xs
xsm
sm
md
lg

สองนครและการก่อความไม่สงบในอัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน เอ็ม ดาวนิง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Two cities and the Afghan insurgency
By Brian M Downing
18/02/2010

ยุทธการขนาดใหญ่ที่กำลังดำเนินอยู่ในเมืองมาร์จาห์ มีจุดมุ่งหมายที่จะหยุดยั้งความคึกคักที่พวกตอลิบานสามารถสร้างขึ้นมาในตลอดช่วงหลายปีมานี้ รวมทั้งมุ่งที่จะบีบบังคับพวกเขาให้ยอมเข้าสู่โต๊ะเจรจา สำหรับการจับกุมตัวผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพวกตอลิบานได้ในเมืองการาจี ของปากีสถานนั้น ก็จะมีบทบาทสำคัญในภาพรวมของสถานการณ์ตอนนี้ด้วย ทว่ามันยังไม่ใช่หลักฐานอันชัดเจนว่าปากีสถานมีการประเมินปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์กันใหม่ใดๆ แล้ว

ในระยะสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทหารอเมริกัน, อังกฤษ, และอัฟกานิสถาน ได้เปิดการรุกโจมตีครั้งใหญ่ที่บริเวณรอบๆ เมืองมาร์จาห์ (Marjah) ในจังหวัดเฮลมันด์ (Helmand) ทางตอนใต้ของอัฟกานิสถาน โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการต่อสู้ปราบปรามการก่อความไม่สงบที่เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่ปีที่แล้ว เพียงไม่นานหลังจากยุทธการที่มาร์จาห์เริ่มต้นขึ้น ห่างออกไปทางตอนใต้ในเมืองการาจี ที่เป็นเมืองท่าสำคัญของปากีสถาน บุคคลสำคัญผู้หนึ่งของพวกตอลิบานได้ถูกจับกุมตัว ทั้งสองเหตุการณ์นี้อาจช่วยทำให้เกิดการเจรจาจนกระทั่งมีการรอมชอมกันก็เป็นได้

**เดินหน้าเต็มที่ในมาร์จาห์**

ยุทธการคราวนี้เริ่มต้นขึ้นใกล้ๆ กับเมืองที่อยู่บริเวณตอนกลางของจังหวัดเฮลมันด์แห่งนี้ โดยแทบไม่ได้มีการคาดหมายว่าจะเกิดการสู้รบขนาดใหญ่กับพวกตอลิบานที่กระจายกำลังออกเป็นกลุ่มย่อยๆ และก่อนหน้านี้เคยปฏิบัติการได้อย่างเสรี ข่าวคราวอันเกรียวกราวเกี่ยวกับการตระเตรียมยุทธการอาจมีความหมายเท่ากับการท้าทายให้พวกตอลิบานมาสู้รบกันในสงครามครั้งใหญ่ ทว่าพวกตอลิบานทราบดีอยู่แล้วว่าการสู้รบแบบนั้นไม่ได้ผลดีกับพวกตนเลย เนื่องจากกองกำลังของพวกเขาเทียบไม่ได้กับหน่วยทหารของฝ่ายตะวันตก ในเรื่องของการประสานงานและกำลังในการยิงใส่เป้าหมาย โดยนี่เป็นบทเรียนที่พวกเขาเรียนรู้มาครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมา

มาร์จาห์ไม่ใช่นครใหญ่ แต่ก็ถือเป็นตัวเมืองที่ใหญ่พอดูทีเดียว ประชากรราว 80,000 คนของเมืองนี้ตกอยู่ใต้การปกครองของพวกตอลิบาน ซึ่งนับเป็นความอัปยศอดสูทั้งของกรุงคาบูลและของกรุงวอชิงตัน ยิ่งกว่านั้น ที่นี่ยังเป็นศูนย์กลางสำคัญของการค้าฝิ่น อันเป็นแหล่งรายได้ของพวกตอลิบาน ถึงแม้มักจะมีการกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างเกินความเป็นจริงก็ตามที ต่อไปเมืองนี้จะกลายเป็นศูนย์กลางการส่งกำลังบำรุงและการบริหารแผนงานต่างๆ เพื่อการต่อสู้เอาชนะการก่อความไม่สงบ แผนงานดังกล่าวนี้ก็มีอาทิเช่น การสร้างโรงเรียน, การขุดบ่อน้ำ, บริการทางการแพทย์และสัตวแพทย์, การสนับสนุนด้านการเกษตร เป็นต้น

