xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ไม่หวั่นถูกหักหลัง ยันสูตร375+125ไม่มีใครเสียเปรียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีมีข่าวว่าพรรคเพื่อไทย เตรียมจับมือพรรคร่วมรัฐบาล ในการที่จะแปรญัตติเรื่องการแก้ไข รัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการกลับไปใช้จำนวนส.ส.ตามเดิม คือส.ส.เขต 400 คน และส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ว่าเรื่องที่เป็นข่าวไม่มีอะไรหนักใจ ทุกอย่างว่าไปตามกฎเกณฑ์กติกา และตนคงไม่คาดการณ์อะไรในทางที่เป็นปัญหา หน้าที่ของ ตนคือ การคาดการณ์อะไรในทางที่คิดว่าจะเรียบร้อย พยายามจะทำให้เรียบร้อย
ส่วนการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ตนก็ยังมีความมั่นใจว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เป็นประธาน จะผ่านการพิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างที่เคยกล่าวไว้
ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงวิจารณ์ว่า การใช้สูตรสัดส่วนจำนวน ส.ส.ในระบบเลือกตั้งส.ส.เขต 375 คน และส.ส.สัดส่วน 125 คน จะทำให้ลดจำนวน ส.ส.ระบบเขตลงถึง 25 คนใน 24 จังหวัด ว่า เรื่องนี้ไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง เพราะการลดจำนวนส.ส.เขตลง 24 คน ก็กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศตามสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกัน
การกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ประโยชน์เพราะในภาคใต้ มีการลดจำนวน ส.ส.เพียง 4 คนนั้น ก็ไม่เป็นความจริง ถ้าดูตัวเลขจำนวนส.ส.แต่ละภาค กับจำนวนเขตที่ลดลงโดยสัดส่วนแล้วมีความใกล้เคียงกัน เช่น พื่นที่กทม. มีส.ส. 36 คน ลดลง 2 คน ภาคเหนือมีส.ส. 76 คน ลดลง 7 คน ภาคอีสานมีส.ส. 136 คน ลดลง 9 คน ภาคใต้มีส.ส. 50 คน ลดลง 4 คน เมื่อดูตัวเลขแล้วก็ไม่มีพรรคใดได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร
ส่วนที่พรรคเพื่อไทย ออกมาผสมโรงว่าจะกลับลำโหวตหนุนรูปแบบ 400 ส.ส.เขต และ100 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์นั้น ก็เป็นเรื่องของเกมการเมืองที่ยุยงให้เกิดความแตกแยกระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทยไม่ได้เข้าร่วมการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้ลงมติรับหลักการในวาระแรก ไม่ร่วมเป็นกรรมาธิการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 และระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ได้เชิญหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มาแสดงความคิดเห็น ก็ไมได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด แต่วันนี้ยังมีหน้ามาประกาศว่าไม่วอล์กเอาต์ ในวาระที่ 2 และ 3 พร้อมกับจะยกมือหนุนสูตรดังกล่าวด้วย แต่ในขณะเดียวกันโฆษกพรรคเพื่อไทย กลับประกาศว่า จะไม่ร่วมสังฆกรรม และไม่ออกเสียงในวาระที่ 2และ 3 ไม่ว่าเรื่องที่มาของ ส.ส.จะเป็นอย่างไร จึงขอถามถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยว่า จะเอาอย่างไรกันแน่ คนที่ออกมาแสดงความเห็นเหล่านี้ยังเป็นคนของพรรคเพื่อไทย สังกัดพรรคเดียวกันหรือไม่ หรืออยู่คนละกลุ่มกัน หากเป็นคนพรรคเดียวกันแล้วคิดกระจัดกระจายตาม กลุ่มใคร กลุ่มมัน เช่นนี้ ก็ควรเปลี่ยนชื่อพรรคใหม่ว่า พรรคจับฉ่าย จะดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น