี่ยนวิถีชาวบ้านยันการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชลสิทธิ์ บุญเทียม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพบ้านภูกะแต กำลังใส่ปุ๋ยต้นยาง
นครพนม – สวนยางพาราเริ่มส่งผลต่อวิถีเกษตรกรทั้งเหนือ-อีสาน หลังตัดสินใจลงทุนกันเอง ผนวกกับรัฐจัดให้ ตั้งแต่ร่วม 10 ปีก่อน วันนี้เริ่มให้ดอกผล คาดอีก 3 ปี เฉพาะอีสาน เปิดกรีดได้ล้านไร่ แถมมีสิทธิ์กลายเป็นประเด็นที่จะส่งผลต่อการเมืองในอนาคต รมต.ภูมิใจไทย เร่ขายฝันดันฐานเสียงใหญ่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม“ยางอินโดจีน”

เมื่อร่วม 10 กว่าปีก่อน เกษตรกรหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ – อีสาน ทยอยเปลี่ยนวิถีจากปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ พืชเกษตรที่เขาเคยปลูก และเคยออกมาประท้วงเรียกร้องให้รัฐพยุงราคา รับจำนำเป็นประจำ หันมาลงทุนปลูกยางพารากันมากขึ้น

วันนี้..พวกเขาเริ่มเก็บเกี่ยวผลกำไรที่ได้ลงทุนลงแรงกันแล้ว ทำนองเดียวกัน “ยางพารา” ก็กำลังก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นกัน

นายชลสิทธิ์ บุญเทียม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพบ้านภูกะแต อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม บอกกับ “ASTVผู้จัดการ” ขณะกำลังนำปุ๋ยหมักชีวภาพที่ตั้งกลุ่มทำกันเองภายในชุมชน ใส่สวนยางของเขา ว่า ที่บ้านภูกะแต หันมาปลูกยางพาราตั้งแต่ปี 44 เริ่มต้นที่ 17 รายหรือ 17 ครอบครัว ก่อนจะเริ่มปลูกมากขึ้นเรื่อยๆปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยางรวม 1,000 ไร่ ขณะนี้เริ่มกรีดได้แล้ว โดยจะนำไปจำหน่ายที่ตลาดยางลุ่มน้ำโขงท่าอุเทน ซึ่งได้ราคาดีมากระดับหนึ่ง ตกแผ่นละ 80-90 บาท เฉลี่ยได้เงินวันละ 3,000-4,000 บาท

“แม้ราคายางตกลงมาที่ 60 บาท ก็อยู่ได้ เพราะต้นทุนเราไม่สูง”

เขาบอกว่า ก่อนหน้านี้เขามีที่ว่างเปล่าซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาแต่รุนพ่อรุ่นแม่ มีคนแนะนำให้ปลูกยางเพราะให้ผลตอบแทนดีกว่าปลูกอย่างอื่น ก็เลยตัดสินใจลงทุนซื้อเบี้ยยางเบี้ยละ 10-20 บาท ลงทุนปลูกไม่กี่หมื่นบาท สวนยางของตนมีประมาณ 500 ต้น

กระทั่งในปี 2549 เริ่มมีปัญหาเศรษฐกิจ น้ำมันแพง ต้นทุนในการปลูกยางสูงขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยมีราคาแพงและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆจากเดิมกระสอบละ 600 บาท ขยับขึ้นเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้กระสอบละ 1,220 บาท พวกเขาจึงหาทางออกรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยการรวมตัวกันประมาณ 17 คน ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพขึ้นใช้เองแทน โดยลงทุนกันเอง ต่อมาได้กู้เงินจากธนาคาร SMEs 3 หมื่นบาท อบต.นาคำ สนับสนุน 4 หมื่นบาท ล่าสุดทางจังหวัดให้งบ(โครงการอยู่ดีมีสุข) 1.1 แสนบาท ทำให้กลุ่มมีเงินทุนในการผลิตปุ๋ยมากขึ้น และสมาชิกก็เพิ่มขึ้นเป็น 39 คนแล้ว

สมาชิกในกลุ่มจะ “ลงแขก”กันผลิต ทั้งน้ำหมักชีวภาพขึ้นเองแล้วซื้อกากน้ำตาล-ผัก-หอยเชอรี่-ขี้วัว-แกลบดำ-แกลบขาว-ขี้อ้อย สาร พด.2-รำอ่อน ผสมหมักตามขั้นตอน ใช้ทุนทำปุ๋ยหมักครั้งละ 2 หมื่นบาทจะผลิตปุ๋ยได้จำนวน 12 ตัน หมักปุ๋ย 45 วัน ก็ขายให้สมาชิกในราคาต้นทุนกิโลกรัมละ 2 บาท ตกกระสอบละ 100 บาท

ปุ๋ยชีวภาพ ที่ผลิตได้ สามารถนำไปใส่ต้นยางได้ทันที ส่วนเงินรายได้ก็เก็บไว้เป็นทุนซื้อวัตถุดิบมาทำปุ๋ยครั้งต่อไป ทั้งขี้อ้อยซื้อจากโรงงานน้ำตาลที่มุกดาหาร 1 รถพ่วงราคา 13,000 บาท แกลบดำจากโรงสี 1 รถหกล้อ 2,000 บาท ขี้วัวกระสอบละ 25 บาท

