xs
xsm
sm
md
lg

อัศจรรย์! เด็กนับจำนวนได้ แม้ยังพูดตัวเลขไม่เป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาษาของชนเผ่าพื้นเมืองไม่มีคำศัพท์เกี่ยวกับตัวเลขมากนัก แต่พวกเขาก็สามารถนับเลขได้ (ภาพจาก AFP/Torsten Blackwood)
ใครที่คิดว่าเด็กจะนับเลขได้ ต้องรู้จักคำศัพท์เกี่ยวกับจำนวนนับเสียก่อ นอาจต้องเปลี่ยนความคิดใหม่กันแล้ว เพราะมีผลวิจัยออกมายืนยันว่าเด็กๆ ในชนเผ่าพื้นเมือง ที่ไม่มีคำศัพท์จำนวนนับในภาษาพูด ก็ยังสามารถนับจำนวนได้ ไม่แตกต่างกับเด็กทั่วไป ที่รู้จักคำที่แทนความหมายจำนวนนับในภาษาอังกฤษ

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (University College London: UCL) ประเทศอังกฤษ และมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกันศึกษาทักษะการนับจำนวน ของเด็กชนเผ่าพื้นเมืองในออสเตรเลีย ซึ่งสำนักข่าวเอเอฟพีและไซน์เดลีรายงานผลว่า เด็กๆ เหล่านั้นสามารถนับจำนวนได้ไม่แตกต่างจากเด็กทั่วไปที่รู้ภาษาอังกฤษ แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีตัวเลขบอกจำนวนที่แน่ชัดเหมือนในภาษาอังกฤษก็ตาม

ศาสตราจารย์ไบรอัน บัตเตอร์เวิร์ธ (Professor Brian Butterworth) จากสถาบันประสาทวิทยาศาสตร์ด้านการรับรู้ (Institute of Cognitive Neuroscience) ยูซีแอล หัวหน้าคณะวิจัย บอกว่า ในทางภาษาศาสตร์ คำศัพท์ที่บ่งบอกจำนวนนับนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อพัฒนาการด้านการนับเลขของเด็ก แต่จากการศึกษากลับพบว่าเด็กที่อยู่ในชนเผ่าที่ภาษาพูดของเขาไม่มีจำนวนนับก็สามารถนับได้เช่นกัน จึงทำให้ได้ข้อสรุปว่าคนเรามีทักษะการนับจำนวนมาตั้งแต่กำเนิด แม้ว่าจะไม่มีคำศัพท์เกี่ยวกับตัวเลข ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการนับจำนวนของคนเรา

"ทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ และการนับเลขของคนเรา เป็นคุณลักษณะพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยกำเนิด การใช้คำศัพท์บ่งบอกจำนวนที่ถูกต้องนับว่าเป็นประโยชน์ แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็น" ศ.บัตเตอร์เวิร์ธ กล่าว ซึ่งผลงานวิจัยเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Sciences)

ผลวิจัยดังกล่าว ได้มาจากการศึกษาเปรียบเทียบการนับจำนวนในเด็กอายุระหว่าง 4-7 ปี จำนวน 45 คน จาก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย เด็กจากเมืองเมลเบิร์นที่ใช้ภาษาอังกฤษ จำนวน 13 คน, เด็กชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้กับทะเลทรายทานามิ (Tanami Desert) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอลิซสปริงส์ (Alice Springs) จำนวน 20 คน ซึ่งใช้ภาษา Warlpiri ที่มีจำนวนนับแค่ 1, 2 และ จำนวนมาก และเด็กกลุ่มสุดท้ายเป็นชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่แถบ Groote Eylandt บริเวณอ่าวคาร์พนตาเรีย (Gulf of Carpentaria) 12 คน ซึ่งใช้ภาษา Anindilyakwa ที่มีจำนวนนับคือ 1, 2, 3 และมากกว่า 3 โดยที่ในบางครั้งอาจมีการนับ 4 ร่วมด้วย

ส่วนวิธีการทดสอบนั้นในเอพีรายงานว่านักวิจัยใช้บททดสอบทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่ การแบ่ง (Sharing), การจำ (Memory), การบวกเลข (Nonverbal addition) และ การจับคู่ (Cross-modal matching)

ผลการทดสอบการนับปรากฏว่าเด็กเกือบทุกคนสามารถแบ่งขนมปังของเล่นจำนวน 6 และ 9 ชิ้น ให้กับตุ๊กตาหมี 3 ตัวได้ ทว่าเมื่อมีขนมปัง 7 และ 10 ชิ้น เด็กที่อายุมากกว่าและไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษก็สามารถแบ่งขนมปังชิ้นพิเศษที่เกินมาให้เป็นชิ้นเล็กขนาดเท่าๆกัน สำหรับตุ๊กตาหมีทุกตัวได้

