ศูนย์ข่าวภูมิภาค – อบจ.ทั่วไทย เตรียมจี้ถามทูตจีน หาต้นเหตุทำน้ำโขงแห้ง ขู่ไม่ได้คำตอบพร้อมรณรงค์ให้คนไทยบอยคอตสินค้าจีน หลังวิกฤตน้ำโขงแห้งกระทบชาวบ้านตลอดแนวลุ่มน้ำขาดน้ำกินน้ำใช้ถ้วนหน้า เฉพาะที่หนองคายต้องทุ่มงบขุดบ่อซึมกลางน้ำกว่า 20 จุดให้ชาวบ้านสูบน้ำรดพื้นที่เกษตรกรรม
แม้ยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงทุกวันนี้ว่า แม่น้ำโขงแห้งขอดเป็นเพราะเขื่อนจีนหรือไม่ ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม /กรมชลประทาน ต่างก็ออกมาการันตีว่า น้ำจากจีน หล่อเลี้ยงแม่น้ำโขงแค่ 16% ที่เหลือ 84%เป็นน้ำจากแม่น้ำสาขาทั้งในพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ก็ตาม
ล่าสุด ระดับน้ำในแม่น้ำโขง กระเตื้องขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่ก็ถูกเฝ้ามองอย่างสงสัยว่า เป็นการปล่อยน้ำของจีน เพื่อลดการกดดันจากสังคมลุ่มน้ำโขงหรือไม่
นอกจากนี้ ก็มีคำถามต่อว่า สถานการณ์จะดีขึ้นต่อเนื่องไปจนสิ้นแล้งหรือไม่ เพราะทั้ง เตา หลิน อิน ผู้ว่าฯสิบสองปันนา-"The Joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang-Mekong Riveramong China, Laos, Myanmar and Thailand" (JCCCN) จีน ก็แจ้งเป็นนัยผ่านผู้ว่าฯเชียงราย – กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ว่า พื้นที่หยุนหนัน จีน ที่ตั้งของเขื่อนน้ำโขงทั้ง 4 จุด ก็แล้งเช่นกัน ทำให้ไม่สามารถปล่อยน้ำลงสู่น้ำโขงได้ อาจต้องรอถึงเดือนพฤษภาคม ที่น่าจะมีฝนตกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงในแล้งนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำอย่างปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เองก็ยอมรับว่า ระดับน้ำโขงที่แห้งเหือดนี้ ส่งผลกระทบต่อสถานีสูบน้ำอย่างน้อย 2 แห่งแล้วคือ ที่หนองคาย และมุกดาหารแล้ว จากสถานีสูบน้ำตลอดแนวน้ำโขงตั้งแต่เชียงราย – อุบลราชธานี ที่มีอยู่ 164 สถานี
นายพรชัย โควสุรัตน์ นายก อบจ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ภายในเร็ววันนี้ อบจ.อุบลฯ จะร่วมกับสมาพันธ์ อบจ.อีสาน และ อบจ.แห่งประเทศไทย ทำหนังสือสอบถามไปถึงสถานทูตจีนประจำประเทศไทย เรื่องเขื่อนในจีน ที่เป็นประเทศต้นน้ำ และแม่น้ำโขงแห้ง หากไม่ได้รับคำตอบหรือเป็นที่แน่ชัดว่า เขื่อนจีน เป็นต้นเหตุทำให้แม่น้ำโขงแห้งขอด อบจ.ทั่วประเทศ จะรณรงค์ให้คนไทยทั่วประเทศบอยคอตสินค้าจีนเพื่อตอบโต้ต่อไปอย่างเข้มข้น เพราะปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบต่อคนไทยตลอดแนวแม่น้ำโขงอย่างมาก
