xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.จ่อขยับดอกเบี้ย จับตาปัจจัยเสี่ยง การเมืองป่วน-มาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - ธปท.ส่งสัญญาณชัดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประชุมครั้งหน้าวันที่ 21 เม.ย.นี้ แบบค่อยเป็นค่อยไป จากความเสี่ยงโดยรวมลดลง ส่วนการประชุมวานนี้มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.25% ระบุยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยการเมือง ปัญหามาบตาพุด อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูง รวมถึงความเสี่ยงต่างประเทศจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก รอดูสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงตัวเลขเศรษฐกิจเพิ่มเติม

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เมื่อวานนี้( 10มี.ค.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.25%ต่อปี ตามที่ตลาดคาดการณ์ เนื่องจากขณะนี้ปัจจัยเสี่ยงโดยรวมเริ่มลดลงเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ทั้งปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ จึงรอดูผลความชัดเจนก่อน รวมทั้งดูการเปลี่ยนแปลงตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญเพิ่มเติมอีกระยะหนึ่ง

"การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ยังคงให้ความสำคัญในการดูแลเสถียรภาพด้านราคามาอันดับแรกและมากกว่าการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ และสุดท้ายก็ต้องชั่งน้ำหนักจังหวะเวลาให้เหมาะสมด้วย ฉะนั้น หากไม่มีเหตุการณ์ใดที่กระทบเศรษฐกิจรุนแรงและการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญก็มีโอกาสสูงที่กนง.จะค่อยๆ ทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นในการประชุมครั้งหน้า คือ วันที่ 21 เม.ย.นี้"ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากในประเทศทั้งความไม่มีเสถียรภาพการเมืองและความไม่ชัดเจนของโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งอาจมีข้อจำกัดต่อการลงทุนในระยะต่อไปได้ อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไปจากราคาน้ำมันสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบรอบ 2 และรอบ3 ได้ และการขยายตัวของเศรษฐกิจเห็นได้จากไตรมาส 4 ที่ดีกว่าตลาดคาดการณ์ จึงมองว่าแรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีอยู่ทั้งในปีนี้และปีหน้า

ขณะเดียวกัน แม้ความเสี่ยงของการขยายเศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้นมากจนเห็นบางประเทศเริ่มลดการผ่อนคลายการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ทั้งจากอัตราการว่างงานที่สูง ปัญหาสถาบันการเงินที่ยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์นัก รวมถึงปัญหาหนี้ภาครัฐในบางประเทศที่อาจจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้

สำหรับกรณีที่ธนาคารกลางมาเลเซียมีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า บางประเทศที่เริ่มปรับนโยบายการเงินแล้วก็เป็นแค่ปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่านโยบายการเงินจะเป็นแนวทางที่เข้มงวดขึ้น แต่อาจเป็นการผ่อนคลายน้อยลงไปจากอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษอาจจะกลายเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำน้อยลงไปมากกว่า

แม้ในต่างประเทศจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบ้างแล้ว ประกอบกับไทยมีปัญหาการเมืองภายในประเทศก็ยังไม่พบมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนไหลเข้าออกผิดปกติ ซึ่งธปท.เองก็มีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด จึงไม่ห่วงอะไรเป็นพิเศษ

ส่วนประเด็นที่มีการส่งทีมงานไปสำรวจในพื้นที่ต่างๆ แล้วนำรายงานมาเสนอกนง. พบว่า ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของไทยขณะนี้ ทำให้ผลผลิตเกษตรในปีนี้ลดลงบ้าง แต่ในทางตรงข้ามอาจทำให้ราคาพืชผลมีราคาสูงขึ้น ฉะนั้นปัญหาภัยแล้งมีผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจไม่มากนัก แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องระมัดระวัง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต่างๆ ยืนยันภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นและกระจายไปในหลายสาขา โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี แต่ธุรกิจที่ใช้แรงงานสูงไม่ได้ขยายตัวมากนัก

อย่างไรก็ตาม แม้โครงสร้างนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป คือ นักท่องเที่ยวเอเชียเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากกว่าเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวแถบยุโรป ซึ่งนักท่องเที่ยวเอเชียส่วนใหญ่มีความอ่อนไหวเรื่องความไม่สงบ จึงต้องติดตามดูต่อไป ฉะนั้น หากปัญหาการเมืองยืดเยื้อก็อาจกระทบเศรษฐกิจภาพรวมบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น