xs
xsm
sm
md
lg

แฉกลโกง ยุค "นช.ทักษิณ" ใช้ 5 ป๊อก 3 เด้ง ตอดเอื้อประโยชน์ธุรกิจชินฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ แฉ กลโกง 5 ป๊อก 3 เด้ง ยุค "นช.แม้ว" เอื้อประโยชน์ธุรกิจชินฯ สุดตลก!! แก้กม. ผูกขาดจ่ายเงินรัฐน้อยลง นอกจากไม่ได้เงินเพิ่มแล้ว หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่เก็บส่วนแบ่งรายได้ ยังต้องควักเนื้อจ่ายเงินเข้ารัฐแทน ชี้ ต่อให้ไม่โกง แค่นำข้อมูลรัฐไปเอื้อประโยชน์ธุรกิจแค่นี้ก็รวยมหาศาล โดยยุค "ทักษิณ" กินนอกกินใน เล่นไล่แก้ กม. ลามไปถึงสัญญาสัมปทาน


 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "รู้ทันประเทศไทย" 

วานนี้ ( 22 ก.พ.) ในรายการ “รู้ทันประเทศไทย” ออกอากาศทางเอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.30-20.00 น. มี นายสันติสุข มะโรงศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้มีการต่อสายสัมภาษณ์สด ดร.อนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านไอซีที ถึงกลเอื้อประโยชน์ธุรกิจชินคอร์ปฯ สมัยยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า ตนเรียกการกระทำดังกล่าวว่า 5 ป๊อก 3 เด้ง เพราะสมัยอดีตเวลานักการเมืองจะโกงกิน ก็จะทำแบบทวนน้ำ คือ แบ่งผลประโยชน์กันว่าใครจะกินปูน กินอิฐ กินไม้ แต่นักการเมืองสมัยใหม่ที่ฉลาดกว่านั้น เขาจะไม่กินทวนน้ำ เนื่องจากเวลาขึ้นมาจากน้ำ ก็จะเห็นร่องรอยได้ง่าย ดังนั้น จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีขุดบ่อน้ำแทน ซึ่งน้ำในบ่อก็จะไหลซึมมาเรื่อยๆ เสมือนกินเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด และข้อดีอีกอย่าง ก็เท้าไม่เปียกให้จับได้ด้วย

"ไอ้ขุดบ่อน้ำแบบนี้ ร้ายแรงกว่ากินทวนน้ำเสียอีก เพราะเท้ามันไม่เปียกน้ำ และกินอย่างไรก็ไม่มีวันหมด มันกินกันไปเรื่อยๆ จริงๆแล้วถ้าเราพูดกันตามตรงคือว่า คนที่มีเจตนาไม่ดี เอาแบบไม่ต้องโกงเลยนะ ขอแค่ใช้ข้อมูลของรัฐให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง เพียงแค่นี้ก็รวยมหาศาลแล้ว" ดร.อนุภาพ กล่าว

ดร.อนุภาพ กล่าวอีกว่า นักการเมืองที่ฉลาดกว่านั้น จะไม่ทำแค่เอาข้อมูลภายในมาทำมาหากิน แต่จะสร้างเป็นขบวนการขึ้นมา ซึ่งตนเรียกว่า 5 ป๊อก 3 เด้ง โดยมีการปูทางอย่างเป็นระบบเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมาย และได้ 3 เด้งที่ตนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ เป็นการไม่จ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญา เพียงเท่านี้ก็เท่ากับว่าได้กำไรแล้ว แบบนี้เรียกป๊อกแรก ซึ่งหากพูดชัดเจนว่านั้น คือ สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ มีการแก้สัมปทานให้เอไอเอส ผูกขาดการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ ทีโอที เหลือเพียงแต่ 20% ตลอดอายุสัญญา โดยจุดนี้ก็ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปหลายหมื่นล้านแล้ว นอกจากนี้ ยังมีกรณีการแก้สัมปทานโทรศัพท์มือถือแบบพรีเพด (เติมเงิน) ซึ่งในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีการผูกขาดให้จ่ายส่วนแบ่งรายได้เพียงแค่ 18% เท่านั้น