ยุทธการคราวนี้ยังมุ่งที่จะสาธิตให้เห็นประสิทธิภาพในการสู้รบของกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน (Afghan National Army หรือ ANA) ฝ่ายตะวันตกได้ลงทุนลงแรงไปเป็นอันมากในการสร้าง ANA ขึ้นมา ทว่ายังคงรู้สึกผิดหวังกับผลงานของกองทัพนี้ในสนามรบ โดยที่การสู้รบดังกล่าวก็มีเพียงแค่การปะทะกันแบบประปรายไม่ต่อเนื่องกับพวกผู้ก่อความไม่สงบในท้องถิ่น ไปจนถึงการเจรจาทำข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่มคนเหล่านี้

บางทีจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดของยุทธการที่มาร์จาห์คราวนี้ น่าจะเป็นเรื่องการหยุดยั้งความคึกคักที่พวกตอลิบานสามารถสร้างขึ้นมาในตลอดช่วงหลายปีมานี้ ซึ่งทำให้ชาวอัฟกานิสถานจำนวนมากเชื่อว่า พวกตอลิบานกำลังจะกลับเข้าปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่งแล้ว และในไม่ช้าพวกเขาก็จะต้องทำความตกลงกับพวกนี้ ความสำเร็จของตอลิบานนั้นไม่ค่อยได้มาจากฝีมือในสนามรบของพวกเขา หากแต่เป็นเพราะความผิดพลาดอย่างร้ายกาจของกรุงคาบูล และความไขว้เขวเสียสมาธิของกรุงวอชิงตันเสียมากกว่า จนปล่อยให้อัฟกานิสถานเปิดโล่งโจ้งให้ตอลิบานสามารถเข้าทำการเจรจาตกลงกับบรรดาผู้นำชนเผ่ากลุ่มต่างๆ

ความสำเร็จในระยะหลายปีที่ผ่านมา ทำให้หลายๆ ส่วนในคณะผู้นำตอลิบานบังเกิดความมั่นใจว่า พวกเขาสามารถที่จะพิชิตพื้นที่ส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถานได้ เหมือนกับที่พวกเขาได้เคยทำในช่วงกลางทศวรรษ 1990 การรุกใหญ่เข้าไปในเมืองมาร์จาห์ โดยที่ประสานด้วยแผนงานต่อสู้เอาชนะการก่อความไม่สงบ และการดำเนินการทางการทูตกับชนเผ่าในที่อื่นๆ จะเป็นหนทางในการทำลายความมั่นใจดังกล่าว และบังคับให้พวกตอลิบานเข้าสู่การทำความตกลงรอมชอมด้วยการเจรจากัน

เท่าที่ดำเนินการมาจนถึงเวลานี้ การสู้รบยังค่อนข้างเบาบาง พวกนักรบตอลิบานส่วนใหญ่ได้ทิ้งเมืองไปแล้วขณะที่ฝ่ายตะวันตกอยู่ในช่วงตระเตรียมยุทธการ สำหรับนักรบตอลิบานที่เหลืออยู่ก็ดำเนินการต้านทานอยู่เป็นจุดๆ, จัดการวางวัตถุระเบิด, และเตรียมตัวที่จะหลอมละลายเข้ากับประชาชนถ้าหากจำเป็น พวกเขายังจะพยายามหาทางทำให้กำลังยิงของฝ่ายตะวันตกไปถูกเป้าหมายที่เป็นพลเรือน อันเป็นยุทธวิธีที่พวกตอลิบานพัฒนาขึ้นมาจนมีความเชี่ยวชาญตลอดหลายๆ ปีมานี้ และก็อาจส่งผลให้แผนการต่อสู้เอาชนะความไม่สงบที่จะดำเนินการในหลายๆ เดือนข้างหน้า ด้อยความสามารถลงไป ในการเข้ายึดครองจิตใจของประชาชนที่โศกเศร้าเสียใจเพราะสูญเสียญาติพี่น้อง