เขาบอกว่า ปีนี้ ท้องที่ ที่ติดกับแม่น้ำโขง 3 อำเภอ ได้ขอความช่วยเหลือให้ อบจ.แจกน้ำเข้ามามากกว่าทุกปี ซึ่ง อบจ.ก็ได้ส่งรถบรรทุกน้ำขนาด 5 ,000 ลิตร จำนวน 12 คัน และขนาด 10,000 ลิตรอีก 3 คัน ตระเวนแจกจ่ายน้ำกินน้ำใช้ให้ชาวบ้านถึงวันละ 3 รอบ และคาดว่าความแห้งแล้งจะรุนแรงขึ้น เพราะขณะนี้น้ำสาขาของแม่น้ำโขงแทบทุกสายเริ่มแห้งสนิท ส่วนแม่น้ำโขงก็ลดลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ส่วนระยะยาว อบจ.เริ่มมีนโยบายจัดการน้ำอย่างบูรณาการตั้งแต่ 2 ปีก่อนแล้ว ทั้งโครงการขุดคลองไส้ไก่ ขุดสระน้ำ ทำฝายแม้วชะลอน้ำ การส่งน้ำผ่านระบบท่อ ซึ่งทำไปแล้วประมาณ 10 %ของพื้นที่ และยังดำเนินการต่อเนื่อง เพราะเป็นโครงการหลักที่ทาง อบจ. แก้ปัญหาพื้นที่แล้งซ้ำซาก พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนพื้นที่ที่ยังไม่มีภัยแล้งไม่ให้ประสบปัญหาด้วย
เฉพาะแม่น้ำโขง นอกจากออกแจกน้ำมากกว่าทุกปีแล้ว อบจ.อุบลฯยังร่วมกับประมงจังหวัด สำรวจปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำลดลง เพื่อส่งเสริมให้พันธุ์สัตว์น้ำในแม่น้ำโขงมีมากเช่นเดิม ไม่ให้กระทบต่ออาชีพประมงในอนาคต
ด้านหนองคาย ที่เผชิญภัยแล้งหนักในหลายพื้นที่ บางแห่งถึงขั้นขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำในการเกษตร ที่ส่วนใหญ่อาศัยแม่น้ำโขงเป็นหลัก นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายกฯ อบจ.หนองคาย บอกว่า หลายแห่งต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เกษตรกร ต.โพนสา อ.ท่าบ่อ และ ต.เวียงคุก อ.เมืองหนองคาย ขอให้ช่วยขุดร่องน้ำในแม่น้ำโขงเปิดทางให้แม่น้ำโขงไหลมายังจุดตั้งเครื่องสูบน้ำ โดยในช่วงแรกเริ่มดำเนินการเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา นำรถแบ็กโฮขุดร่องน้ำ ระยะทางประมาณ 3 กม.
ครั้งนั้นปริมาณน้ำโขงยังเหลือราว 1 เมตร เมื่อขุดเป็นร่องน้ำแล้ว น้ำโขงได้ไหลเข้าริมตลิ่ง เครื่องสูบน้ำสามารถสูบน้ำใส่แปลงเกษตรได้ แต่มาถึงเดือนมีนาคม แม่น้ำโขงแห้งขอดลงอีก โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นสันดอน ทำให้แม่น้ำแบ่งเป็น 2 สาย โชคร้ายที่ฝั่งไทยเป็นสันดอนทรายสูง น้ำโขงไม่สามารถไหลผ่านได้ อบจ.ต้องจัดงบเพิ่มอีก 2 แสนบาท นำรถแบคโฮขุดบ่อน้ำซึมใต้แม่น้ำโขง จำนวน 21 บ่อ ขนาดความกว้าง 10 เมตร ยาว 10 เมตร ลึกประมาณ 5 เมตรเสริมให้
ขณะนี้ขุดแล้ว 9 บ่อ และจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ ก่อนที่พืชไร่ พืชสวน เช่น พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว ข้าวโพด ที่เกษตรกรปลูกไว้ริมฝั่งโขงจะยืนต้นตายหมด
ด้านนายชูรัตน์ พิมพเคณา สมาชิกสภา อบจ.หนองคาย เขต อ.เมืองหนองคาย บอกว่า นอกจากนี้ อบจ.ยังได้ทำคูดินกักน้ำจากแม่น้ำสวย ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง บริเวณทุ่งนาบ้านบง หมู่ 4 ต.สีกาย อ.เมืองหนองคาย ไม่ให้น้ำจากแม่น้ำสวยไหลลงสู่แม่น้ำโขง ช่วยเหลือชาวนาที่ทำนาปรังใน 5 ตำบล ประกอบด้วย ต.สีกาย, ต.หาดคำ, ต.วัดธาตุ, ต.หินโงม อ.เมืองหนองคาย และ ต.เหล่าต่างคำ อ.โพนพิสัย โดยชาวนาจะใช้เครื่องสูบน้ำต่อท่อแล้วสูบน้ำจากบริเวณกักน้ำเข้านาของตนเอง ทำให้นาปรังเนื้อที่ประมาณหมื่นไร่ไม่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง