xs
xsm
sm
md
lg

ศาลเปิดศูนย์สมานฉันท์‏สันติวิธี หวังลดข้อพิพาทคดี

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แฟ้มภาพ
“เลขาฯ ศาลยุติธรรม” เปิดศูนย์สมานฉันท์และสันติวิธี ศาลอาญากรุงเทพใต้ เผยความสำเร็จโครงการลดปริมาณคดีอาญาในชั้นศาลได้กว่าครึ่ง


วันนี้ (17 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.20 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม เป็นประธานเปิดศูนย์สมานฉันท์และสันติวิธี โดยนายวิรัชกล่าวว่า เมื่อตนเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการศาลยุติธรรม ได้น้อมนำนโยบายของศาลฎีกาที่ต้องการเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนและสังคม ด้วยความถูกต้องรวดเร็ว เป็นธรรม ทั่วถึง มุ่งสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ในสังคม โดยการเคารพสิทธิของปัจเฉกชน สนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางเลือก มาปฏิบัติ ประกอบกับสำนักงานศาลยุติธรรมได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การรักษาความเข้มแข็งและมุ่งสู่ความเป็นเลิศในการอำนวยความยุติธรรม การให้บริการประชาชนและสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการระงับข้อพิพาท จึงกำหนดแนวทางการดำเนินการให้มีการริเริ่มเร่งรัดผลักดัน การสร้างองค์ความรู้กฎหมายสำหรับชีวิตประจำวันให้แก่ประชาชนระดับรากหญ้า ผ่านหน่วยงานศาลยุติธรรม เพื่อประชาชนจะได้ระวังรักษาสิทธิเสรีภาพของตน

“การที่ศาลได้จัดตั้งศูนย์สมานฉันท์ฯ ควบคู่ไปกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยเฉพาะการนำคดีอาญาแผ่นดิน ซึ่งไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้ ไม่ว่าจะเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ความผิดต่อชีวิต ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์และอื่นๆ ถือเป็นการให้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในวิชาชีพของศาลยุติธรรมอย่างแท้จริง อีกทั้งขั้นตอนการดำเนินคดีของศาลตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ถือเป็นการสร้างจิตสำนึกการกระทำของคู่ความ และทำให้ปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณาสืบพยานลดลงเป็นจำนวนมาก เป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมของศาลยุติธรรม” เลขาธิการศาลยุติธรรมกล่าว

ด้าน นายวิชัย เอื้ออังคณากุล อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ กล่าวว่า ศูนย์สมานฉันท์ฯจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.51 จนถึงปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะยุติข้อพิพาทให้แก่ประชาชนเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม เนื่องจากปัจจุบันพบว่าประชาชนมีปัญหาในการขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย และขั้นตอนการดำเนินคดีในศาลยุติธรรม ทำให้คดีต้องล่าช้า และยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คู่ความถูกหลอกลวงจากบุคคลอื่นว่าสามารถวิ่งเต้นคดีได้ ศาลได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงมีการจัดตั้งศูนย์สมานฉันท์ฯขึ้น

“คดีที่เข้าสู่กระบวนการสมานฉันท์ฯ รวมทั้งสิ้น 1,151 คดี สำเร็จโดยจำเลยให้การรับสารภาพจำนวน 643 คดี คดีที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 168 คดี และคดีที่จำเลยขอต่อสู้คดีจำนวน 340 คดี ส่วนคดีที่ผ่านศูนย์สมานฉันท์ฯ และศาลพิพากษาแล้วคู่ความอุทธรณ์เพียง 70 คดี ซึ่งทำให้ปริมาณคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีในศาลอาญากรุงเทพใต้ลดลงจำนวนมาก ไม่เกิดปัญหาการคั่งค้างของคดี อีกทั้งยังเป็นการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลสูงอีกด้วย” นายวิชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น