**ปฏิบัติการในการาจี**

ข่าวคราวที่น่าจะมีความสำคัญกว่านี้อีกมาจากนครการาจี เมืองท่าสำคัญของปากีสถาน ในระยะหลายปีที่ผ่านมา นครแห่งนี้เต็มไปด้วยพวกผู้ลี้ภัยชาวปาชตุน (Pashtun) ซึ่งเป็นชนเผ่าที่เป็นคนส่วนข้างมากในอัฟกานิสถาน เมืองนี้ยังเป็นที่หลบซ่อนของพวกผู้นำสำคัญของตอลิบาน ด้วยความหวาดกลัวการโจมตีจากอากาศยานไร้นักบิน คนเหล่านี้จึงได้หลบหนีออกมาจากเมืองแกวตตา (Quetta) ที่เป็นเมืองเอกของแคว้นบาโลจิสถาน (Balochistan) อันเป็นดินแดนของปากีสถานที่มีพรมแดนติดกับอัฟกานิถสาน ปรากฏว่า มุลลาห์ อับดุล กอนี บารอดาร์ (Mullah Abdul Ghani Baradar) ผู้นำหมายเลขสองรองจาก มุลลาห์ โอมาร์ (Mullah Omar) ในคณะผู้นำตอลิบาน ได้ถูกพวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของปากีสถานและอเมริกันจับกุมตัวได้ รายงานหลายกระแสบ่งชี้ว่าเขากำลังยอมให้ข่าวกรองต่างๆ ถึงแม้คาดหมายได้ว่าพวกเพื่อนรวมงานของเขาคงจะพากันเปลี่ยนที่พำนักกันแล้วตั้งแต่ที่เขาหายตัวไป

ถึงแม้การจับกุมบารอดาร์ ต้องถือเป็นเหตุการณ์อันน่ายินดีในการสู้รบกับพวกตอลิบาน แต่ความสำคัญของเขาก็ยังต่ำชั้นกว่าของมุลลาห์ โอมาร์ ทั้งนี้มุลลาห์ โอมาร์เป็นผู้นำขบวนการนี้ และสามารถจัดการแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาโดยอาศัยพลังอำนาจบารมีแห่งความเป็นผู้นำของเขา บางทีความสำคัญของบารอดาร์ยังอาจจะต่ำกว่าพวกหัวหน้านักรบตอลิบานระดับภูมิภาคด้วยซ้ำไป เนื่องจากหัวหน้านักรบเหล่านี้เป็นผู้สั่งการปฏิบัติการในท้องถิ่นต่างๆ ของอัฟกานิสถาน มีหัวหน้านักรบระดับภูมิภาคเหล่านี้บางคนถูกฆ่าตายไปทั้งในการซุ่มตีและการโจมตีของอากาศยานไร้นักบิน ทว่าก็มีคนใหม่เข้าแทนที่โดยไม่ได้ทำให้ขบวนการนี้เสียหายอะไรมากมาย นายพล ชาร์ลส์ เดอ โกล (Charles de Gaulle) ของฝรั่งเศส เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างหลักแหลมว่า ตามสุสานฝังศพล้วนเต็มไปด้วยคนที่เคยกล่าวกันว่าหาผู้อื่นมาทดแทนไม่ได้ ความจริงเช่นนี้น่าจะใช้ได้เมื่อพูดถึงคุกต่างๆ ของปากีสถานด้วย

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการจับตัวบารอดาร์ ก็คือการที่ฝ่ายข่าวกรองของปากีสถาน (กรมประมวลข่าวกรองกลางปากีสถาน Inter-Services Intelligence หรือ ISI) ดูเหมือนจะร่วมมือในการจับกุมคราวนี้ด้วย ก่อนหน้านี้ ISI มีแต่ช่วยเหลือการจับกุมหรือการสังหารบุคลากรระดับกลางของอัลกออิดะห์ ตลอดจนพวกผู้นำของกลุ่ม เตห์ริก-อี-ตอลิบาน ปากีสถาน (Tehrik-e-Taliban Pakistan กลุ่มตอลิบานส่วนที่เป็นชาวปากีสถาน) เท่านั้น สืบเนื่องจากพวกแรกเป็นพวกที่พอจะสละทิ้งไปได้ ขณะที่พวกหลังเป็นพวกที่ไร้ความฉลาดจนกระทั่งกล้าเปิดการโจมตีต่อทางการกรุงอิสลามาบัด ทว่าสำหรับพวกตอลิบานอัฟกานิสถานแล้ว ISI มีท่าทีให้การปกป้องคุ้มครองเรื่อยมา พวกนายพลปากีสถานมีความรู้สึกกันมานานแล้วว่า ตอลิบานเป็นพันธมิตรในการต่อต้านอินเดียที่เป็นศัตรูมานมนานของพวกเขา การที่ตอลิบานไม่พอใจอินเดีย ก็สืบเนื่องจากกรุงนิวเดลีกำลังขยายอิทธิพลของตนในภาคเหนือของอัฟกานิสถานนั่นเอง

