xs
xsm
sm
md
lg

“จิ่งหง”ดึง 6 เมืองลุ่มโขงตอนบนทำMOU วางกรอบเร่งลดปัญหาคน-สินค้าผ่านแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมเกียรติ ชื่นธีระวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย และนายกสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย(คนขวา)
เชียงราย – จีน เล่นบทพี่ใหญ่ ดึง 6 หัวเมืองลุ่มน้ำโขงตอนบน ร่วมทำเอ็มโอยู พัฒนาเศรษฐกิจการค้าร่วมกันที่จิ่งหง 24 มีนาฯนี้ วางกรอบเบื้องต้นกระตุ้นการเดินทางทั้งคน-สินค้าผ่านเส้นทาง R3 ก่อนขยายความร่วมมือผ่านพม่าตอนเหนือ – เดียนเบียนฟูต่อ

นายสมเกียรติ ชื่นธีระวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย และนายกสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย เปิดเผย "ASTVผู้จัดการ" ว่า หลังจากทางการเมืองเชียงรุ่งหรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เคยเดินทางมาลงนามข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวกับสมาคมท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ ไปเมื่อเร็วๆ นี้แล้วนั้น

ล่าสุดในวันนี้(24 มี.ค.) ทางเมืองเชียงรุ่งมีกำหนดลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู )ในลักษณะเดียวกันอีกครั้ง แต่จะทำครั้งเดียว 6 เมืองลุ่มแม่น้ำโขงไปพร้อมๆ กัน โดยประกอบไปด้วยเมืองเชียงรุ่ง (จีน) เมืองเชียงรายและเชียงใหม่ (ไทย) เมืองห้วยทราย เมืองหลวงน้ำทาและเมืองหลวงพระบาง (สปป.ลาว) ณ เมืองเชียงรุ่ง

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ฝ่ายไทยที่จะเดินทางไปร่วมลงนามจะนำโดยนายสุรชัย ลิ้นทอง รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์จังหวัด และตนเอง

สำหรับเนื้อหาของเอ็มโอยูมีเนื้อหาคล้ายกับที่จีนเคยลงนามร่วมกับ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ แต่จะมีความละเอียดกว่าและมุ่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคพร้อมกัน ทั้งทางด้านภาคการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน

เบื้องต้น เอ็มโอยูจะมุ่งให้เกิดผลสำเร็จบนเส้นทาง R3a เชื่อมไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ก่อน เพื่อลดอุปสรรคทั้งด้านการเข้าออกเมืองของนักท่องเที่ยวทุกชาติ การใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าที่ต้องผ่านแดนตามถนน "คุน-มั่น กงลู่" หรือคุนหมิง-กรุงเทพฯ หรือแม้กระทั่งเรื่องกำแพงภาษี ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่แม้จะเข้าสู่ยุคเอฟทีเอจีน-อาเซียน แล้วก็ตาม ฯลฯ

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่าตนเห็นว่ารายละเอียดของการลงนามในเอ็มโอยูทั้ง 6 เมืองดังกล่าวครอบคลุมประเด็นปัญหาและการพัฒนาทั้งภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมดมากกว่า เอ็มโอยูที่เคยทำกับเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาไปเมื่อเร็วๆ นี้เสียอีก เพราะครอบคลุมพื้นที่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดแนวเส้นทางคมนาคมตั้งแต่จีนตอนใต้ถึงภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะบนถนน R3a ซึ่งมีบทบาทในการค้าและการท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาไม่มีช่องทางหรือเจ้าภาพในการพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกันอย่างชัดเจน

“การดึงทั้ง 6 เมืองที่เกี่ยวข้องเข้ามาลงนามร่วมกัน จึงจะทำให้เกิดการพัฒนาและดึงดูดการลงทุนไปสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนนี้ได้เป็นมูลค่ามหาศาล”

นายสมเกียรติ บอกว่า เอ็มโอยูครั้งนี้เป็นการนำร่องเท่านั้น เชื่อว่าหลังจากนี้จีนคงจะมุ่งไปลงทางถนน R3b เชื่อมจีนตอนใต้-พม่า-ไทย โดยอาจจะเชิญเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาลงนามกันอีก เช่น เชียงรุ่ง (จีน) เมืองลา เชียงตุงและท่าขี้เหล็ก (พม่า) เชียงรายและเชียงใหม่ (ไทย) ซึ่งจะทำให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวเป็นวงกลมในภูมิภาคนี้พอดี จากนั้นคงจะขยายต่อไปยังเวียดนาม เช่น เดียนเบียนฟู ฮานอย ฯลฯ อันจะทำให้อนุภูมิภาคนี้กลายเป็นเสมือนทวีปยุโรปหรืออียูที่เชื่อมโยงกันทั่วทวีปต่อไป

เขาบอกอีกว่า เชื่อว่าการพัฒนาและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการค้าและการท่องเที่ยวซึ่งพวกเราพบเห็นกันมาโดยตลอด จะคืบหน้า เพราะในครั้งนี้ประเทศจีนวางตัวเป็นเจ้าภาพหลักในการดึงตัวแทนจากเมืองต่าง ๆ ลุ่มน้ำโขงเข้ามาร่วม

โดยเฉพาะ จ.เชียงราย คงจะได้รับประโยชน์มหาศาล เพราะเป็นเมืองหน้าด่านของประเทศไทย ซึ่งกำลังจะมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมกับเมืองห้วยทราย-R3a นอกจากนี้ที่ผ่านมาพบว่า มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาเยือนมณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ ปีละกว่า 25 ล้านคน และมาเยือนสิบสองปันนาปีละกว่า 5-6 ล้านคน ส่วนใหญ่ต้องการเดินทางลงสู่ประเทศไทยต่อไปด้วย ซึ่งถนน R3a หรือ R3b ในอนาคตซึ่งจะผ่าน จ.เชียงราย ก็ถือเป็นเป้าหมายหลักของการเดินทางด้วย

ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย และนายกสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับกรณีการผลักดันเส้นทางการบินระหว่างท่าอากาศยานเชียงรายกับสนามบินนานาชาติสิบสองปันนา ซึ่งจะเริ่มบินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไปนั้น ก็ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางที่จะได้รับประโยชน์จากการลงนามเอ็มโอยูในครั้งนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น