บททดสอบการจำ นักวิจัยวางเงินเหรียญจำนวนต่างๆ ลงบนพรม แล้วให้เด็กๆ จำ จากนั้นปิดทับไว้ไม่ให้เห็น แล้วให้เด็กทุกคนวางเงินเหรียญลงบนพรมของแต่ละคน โดยให้มีจำนวนเงินเท่ากับจำนวนที่ให้ดูในตอนแรก ซึ่งก็พบว่าเด็กทุกคนทำได้ไม่แตกต่างกัน

ส่วนการบวกเลข นักวิจัยให้เด็กๆ ดูตัวเลขจำนวนนับบางจำนวนที่วางอยู่บนพรม แล้วปิดคลุมไว้ ต่อจากนั้นนำตัวเลขจำนวนนับอีกชุดหนึ่งมาวางไว้คู่กับจำนวนในชุดแรก แล้วให้เด็กๆ บอกผลรวมของจำนวนแต่ละคู่ ซึ่งพวกเขาก็ทำได้ โดยที่เด็กในกลุ่มที่ใช้ภาษาอังกฤษตอบถูกน้อยกว่าเล็กน้อย แต่ไม่ถือว่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

แบบทดสอบสุดท้ายที่ใช้วิธีการจับคู่ นักวิจัยจะให้เด็กฟังเสียงไม้เท้าเคาะลงบนแผ่นไม้ และวางเลขจำนวนลงบนพรมไว้คู่กัน ซึ่งจำนวนครั้งที่เคาะกับจำนวนตัวเลขที่วางไว้ให้ดู มีทั้งที่เท่ากันและไม่เท่ากัน โดยจะให้เด็กเลือกตอบเฉพาะครั้งที่เสียงเคาะเท่ากับจำนวนที่ให้ดูเท่านั้น ซึ่งผลการทดสอบก็ไม่พบว่าเด็กแต่ละกลุ่มมีความสามารถแตกต่างกันแต่อย่างใด

ศ.บัตเตอร์เวิร์ธ อธิบายว่า บางทีผลการทดสอบทั้งหมดอาจมาจากการทดสอบในแบบทดสอบสุดท้ายก็ได้ ที่ให้เด็กเลือกจำนวนนับที่สอดคล้องกับจำนวนความถี่ของเสียงที่ได้ยิน ซึ่งไม่ใช่แค่การนับจากการมองเห็นเพียงอย่างเดียว แต่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถนับได้โดยใช้ทั้งการมองเห็นและการได้ยินควบคู่กัน

อย่างไรก็ดี ในเอพีรายงานเพิ่มเติมว่า เอดเวิร์ด เอ กิบสัน (Edward A. Gibson) นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองและกระบวนการรับรู้จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) สหรัฐฯ ยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในผลวิจัยดังกล่าว

กิบสันให้เหตุผลว่าหากต้องการข้อสรุปที่ชัดเจนมากที่สุด นักวิจัยจำเป็นต้องทำการประเมินผลในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุอยู่ในช่วงเดียวกันระหว่างกลุ่มที่ใช้ภาษาแตกต่างกันคือ มีและไม่มีคำศัพท์แทนจำนวนตัวเลข ซึ่งผู้ที่เข้ารับการทดสอบที่อยู่ในกลุ่มของผู้ใช้ภาษาที่มีคำศัพท์แทนจำนวนตัวเลขจะให้ผลการทดสอบที่ถูกต้องเกือบ 100% ขณะที่ความสามารถในการนับโดยปราศจากคำศัพท์แทนจำนวนตัวเลขในภาษาพูดจะแสดงให้เห็นได้จากกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ภาษาพูดที่ไม่มีคำศัพท์บอกจำนวนนับ

อย่างไรก็ตาม ในการทดสอบของบัตเตอร์เวิร์ธ เด็กทุกกลุ่มให้ผลคล้ายคลึงกันในลักษณะที่ว่ามากกว่าหรือน้อยกว่า ซึ่งไม่มีกลุ่มไหนที่ให้ผล 100% จึงทำให้ดูเหมือนกับว่าเด็กแต่ละคนในกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการประมาณเพื่อหาคำตอบ ซึ่งเป็นกลยุทธที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำบอกจำนวนตัวเลข

ทั้งนี้ กิบสันและทีมวิจัยก็ศึกษาในเรื่องทำนองเดียวกันกับบัตเตอร์เวิร์ธในชนเผ่าพื้นเมืองของอเมริกาใต้ ซึ่งภาษาพูดของพวกเขาก็ไม่มีคำศัพท์เกี่ยวกับจำนวนนับด้วยเช่นกัน.
จากการทดสอบความสามารถเกี่ยวกับการนับเลขในเด็กกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ภาษาแตกต่างกัน นักวิจัยให้ข้อสรุปว่าแม้ไม่ต้องรู้จักคำศัพท์ที่เกี่ยวกับตัวเลข เด็กก็นับเลขได้ เพราะเป็นทักษะที่มีมาโดยกำเนิด (ภาพจาก Science Daily/iStockphoto/Dan Talson)
กำลังโหลดความคิดเห็น