ท่าทีของ ISI ที่ดูเหมือนจะเปลี่ยนไป บังเกิดขึ้นหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน, ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ พล.ร.อ.ไมก์ มุลเลน (Mike Mullen) และผู้บัญชาการกองบัญชาการทหารสหรัฐฯเขตกลาง (CENTCOM) พล.อ.เดวิด เพเทรอัส (David Petraeus) ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปากีสถาน โดยบ่อยครั้งกระทำอย่างเปิดเผยจนน่าประหลาดใจ พวกเขาระบุว่าทางการกรุงอิสลามาบัดไม่ค่อยได้ให้ความช่วยเหลืออย่างที่ควรจะเป็น ในการค้นหาพวกผู้นำตอลิบาน ซึ่งเข้าไปพำนักหลบภัยอย่างสบายในปากีสถาน ตั้งแต่ที่คนเหล่านี้ถูกขับไล่ออกจากอัฟกานิสถานในปี 2001

บางทีอาจจะมีแรงกดดันอย่างเป็นการภายในจากจีนด้วย ถึงแม้จีนเป็นพันธมิตรกับปากีสถานด้วยการที่ต่างฝ่ายต่างก็เป็นปรปักษ์ต่ออินเดีย แต่ปักกิ่งก็รู้สึกวิตกต่อการกระจายตัวของลัทธิใช้กำลังรุนแรงของพวกอิสลามิสต์ ซึ่งกำลังแพร่ขยายจากศูนย์ของพวกนี้ในปากีสถานไปยังมณฑลทางภาคตะวันตกของจีน ภาคตะวันตกของแดนมังกรมีประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นต้นว่า ชนชาติอุยกูร์ ซึ่งกำลังไม่พอใจการปกครองของปักกิ่ง พวกเขารู้สึกว่าปักกิ่งนั้นทั้งอยู่ห่างไกลและทั้งไม่เข้าใจประเด็นปัญหาอันละเอียดอ่อนไหวของพวกเขา มีรายงานด้วยว่ามีพวกนักรบอุยกูร์ได้เข้าร่วมอยู่ในกองกำลังอัลกออิดะห์ตามแนวชายแดนอัฟกานิสถาน-ปากีสถาน ในบริเวณภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน คนเหล่านี้กำลังฝึกฝนตนเองให้เกิดทักษะที่พวกเขาอาจจะนำกลับไปใช้ที่บ้านได้

ปากีสถานอาจจะคิดคำนวณเสร็จสรรพแล้วว่า การให้ความสนับสนุนแก่ตอลิบานของตน กำลังเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับสหรัฐฯและจีน ซึ่งเป็นผู้จัดหาจัดส่งให้ทั้งอาวุธทันสมัย, ความช่วยเหลืออันฟุ่มเฟือย, และนโยบายทางการค้าที่แสนอะลุ่มอล่วย ทว่าการจับกุมบารอดาร์ ยังไม่ได้เป็นหลักฐานแต่อย่างใดว่า ทางการกรุงอิสลามาบัดมีการประเมินปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์กันใหม่แล้ว

ปากีสถานน่าที่จะมอง (และก็ดูจะเป็นการมองที่ถูกต้องด้วย) ว่าสหรัฐฯและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) จะต้องถอนกองทหารของพวกเขาส่วนใหญ่ออกไปจากอัฟกานิสถานในระยะไม่กี่ปีข้างหน้า โดยที่การประเมินเช่นนี้ยิ่งดูมีความเป็นไปได้มากขึ้นอีก จากการที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แถลงแสดงเจตนารมณ์ที่จะเริ่มการถอนตัวออกไปตั้งแต่ปี 2011 บารอดาร์จึงเป็นแค่ของขวัญแสดงการทรยศแบบพอเป็นพิธี เป็นเพียงตัวจำนำที่ถูกเซ่นสังเวย เพื่อบรรเทาความหงุดหงิดผิดหวังของชาวอเมริกันที่มีต่อสงครามซึ่งดูยากที่จะเอาชนะได้

