เอเอฟพี – ในขณะที่พวกผู้นำโลกกำลังมารวมตัวกันที่กรุงโคเปนเฮเก้น เพื่อเข็นข้อตกลงแก้ไขปัญหาโลกร้อนฉบับใหม่ออกมาให้ได้นั้น
ใครจะรู้บ้างว่า ณ มุมหนึ่งของแดนมังกร ซี่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังมีชีวิตเสี่ยงกับความเป็นความตาย เพราะเต้นเหย็ง ๆ ต่อสู้กับนายทุนเจ้าของโรงงาน ที่ปล่อยมลพิษ ทำลายสิ่งแวดล้อม
การต่อสู้ของเถียน กุ้ยหรง และสมาคมอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งเมืองสินเซียง ซึ่งเป็นพลพรรคของเธอในมณฑลเหอหนันทางภาคกลางของจีน มีส่วนทำให้โรงงานปล่อยมลพิษกว่า 100 แห่งต้องจบเห่ ทว่าความสำเร็จดังกล่าว กลับทำให้หญิงวัย 59 ปี นิสัยร่าเริงผู้นี้ ไม่มีเตียงนอน ที่เป็นของตัวเองอีกต่อไป
“ฉันกลัวค่ะ ไม่กล้านอนเป็นที่ คืนนี้ฉันจะค้างที่บ้านลูกชาย คืนพรุ่งนี้ที่บ้านลูกสาว หรือไม่ก็นอนที่สมาคม” เถียนเล่าชีวิตปิดทองหลังพระของตนให้ผู้สื่อข่าวฟัง
“มีโทรศัพท์มาขู่พวกเราอยู่เรื่อย บางทีพวกอาสาสมัครได้รับโทรศัพท์ที่บ้านตอนดึก” ซึ่งพวกที่โทรมาน่าจะเป็นแก๊งคนร้าย ที่เจ้าของโรงงานจ้างมา
ยอดหญิงนักสู้เล่าว่า เธอตัดสินใจลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม หลังจากผู้คน ที่รู้จัก ได้ล้มตายลงด้วยโรค ที่เถียนมั่นใจว่า อากาศและน้ำปนเปื้อนมลพิษคือสื่อมรณะ
“มันมีสาเหตุมาจากมลพิษในน้ำและอากาศชัด ๆ พวกชาวบ้านจะใช้น้ำเสียจากโรงงานมารดพืชไร่” เธอเล่า
“ชาวบ้านพากันตายด้วยโรคมะเร็งตับ, มะเร็งปอด… ป่วยไม่สบายเกี่ยวกับการหายใจ” เธอเสริม
เส้นโลหิตในสมองตีบก็เป็นอีกอาการ ที่พบบ่อย
เถียนจับงานสิ่งแวดล้อมงานแรกในปี 2541 คืองานนำแบ็ตเตอรี่ใช้แล้ว มาผ่านกระบวนการ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จากนั้น รวบรวมอาสาสมัครก่อตั้งสมาคมในปี2544
ภารกิจของหญิงเหล็กและพลพรรคก็คือการถ่ายรูปของเสีย ที่โรงงานปล่อยทิ้ง นำน้ำในแม่น้ำที่ปนเปื้อนมาทดสอบ แล้วส่งหลักฐานไปให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น จัดการต่อไป นอกจากนั้น ยังช่วยทางการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ที่หมู่บ้านโหว ใกล้กับเมืองสินเซียง คุณลุงจู จิ่นซิน วัย 62 ปี ชี้ให้ดูจุดรอยแผลเป็นหลายแห่งตามร่างกาย หลังจากตัดเนื้องอก ที่ขึ้นตะปุ่มตะป่ำออกไปแล้ว
แม้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความเจ็บตายของชาวบ้านเกี่ยวข้องกับมลพิษ แต่พวกเขาก็ชี้ให้ดูแหล่งน้ำสกปรก และโรงงานผลิตยาฆ่าแมลงและสารเคมี ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ
