ASTVผู้จัดการรายวัน- ม็อบแดงเผาเศรษฐกิจไทยวอด คาดชุมนุมยืด 1 เดือน เจ๊งยับ 3.8 หมื่นล้าน ท่องเที่ยว การลงทุน การบริโภคหดหาย โพลล์หนุน 2 ฝ่ายเจรจาหย่าศึกมากกว่ายุบสภา หรือสลายชุมนุม ห่วงม็อบยืดเกิน 3 เดือน จะเจ๊งเป็นแสนล้าน จีดีพีหด 0.5%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจากปัจจัยเสี่ยงว่า ขณะนี้ปัญหาการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุด โดยเฉพาะการชุมนุมของคนเสื้อแดง ที่คาดว่าโอกาสยืดเยื้อถึง 1 เดือนจะเกิดได้มากสุด ซึ่งจะสร้างความเสียงหายต่อระบบเศรษฐกิจ 21,000-38,000 ล้านบาท แยกเป็นผลกระทบต่อการท่องเที่ยว 10,000-20,000 ล้านบาท การลงทุน 1,000-2,000 ล้านบาท การบริโภคภาคประชาชน 10,000-16,000 ล้านบาท และกระทบต่อการขยายตัวของจีดีพี 0.1-0.2% ทำให้จีดีพีปี 2553 เติบโตเหลือ 3.3-3.8%
ทั้งนี้ หากการชุมนุมยืดเยื้อต่อถึง 3 เดือน จะสร้างความเสียงหายต่อระบบเศรษฐกิจเพิ่มเป็น 70,000-100,000 ล้านบาท แยกเป็นผลกระทบต่อการท่องเที่ยว 40,000-50,000 ล้านบาท การลงทุน 10,000-20,000 ล้านบาท การบริโภคภาคประชาชน 20,000-30,000 ล้านบาท และกระทบต่อการขยายตัวของจีดีพี 0.3-0.5% ทำให้จีดีพีปีนี้เติบโตเหลือ 3-3.5% แต่ถ้าการชุมนุมยุติภายในเร็ววัน หรือไม่เกิน 10 วัน จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจแค่ 7,500-14,000 ล้านบาท และไม่กระทบต่อจีดีพี 3.5-4.0% แต่เชื่อโอกาสคงเกิดขึ้นน้อย
“ การชุมนุมที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจบริการ และการท่องเที่ยวมากสุด โดยตอนนี้การท่องเที่ยวลดลงไปแล้ว 15% จากการหายไปของนักท่องเที่ยวเอเชีย 20% และยุโรป 5% ทำให้เม็ดเงินเข้าประเทศหายไปวันละ 200-500 ล้านบาท ส่วนการบริโภคการจับจ่ายใช้สอยลดลงไปราว 10% หรือหายไปวันละ 500-800 ล้านบาท และอาจกระทบต่อเนื่องถึงความเชื่อมั่นการทำธุรกิจ ภาคการผลิตและการจ้างงาน ” นายธนวรรธน์กล่าวและว่า
ปัจจุบันภาคธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการเมืองสูงสุด รองลงมาคือราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ ซึ่งหากยังอยู่ในระดับเฉลี่ยไม่เกิน 31 บาทต่อลิตร ผู้ประกอบการยังสามารถรับได้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่กระทบต่อธุรกิจ เพราะยังเชื่อมั่นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สามารถบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนได้
ส่วนแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการยุบสภา เห็นว่าไม่น่าใช่ทางออกในตอนนี้ เพราะสถานการณ์ยังไม่ได้รุนแรง หรือเกิดเงื่อนไขที่กระทบต่อการบริหารประเทศ เวลานี้รัฐบาลยังสามารถเดินหน้าบริหารงานต่อไปได้ อีกทั้งหากเปลี่ยนรัฐบาลจะกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจทันที และกระทบต่อการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการไทยเข้มแข็งและโครงการมาบตาพุดที่กำลังเร่งแก้ไขอยู่
นางยาใจ ชูวิชา ประธานคณะกรรมการจัดทำการสำรวจความคิดเห็นประเด็นธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากความขัดแย้งและชุมนุมทางการเมืองยังมีต่อเนื่องไปอีก 1-3 เดือน จะมีภาคธุรกิจถึง 44.64% ที่ได้รับผลกระทบมาก รองลงมา 27.68% ได้รับผลกระทบปานกลาง อีก 16.96% ได้รับผลกระทบน้อย และมีเพียง 10.71% ที่ไม่ได้รับผลกระทบ
สำหรับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดถึง คือ ภาคบริการและการท่องเที่ยว 51.6% รองลงมาเป็นภาคการค้าส่งค้าปลีก 33.3% และภาคการเกษตร 25% แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังยืนยันเดินหน้าทำธุรกิจเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแผนกลางคันทั้งการลงทุน ขยายตลาด และขอสินเชื่อขยายการลงทุน เพราะเชื่อว่าต้นทุนประกอบการยังไม่เพิ่มขึ้น และไม่ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้นตลอดจนไม่เกิดผลต่อการส่งออกไปต่างประเทศ เนื่องจากการชุมนุมครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อระบบการขนส่งสินค้าไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ทางน้ำ หรือทางบก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ 63.7% ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยเห็นควรเร่งเจรจากันเพื่อหาข้อยุติโดยเร็ว รองลงมา 25.4% เห็นว่าไม่ควรใช้ความรุนแรงระหว่างการชุมนุม ส่วน 5.2% ระบุว่าให้นึกถึงประโยชน์ของประเทศก่อนประโยชน์ส่วนตน และอีก 5.7% เสนอแนะทางออกอื่น เช่น การยุบสภา และยกเลิกการชุมนุม
ส่วนปัจจัยอื่นที่กระทบต่อเศรษฐกิจนอกเหนือจากเรื่องการเมือง อับดับแรกราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่แสดงความกังวลและต้องการให้รัฐดูแลราคาขายปลีกดีเซลที่ไม่เกิน 30.10 บาทต่อลิตร รวมถึงปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุน ปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น