xs
xsm
sm
md
lg

ควรตั้งสติเพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างผู้พิพากษากับ ป.ป.ช.

เผยแพร่:   โดย: นายหิ่งห้อย

จากกรณี ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการไต่สวนผู้พิพากษาศาลจังหวัดอยุธยา ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีใช้อำนาจศาลออกหมายจับนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนกระทรวงยุติธรรม

ต่อมา มีผู้พิพากษากลุ่มหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการกระทำของ ป.ป.ช. โดยกล่าวหาว่า ป.ป.ช. มีพฤติการณ์ในการใช้อำนาจแทรกแซงดุลพินิจอิสระของศาลที่ใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญนั้น

ส่วน ป.ป.ช. ก็ออกมาชี้แจงว่า ป.ป.ช. มีอำนาจตรวจสอบการกระทำความผิดอาญาในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ โดยมิได้เป็นการแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของศาลแต่อย่างใด

ผู้เขียนเห็นว่า การที่ศาลจะใช้ดุลพินิจในการออกหมายจับหรือไม่ออกหมายจับบุคคลใดนั้น ศาลย่อมมีดุลพินิจที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. ไม่อาจโต้แย้งความเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจของศาลในข้อนี้ได้

หากบุคคลใดได้รับผลกระทบจากการใช้ดุลพินิจของศาลดังกล่าวและไม่เห็นพ้องด้วย ก็ชอบที่จะต้องใช้สิทธิโต้แย้งด้วยการอุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลที่มีลำดับสูงขึ้น

และแม้ศาลในลำดับสูงขึ้นไปจะมีความเห็นแตกต่างออกไป ก็ไม่ถือว่าการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาในศาลล่างเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

แต่หากการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใดๆ มิได้เป็นไปโดยสุจริต แต่มีเจตนาช่วยเหลือหรือกลั่นแกล้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือมีผลประโยชน์แอบแฝง ก็คงไม่อาจอ้างได้ว่า เป็นการใช้ดุลพินิจที่เป็นอิสระที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ประเด็นปัญหาข้อโต้แย้งของผู้พิพากษาบางส่วนที่ออกมาเคลื่อนไหว กับความเห็นของ ป.ป.ช.จึงอยู่ที่ว่า ทั้งสองฝ่ายรู้เห็นถึงปัญหาข้อเท็จจริงและเข้าใจข้อกฎหมายตรงกันหรือไม่

เท่าที่ผู้เขียนทราบมาก็คือ มีข้อเท็จจริงที่ทราบกันทั่วไปในหมู่ผู้พิพากษาว่า ในการออกหมายจับครั้งที่เกิดปัญหาดังกล่าวนั้น ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ออกหมายจับมิได้ใช้ดุลพินิจในการออกหมายจับไปตามลำพังหรือกระทำตามอำเภอใจ

การออกหมายจับมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ใดให้ได้รับความเสียหาย และมิได้ออกหมายจับโดยมีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง

แต่ก่อนที่จะออกหมายจับได้มีการประชุมปรึกษาหารือกับผู้พิพากษาในศาลทุกคน และการออกหมายจับได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ด้วย

ดังนั้น ผู้พิพากษาที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ป.ป.ช.จึงรู้สึกว่า ป.ป.ช.ก้าวล่วงดุลพินิจอิสระของศาล

แต่เมื่อพิจารณาในส่วนของ ป.ป.ช.แล้ว เมื่อมีบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการออกหมายจับดังกล่าวขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาในการออกหมายจับ หากเป็นการอ้างว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

ซึ่งก็มีเหตุผลที่บุคคลภายนอกอาจไม่เข้าใจหรือสงสัยว่า เหตุใดพนักงานสอบสวนไม่ขอออกหมายจับต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือขอออกหมายจับที่ศาลอาญา

ป.ป.ช.ก็ไม่อาจปฏิเสธที่จะไม่รับเรื่องไว้ไต่สวน เพราะมิฉะนั้น ป.ป.ช.อาจถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดังที่พนักงานสอบสวนเคยถูกดำเนินคดี เพราะไม่ยอมรับแจ้งความ จนกระทั่งถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า การไต่สวนคดีของ ป.ป.ช.ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อร้องเรียนในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งอาจกระทบต่อดุลพินิจอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล

ดังนั้น หากผู้ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานในเบื้องต้นให้เห็นว่า ผู้พิพากษาที่ถูกร้องเรียนใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยมีเจตนากลั่นแกล้งหรือช่วยเหลือบุคคลใด หรือมีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง

ป.ป.ช. ก็ควรที่จะรีบยุติเรื่องร้องเรียนเสียโดยเร็ว


เพราะการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น จะต้องได้ความว่า ผู้กระทำความผิดมีเจตนาพิเศษเพื่อให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยเจตนาทุจริตด้วย

ในส่วนของผู้พิพากษาทั้งหลาย ก็ควรมีความอดทนอดกลั้น ไม่ควรออกมาแสดงพลังต่อต้าน ป.ป.ช.ถึงกับกล่าวหาว่าใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

เพราะไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้เห็นว่า ป.ป.ช.หลายท่านซึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่มาก่อนจะกลั่นแกล้งผู้พิพากษา

และการออกมาแสดงความเห็นในลักษณะดังกล่าวต่อสื่อมวลชน อาจทำให้สังคมเคลือบแคลงสังสัยว่า ผู้พิพากษาไม่ยอมรับการตรวจสอบจากองค์กรใดๆ อันจะนำไปสู่การสร้างระบบตรวจสอบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

ซึ่งหากระบบการตรวจสอบที่มีการสร้างขึ้นใหม่เพิ่มเติมไม่มีคุณธรรมเพียงพอ และเปิดโอกาสให้มีแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาได้ ก็จะไม่เป็นผลดีแก่ต่อประชาชน

ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย น่าจะปรึกษาหารือและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว น่าจะเป็นผลดีกว่าการที่จะออกมาตอบโต้กันทางสื่อมวลชน

ผู้เขียนเห็นว่า ขณะนี้มีปัญหาใหญ่กว่าปัญหา ป.ป.ช.มากนัก

เนื่องจากปรากฏว่า มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีผลประโยชน์แอบแฝง ได้ออกมาบิดเบือนใส่ร้ายโจมตีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีผู้พิพากษา และมีเจตนาทำลายองค์กรศาลยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง

คนกลุ่นนี้ได้ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของศาลยุติธรรมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องนานนับปี

ผู้พิพากษาทั้งหลายจึงน่าจะใช้พลังที่มีอยู่ร่วมกันคิดหาหนทางแก้ไขปัญหานี้ก่อน จะไม่ดีกว่าหรือครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น