“โรงงานเคมีปล่อยควัน กลิ่นเหม็นฉุน จนชาวบ้านมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ” คุณลุงจูเล่า
แต่ทางการก็ใช่ว่าจะไม่ดูดำดูดี เพราะในปี2548 หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ก็ได้เข้ามาช่วยขุดบ่อน้ำสำหรับดื่มอย่างปลอดภัย
“มันลึกตั้ง 156 เมตรแน่ะคุณ บ่อที่ครอบครัวชาวบ้านขุดกันน่ะ ลึกแค่ 30 เมตรเท่านั้น” แกว่า
โรงงานเคมีรายนั้นยังอุตสาห์หยุดปล่อยควันในช่วงกลางวันด้วยให้อีกด้วย แต่พอตกกลางคืนก็เริ่มเดินเครื่องอีกแล้ว
“งานของเถียนมีความสำคัญมากนะครับ แล้วก็ยากลำบาก” คุณลุงจูให้ความเห็น
“ พวกนั้น (เจ้าของโรงงาน) ต้องการกอบโกยเงิน แต่เถียนไม่ต้องการให้พวกเขากอบโกยเงิน… แกต้องการชำระล้างมลภาวะ”
ที่หมู่บ้านฝานหลิง ซึ่งเถียนเคยเป็นนายกเทศมนตรีอยู่นาน 4 ปี จนถึงปี 2551 ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากจากโรงงานเคมีรายหนึ่ง
“เรากินข้าวโพด และข้าวสาลี ที่ปลูกในดินใกล้โรงงานไม่ได้ ก็เลยเอาไปขาย” ชาวบ้าน ซึ่งไม่ยอมเปิดเผยชื่อคนหนึ่ง เล่า
แต่เถียนบอกว่า สภาพแวดล้อมในแถบนั้นปรับปรุงดีขึ้นมากแล้ว จากในช่วงทศวรรษ 1990 ที่แม่น้ำใกล้เมืองสินเซียงดำปี๋ เพราะของเสียจากโรงงานและบ้านเรือน
รายงานของสำนักข่าวซินหัวเมื่อเดือนกรกฎาคมระบุว่า นับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา มีโรงงานปล่อยมลพิษกว่า 500 แห่งต้องปิดกิจการไป โรงงานเหล่านี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำไห และแม่น้ำเหลือง ซึ่งไหลผ่านเมืองสินเซียง
แต่ภารกิจของเถียนและเหล่าทหารเอกยังไม่จบสิ้น เพราะยังมีโรงงานประเภทปากว่าตาขยิบ ที่ต้องจับให้ได้คาหนังคาเขา
เช่นโรงงานถลุงแร่รายหนึ่ง ปล่อยควันเหม็นสุดทนทาน
เถียนแอบย่องลัดเลาะทุ่งข้าวสาลี ไปยังด้านหลังของโรงงานนั้น แล้วปีนข้ามกำแพงเล็ก ๆ ไต่เนินเขาสูงชันขึ้นไป
ที่ซ่อนอยู่ด้านหลังโรงงาน มันคือบ่อน้ำสีดำขนาดใหญ่ ฟองสีขาวเหมือนหน้าขนมเค้กลอยปุด ๆ เหนือผิวน้ำ เจ้าฟองสีขาวนี้ไหลพลั่ก ๆ ออกจากผนังของโรงงาน ก่อนจะไหลออกไปสู่แม่น้ำสายใหญ่
อาสาสมัครคนหนึ่งฉวยขวดเบียร์ ตักน้ำในบ่อ เพื่อเอาไปวิเคราะห์
“งานมักจะยากเอาการอยู่” เถียนพูดถึงงานของเธอ
“โรงงานบางแห่งจะเลี้ยงหมาเอาไว้ แล้วปล่อยมาข่มขวัญฉัน แต่เมื่อโรงงานปล่อยมลพิษปิดซะได้ ฉันก็มีความสุขแล้วค่ะ” เถียนกล่าวในตอนท้าย