xs
xsm
sm
md
lg

รอยสักสุวรรณภูมิ (2)

เผยแพร่:   โดย: ชัยสิริ สมุทวณิช


ยุควัฒนธรรม พาซิริค (Pazyryk Culture) ถอยกลับไปปี พ.ศ. 2491 ได้มีการขุดพบหลุมศพกลุ่มหนึ่งห่างจากชายแดนรัสเซียจีนไปทางเหนือราว 200 กิโลเมตรเศษ ในเทือกเขาอัลไต ตอนใต้ของไซบีเรีย โดยคณะสำรวจชาวรัสเซียนำทีมโดย เซอร์จี รุเดนโค ซากมัมมี่ที่พบมีอายุกว่า 2,400 ปีมาแล้ว

รอยสักที่ปรากฏเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย เช่น กริฟฟิน และสัตว์ประหลาดอันน่าเชื่อได้ว่าอาจเป็นด้วยความเชื่อในด้านเวทมนตร์ แม้สัตว์บางตัวอาจจะเป็นเพื่อความสวยงามเท่านั้น

ยุคอารยธรรมอียิปต์ ในช่วงแรกๆ นักโบราณคดีอียิปต์ไม่ค่อยได้เอาใจใส่ในรอยสักมากนัก

แต่ในปัจจุบันเป็นที่ทราบแน่ชัดแล้วว่า ซากมัมมี่ที่ขุดพบมีรอยสักสามารถถอยหลังไปถึงยุคต้นๆ ของราชวงศ์ที่ 11 รูปแบบรอยสักเป็นลายเส้นและจุด เนื่องจากพบรอยสักประเภทนี้บนผิวหนังของนักบวชหญิง ลวดลายดังกล่าวคงจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางความเชื่อสมัยนั้น

แอฟริกา
ชาวแอฟริกันแทบจะไม่ได้ใช้เทคนิคการสักอย่างชาวบ้านเขาเลยเพราะสักยังไงก็มองไม่เห็นเนื่องจากผิวที่ดำสนิททำให้มีกรรมวิธีที่แตกต่างออกไป นั่นคือการทำให้ผิวตรงที่ทำเครื่องหมายนูนขึ้นแบบสามมิติทีเดียว

กรีก โรมันโบราณ
ชาวกรีกเรียนการสักมาจากชาวเปอร์เชียแล้ว โรมันก็เอามาจากกรีกอีกที แต่การสักมักเป็นตัวอักษรที่ใช้สักบนผิวหนังทาสต่างชาติ เช่น คำว่า “ชำระภาษีแล้ว” เป็นต้น ทำให้นึกถึงเมื่อครั้งสยามสักเลขชาวลาวตอนช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ชนเผ่าเคลติกหรือเซลติก
แถบตะวันตกของทวีปยุโรปชนเผ่าเคลติกแผ่ซ่านเข้าเกาะอังกฤษเมื่อราวๆ หลังพุทธกาลเล็กน้อยในปัจจุบันคือชาวไอริช ชาวเวลส์ และชาวสกอตช์ ชนเผ่านี้เขียนสีน้ำเงินลงบนผิวตนเองด้วยสีที่ล้างไม่ออก ลายก้นหอยมักจะเป็นที่นิยมคล้ายๆ ลายหม้อบ้านเชียง และปมเชือกแสดงอันหมายถึงความต่อเนื่องของชีวิต ถ้าใครได้ดูภาพยนตร์ที่เมล กิปสันเป็นพระเอก มีนามว่า วิลเลียม วอลเลซ ในเรื่อง “เบรฟฮาร์ท”คงจะพอนึกออก

ทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้
ในเปรูได้ขุดพบมัมมี่ของเผ่าอินคาที่มีรอยสักอายุเกือบพันปี และมัมมี่ของเผ่ามายาที่มีรอยสักอายุกว่า 400 ปีในเม็กซิโก งานสักบนผิวหนังในแถบนี้แสดงถึงความกล้าหาญและการบูชาภูตผี

ทวีปอเมริกาเหนือ
อินเดียนแดงบางเผ่า เช่น ชิกกาซอ นักรบนิยมการสักตามตัวเช่นกัน

ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ
ผู้หญิงชาวอีนุยต์จะสักที่คางอันหมายถึงว่ามีสามีแล้ว เป็นต้น

ตะวันออกกลาง
ในพันธสัญญาเก่าของหนังสือไบเบิล ได้กล่าวถึงประเพณีการสักในกลุ่มชาวยิวแม้โมเสสเองก็สักเช่นกัน