อย่างไรก็ดี การจับกุมบารอดาร์ ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของฝ่ายปากีสถานที่จะบีบคั้นพวกตอลิบาน โดยมุ่งทำให้ตอลิบานบังเกิดความหวาดหวั่นเกี่ยวกับที่พักพิงหลบภัยและการสนับสนุนของพวกตน และพรักพร้อมยิ่งขึ้นที่จะเข้าสู่การตกลงรอมชอมกันด้วยการเจรจา ทั้งนี้ปากีสถานมองว่าในการเจรจาเช่นนั้น ตนเองสามารถที่จะแสดงบทบาทอันสำคัญได้ ตอลิบานจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีไม่กี่ตำแหน่งในคณะรัฐบาลอัฟกานิสถานที่กรุงคาบูล และสามารถควบคุมพื้นที่ส่วนต่างๆ ในเขตของชาวปาชตุน จากมุมมองของเหล่านายพลชาวปากีสถานแล้ว พื้นที่เหล่านี้จะกลายเป็นพื้นที่เป็นกลาง ที่สามารถใช้ในการป้องกันปากีสถานเองได้เป็นอย่างดี

เห็นกันว่าภายในพวกตอลิบานนั้นมีความแตกแยกกัน เกี่ยวกับเรื่องการทำความตกลงรอมชอมด้วยการเจรจา บางส่วนมองฝ่ายตะวันตกว่าแม้ยังทรงอำนาจทว่าก็กำลังอ่อนแอลงทุกขณะ แต่พวกเขาก็รู้ด้วยว่าเบื้องหลังถัดจากฝ่ายตะวันตกไปไม่ไกลนัก คือพวกมหาอำนาจระดับภูมิภาค โดยมีทั้งอินเดีย, อิหร่าน, และรัสเซีย พวกนี้พรักพร้อมจะให้การสนับสนุนผู้คนทางภาคเหนือของอัฟกานิสถาน และสู้รบกับพวกตอลิบานอย่างไม่รู้สิ้นสุด จวบจนกระทั่งถึงชาวอัฟกานิสถานคนสุดท้ายทีเดียวถ้าหากจำเป็น ส่วนคนอื่นๆ ในหมู่ตอลิบานกำลังรู้สึกตัวลอยด้วยความปีติยินดี (บางทีก็เป็นไปอย่างไม่มีเหตุผลนัก) จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ นี้ และไม่ค่อยเห็นดีเห็นงามกับการเข้าร่วมการเจรจา โดยต้องการที่จะหาทางพิชิตครอบครองให้ได้ทั่วประเทศมากกว่า

ผู้นำตอลิบาน มุลลาห์ โอมาร์ กล่าวยืนยันเรื่อยมาว่า เขาจะไม่เจรจาจนกว่าทหารต่างชาติทั้งหมดจะถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานแล้วเท่านั้น ทว่าเขาก็มีส่วนผสมอย่างประหลาดๆ ระหว่างความเชื่อความศรัทธาอันลี้ลับ กับความฉลาดหลักแหลมทางการเมือง เป็นที่ทราบกันดีว่าเขาสามารถทำความตกลงแก้ไขข้อพิพาทสำคัญๆ ในทางยุทธศาสตร์และในทางการเมือง ด้วยการใช้พลังอำนาจบารมีของความเป็นผู้นำของเขาเอง ถ้าหากเขาถูกจับกุมหรือเสียชีวิตไป นั่นย่อมสร้างความแตกร้าวขึ้นในขบวนการ และขับเคลื่อนหลายๆ ภาคส่วนให้มุ่งไปสู่การทำความตกลงรอมชอมกันด้วยการเจรจา

ไบรอัน เอ็ม ดาวนิง เป็นนักวิเคราะห์ทางการเมือง/การทหาร และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Military Revolution and Political Change and The Paths of Glory: War and Social Change in America from the Great War to Vietnam สามารถติดต่อเขาได้ที่ brianmdowning@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น