ดร.อนุภาพ กล่าวต่อว่า ยังมีเรื่องดาวเทียม ที่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ มีการลดต้นทุนธุรกิจ โดยเปลี่ยนจากการผลิตและยิงดาวเทียม ซึ่งตอนนั้นคือ ไอพีสตาร์ ไปเป็นการเช่าดาวเทียมอื่นแทน รวมทั้ง ยังมีการเปลี่ยนแปลงให้ไม่ต้องเสียภาษี โดยข้ออ้าง พ.ต.ท.ทักษิณ ตอนนั้นระบุว่า เหตุที่เปลี่ยนจากผู้ผลิตและยิงดาวเทียมมาเป็นการเช่าดาวเทียม เพราะติดขัดเรื่องผลประโยชน์ จึงหันไปใช้ดาวเทียมดวงอื่น ซึ่งนี่เป็นการลดต้นทุนทางธุรกิจ ที่ควรสูญเสียในการผลิตและยิงดาวเทียม ดังนั้น เรื่องนี้ต้องเอาหลักฐานและข้อมูลมาประกอบกัน จะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น

"อันนี้เป็นการลดความเสี่ยงอย่างเห็นได้ชัดๆเลย คือ ต้นทุนไม่มี ค่าประกันไม่เสีย ซึ่งในเมื่อต้นทุนลดลง ก็กลับกลายเป็นผลกำไรแทน โดยนี่ยังไม่นับรวมเรื่องเอาความเป็นประเทศ ไปเจรจาในเรื่องส่วนบุคคล ในส่วนการขายหรือเช่าทั้งในประเทศและนอกประเทศ ซึ่งในประเทศเป็นเรื่องของการบังคับขาย ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะผลิตมาเท่าไหร่ ก็สามารถขายหมดได้ภายในวันแรก แล้วแบบนี้ถ้าไม่ให้เรียกป๊อกจะเรียกอะไร" ดร.อนุภาพ กล่าว

ดร.อนุภาพ กล่าวอีกว่า ป๊อกต่อมาเป็นการสร้างกำไร โดยตรงจุดนี้ต้องตอบโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้มูลค่าธุรกิจเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะทำให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเลขพุ่งขึ้นตาม ซึ่งหากทำดี กรณีนี้อาจรวยโดยไม่ต้องทำอะไรมาก ซึ่งเรื่องนี้ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ มีการแก้ไขกฏหมายหลายประการ อาทิ แก้สัดส่วนให้คนต่างด้าวถือหุ้นได้จากเดิม 25% กลายเป็น 49% หรือจะพูดกันง่ายๆ กรณีนี้ทำเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ที่มีอยู่ในมือทั้งหมด 49% ให้แก่ต่างด้าวได้

ดร.อนุภาพ กล่าวต่อว่า ป๊อกต่อไปเป็นการทำลายล้างระบบการแข่งขันให้เกิดขึ้นโดยไม่เป็นจริง ซึ่งมีการแก้กฏหมายภาษีสรรพสามิต ทั้งที่นักวิชาการหลายคนต่างออกมาคัดค้านเรื่องนี้ ว่าไม่ควรมีกฏหมายสรรพสามิตที่เกี่ยวกับธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งในต่างประเทศก็ไม่เคยปรากฏ นอกจากสมัยสหรัฐฯรบกับสเปน แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีอีก แต่ของไทยกลับคิดและบัญญัติขึ้นมาจนสำเร็จ อีกทั้งยังเป็นการเปิดทางให้เอกชน ไม่ต้องควักเนื้อจ่ายเงินให้แก่รัฐ โดยให้ไปหักที่ส่วนแบ่งของรายได้แทน ซึ่งสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ มีการออกมติครม. เรื่องนี้ด้วย

"ตัวเลขพวกนี้เป็นเพียงแค่กระดาษ แต่ไม่มีการจ่ายจริงๆ โดยเอาเงินที่จ่ายไปหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ แบบนี้เท่ากับเอกชนก็ไม่ต้องเสียอะไรเพิ่ม แต่รัฐต่างหากที่จะมีเงินน้อยลง ซึ่งตรงจุดนี้ไม่เพียงแต่รัฐเสียประโยชน์ที่เก็บเงินส่วนนี้ได้น้อยลงแล้ว แต่ยังเป็นการที่ทำให้รัฐไม่มีเงินไปต่อยอดธุรกิจของตัวเองด้วย ไม่ว่าจะเป็น กสท. ที่ก่อนหน้านี้พยายามจะขยายเครือข่าย เรื่องนี้ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ ทำให้ขยายไม่ได้เป็นเวลานานหลายปี ซึ่งตอนนั้นถ้าหากทำได้ ป่านนี้ประเทศก็คงมี 3 จี ใช้ไปตั้งนานแล้ว" ดร.อนุภาพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น