ไวกิงส์
เป็นที่น่าเชื่อว่าชาวไวกิงส์ก็นิยมการสักราวๆ ปี พ.ศ. 1650 อีบิน ฟัดลัน ชาวอาหรับได้บันทึกว่าได้พบชาวไวกิงส์ ผู้ที่เขาคิดว่าหยาบคายและสกปรก แถมหน้าตาที่ปกคลุมด้วยลวดลายเต็มไปหมด

หมู่เกาะญี่ปุ่น
รอยสักยุคแรกๆ ของญี่ปุ่นปรากฏอยู่บนตุ๊กตารูปคนดินเผาที่มีการเขียนสีบนใบหน้าหรือแกะเป็นรอยเหมือนลายสักมีอายุกว่า 3,000 ปี บางชิ้นที่ขุดพบในสุสานโบราณมีอายุอยู่ในช่วงหนึ่งถึงสองพันปีก่อนคริสตกาลก็มี

ความหมายรอยสักของญี่ปุ่นเน้นสีสันความสวยงามอันอาจหมายถึงสภาวะอำนาจของรูปนั้นๆเช่น นกกะเรียน ฯลฯ

จีน
การสักของจีนเชื่อว่าเริ่มจากจีนตอนใต้ก่อนแล้วจึงแผ่ไปตามเส้นทางสายไหมสู่ทวีปยุโรป โพลีนีเซีย (มาจากภาษากรีก โพลี = หลาย เนซอส = เกาะ) การสักในแถบภาคพื้นแปซิฟิกหรือหมู่เกาะทะเลใต้ มีประวัติอันยาวนานและเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีฝีมือในการสักมาตั้งแต่โบราณกาล

ชาวโพลีนีเซียเชื่อว่าปราณแห่งชีวิตสามารถถ่ายทอดออกมาจากรอยสัก และช่วยควบคุมดูแลผู้สักไปจนตาย

ในหมู่เกาะซามัวลายสักจะบ่งบอกสถานภาพและฐานันดรของผู้สัก รวมไปจนถึงเล่าเรื่องบรรพบุรุษของแต่ละคนอย่างชัดเจน รอยสักจึงเปรียบเสมือนปูมบันทึกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษสู่ตน

ประเพณีการสักตามตัวตกทอดจากเผ่าสู่เผ่า แผ่ไปถึงชาวเมารีแห่งเกาะนิวซีแลนด์และชาวฮาวายตราบจนกระทั่งมีการรุกรานขนบประเพณีของชาวยุโรปที่พยายามยัดเยียดความเชื่อในลัทธิศาสนาของตนสู่ชนเผ่าเหล่านี้ ประเพณีการสักก็ดูเหมือนจะต้องยอมแพ้อำนาจมืดของชาวยุโรปไปโดยปริยาย

แม้ว่ากลุ่มทูฮอยของชาวเมารีจะพยายามรื้อฟื้นการสักที่เรียกว่า โมโกะขึ้นในนิวซีแลนด์ก็ไม่สามารถต้านกระบวนการกลืนชาติของพวกผิวขาวได้

อย่างไรก็ตาม การสักของชาวเมารีกลับกลายเป็นศิลปะต้นแบบของการสักทั่วโลกในปัจจุบันเพราะลวดลายที่สวยงามและไม่เหมือนใคร

อินโดนีเซีย
ยังมีประเพณีการสักอยู่ที่บอร์เนียวที่สืบทอดกันมานับพันปีโดยชนเผ่าพื้นเมือง ด้วยเหตุที่พื้นที่แถบนั้นยังไม่ถูกอารยธรรมต่างถิ่นเข้ามารุกราน ดังนั้นจึงนับว่าเป็นโชคดีที่ขนบประเพณีเดิมยังไม่โดนข่มขืนย่ำยี อีกทั้งลวดลายสักก็ยังได้ถูกขนานนามจากโลกตะวันตกว่าเป็นลายเฉพาะชนเผ่าอันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม

อินเดีย ไทย พม่า
ฝรั่งมองว่าลายสักรูปหนุมานดูเหมือนจะเป็นลายที่นิยมที่จะสักทั้งขาทั้งแขนสำหรับคนไทยและพม่า

นั่นเป็นเพราะเขาตีขลุมเอาว่าไทยและพม่าได้รับอิทธิพลจากแขกอย่างเต็มที่ตามที่ ยอร์ช เซย์เดส์เขียนเอาไว้ โดยหารู้ไม่ว่าอิทธิพลของวัฒนธรรมขอม (ไม่ใช่เขมร) แผ่คลุมดินแดนแถบนี้มานานแล้วคู่กับอิทธิพลแขกทีเดียว

เขาคงจะไม่เข้าใจความหมายของอักขระขอม จึงมองข้ามตามนิสัยนักประวัติศาสตร์อาณานิคม
กำลังโหลดความคิดเห็น