“แต่ก่อนผมใช้ปุ๋ยเคมี ต้องใช้เงินซื้อปุ๋ยมาใส่ยางเฉลี่ยปีละ 5 หมื่นบาท ตอนนี้ใช้แค่ 2 หมื่นบาทเท่านั้น”
ไม่เพียงแต่ที่บ้าน “ภูกะแต อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เท่านั้น ที่ “ยางพารา” กำลังทวีบทบาทต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านมากขึ้น แต่ยังหมายรวมถึงภาคอีสานอีกหลากหลายจังหวัด และภาคเหนือทั้งที่เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน พิษณุโลก ฯลฯ ที่พื้นที่ไร่ นา ป่า กำลังถูกเปลี่ยนเป็นสวนยางมากขึ้น

ฝันดันนครพนมศูนย์กลางอุตฯยางพาราอินโดจีน

นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.กระทรวงเกษตรฯกล่าวในวงเสวนา “อนาคตยางพาราอีสานก้าวสู่ศูนย์กลางอินโดจีน”ในงานวันเกษตรลุ่มน้ำโขงที่จังหวัดนครพนมเมื่อเร็วๆนี้ว่า มีเกษตรกรในอีสานปลูกยางพารามาตั้งแต่ปี 32 จนกระทั่งในปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯร่วมกับสำนักงานกองทุนสวนยาง(สกย.) ส่งเสริมปลูกยางพาราในภาคอีสาน 1 ล้านไร่บวกกับเกษตรกรที่สนใจปลูกเองรวมกันแล้วประมาณ 2 ล้านไร่ และเปิดกรีดไปแล้ว 6 แสนไร่ มีผลผลิตน้ำยางออกสู่ตลาดประมาณ 1.2 แสนตัน อีก 3 ปีข้างหน้าจะมีพื้นที่เปิดกรีดไม่ต่ำกว่า 1 ล้านไร่ จะมีน้ำยาง ออกสู่ตลาดมากถึง 2-3 แสนตัน

“ที่กังวลกันว่า อนาคตน้ำยางจะล้นตลาด ไม่น่าห่วง” นายศุภชัย กล่าวย้ำ

เขายืนยันว่า แม้ว่า 3 ปีมานี้จะมีการส่งเสริมการปลูกยางกันมากในลาว เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งจะกรีดได้ใน 3-4 ปีข้างหน้าก็ตาม แต่พื้นที่ปลูกในภาคใต้ของไทย มาเลเซีย อินโดนิเซีย ก็ลดลง นอกจากนี้ตลาดใหญ่ที่สุดคือ จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศในยุโรป อเมริกา ยังต้องการอีกมาก

รมช.เกษตร มองว่า เป้าหมายใหญ่ที่สุด-ใกล้ที่สุด ของยางพาราในภาคอีสาน คือ ตลาดจีน ถ้าเราขนผ่านถนน R9 ผ่านทางนครพนมขึ้นไปก็มีระยะทางแค่ 1,000 กว่า กม. ซึ่งสอดคล้องกับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามโขงที่คืบหน้าไปแล้ว 40% รวมทั้งโครงการรถไฟสายบัวใหญ่-นครพนม ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบไปแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลลาว ก็ได้เห็นชอบที่จะให้ทางรถไฟผ่านสะพานข้ามโขงนครพนม เข้าลาวที่แขวงคำม่วนฯ

“ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้นครพนมเป็นศูนย์กลางยางพาราสู่อินโดจีน ยางอีสานทั้งหมดจะผ่านนครพนมเข้าลาวไปจีน”
นายหลักชัย กิตติพล กรรมการใหญ่บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด(มหาชน)เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าไปลงทุนปลูกยางพาราใน สปป.ลาว เป็นบริษัทไทยรายแรก ตั้งแต่ปี 2549 โดยร่วมทุนกับนักธุรกิจลาวตั้งบริษัทลาวไทยฮั้วยางพารา จำกัด สัดส่วนการลงทุน 51 ต่อ 49 ปลูกยางพารา 2 แสนไร่ระยะเวลา 5 ปี 49-53 ปลูกแล้วกว่า 1 แสนไร่ในปี 2553 น่าจะครบ 2 แสนไร่ ภายใต้สัญญาเช่า 40 ปี ต่ออายุได้อีก 40 ปี นอกจากนั้นบริษัทยังได้เข้าไปทำคอนแทร็กฟาร์มมิ่งกับเกษตรกรลาวอีก 1 แสนไร่ รวมพื้นที่ปลูกยางของบริษัทในลาวรวม 3 แสนไร่กระจายอยู่ในหลายแขวง ในอนาคตทางบริษัทจะตั้งโรงงานผลิตขึ้นมารองรับ 2-3 โรง ภายหลังต้นยางกรีดแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น