โดยรัชญา จันทะรัง
''...การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องปิดว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้าไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามสมบูรณ์ไม่ได้...'' พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2506
ดังนั้น บ้านเมืองของเราจะสะอาดสวยงามได้ก็ย่อมต้องมีผู้ปิดทองหลังพระ ซึ่ง“คนงานกวาดขยะ” ที่มักถูกลืม ถูกมองข้าม ไม่มีใครนึกถึงก็ไม่ต่างอะไรกับผู้ปิดทองหลังพระ ทั้งที่จริงแล้วเขาเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้กรุงเทพมหานครสะอาด สวยงาม สมกับเป็นเมืองฟ้าอมร
นกแก้ว จงเอี้ยง ในวัย 56 ปี คนงานกวาด ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตหลักสี่ เล่าให้ฟังว่า เริ่มทำงานในตำแหน่งคนงานกวาดของเขตหลักสี่ เมื่อปี พ.ศ.2535 ตอนที่มาสมัครเป็นคนกวาดถนนไม่เคยรู้สึกรังเกียจงานหรือรู้สึกต่ำต้อย เพราะคิดว่าเป็นงานที่สุจริต หาเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ ตรงกันข้ามกลับภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองดูสะอาดเรียบร้อย สามีและลูกก็ไม่เคยคิดว่าตนเองทำงานต่ำต้อย
“ลูกเคยเล่าให้ฟังว่าเพื่อนๆ เคยถามว่าแม่ทำงานอะไร ลูกป้าก็ตอบอย่างภาคภูมิใจว่า แม่ทำงาน กทม. ที่สำนักงานเขตหลักสี่ เป็นคนกวาดถนน” ป้านกแก้วเล่าให้ฟังด้วยใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความสุข
ป้านกแก้ว เล่าต่อว่า ตั้งแต่ทำงานเป็นคนงานกวาดมาถึงปัจจุบันร่วม 20 ปี มีเหตุการณ์ที่ตื่นเต้นครั้งหนึ่งคือ เก็บเช็คเงินสดได้เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ปีที่แล้ว ขณะที่กำลังกวาดถนนอยู่บริเวณหน้าศูนย์อะไหล่เชียงกง หลักสี่ เวลาประมาณ 05.30 น.โดยเห็นถุงเอกสารสีน้ำตาลตกอยู่ ในตอนแรกตั้งใจจะเอาไปทิ้งตามปกติแต่ถุงมันหนาเหมือนมีเอกสารจำนวนมากอยู่ข้างใน เลยเปิดออกดู ก็เห็นเช็คประมาณ 2 ล้านกว่า จึงแจ้งมาที่หัวหน้า ถามว่าจะให้ทำอย่างไรดี หัวหน้าก็ให้ตนเข้าไปหาที่สำนักงานเขต และเป็นธุระติดตามหาเจ้าของเช็คจนเจอ พร้อมทั้งรายงานหัวหน้าฝ่าย และผอ.เขตฯ ในที่สุดก็คืนเจ้าของได้สำเร็จ
“ป้าภูมิใจตอนที่เห็นหน้าตาเจ้าของเช็ครู้สึกได้ว่าเขาดีใจมากที่ได้เช็คคืน ขอบคุณป้าใหญ่เลย และจากเหตุการณ์นั้นทำให้ป้าได้รับประกาศเกียรติคุณจากผู้ว่าฯ อภิรักษ์(อภิรักษ์ โกษะโยธิน) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แต่ป้าว่าอะไรก็ไม่น่าตื่นเต้นดีใจประทับใจกว่าที่ได้รับรางวัลหม่อมเจ้างามจิตต์ บุรฉัตร ประจำปี 2552 ในฐานะผู้บำเพ็ญประโยชน์ดีเด่นแก่ประชาชนและสังคม จากพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ทั้งลูกและสามีป้าก็พลอยตื่นเต้นและไปด้วย ป้ารู้สึกซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่านมาก”
ไม่ต่างจาก "ใบ ศรีโยธี" ชาว จ.ร้อยเอ็ด ที่ดั้นด้นมาหางานทำในเมืองหลวงด้วยหวังที่จะหลุดพ้นจากความแร้นแค้นในชีวิต
ลุงใบ ในวัย 55 ปี เล่าว่า ทำงานเป็นคนงานกวาดขยะอยู่ที่สำนักงานเขตบางนามา 12 ปีแล้ว โดยเพื่อนเป็นคนแนะนำให้มาสมัครงานในตำแหน่งนี้ เพราะทำงานเป็นคนกวาดอยู่ก่อน ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาเป็นคนกวาดขยะ พักอาศัยอยู่ที่ จ.ร้อยเอ็ด ประกอบอาชีพทำนา แต่เมื่อบ้านนอกแล้งก็เลยต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ กระทั่งมาสมัครเป็นคนงานกวาดขยะของ กทม.จนถึงทุกวันนี้
“ลุงไม่ได้คิดว่างานนี้มันเป็นงานที่ต่ำต้อยนะ ลุงสู้หมดทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นงานอะไร หนักแค่ไหน เงินเดือนครั้งแรกที่ลุงได้ 4,100 บาท จนปัจจุบัน 8,780 บาท ตั้งแต่มาเป็นคนงานกวาดขยะลูกๆ ของลุง 4 คนก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเขารู้ว่าพ่อเรียนจบแค่ ป.4 หางานอะไรทำก็ไม่ได้ เขาก็เลยสนับสนุน เขาไม่เคยมาบ่นน้อยใจหรือบ่นว่าอายที่มีพ่อทำอาชีพนี้เลย ตรงกันข้ามเขากลับสนับสนุนพ่อเพราะเป็นอาชีพสุจริตไม่ได้ไปคดโกงใคร”
จากการเป็นผู้ก่อการดีส่งผลให้ลุงใบ ได้รับผลแห่งกรรมดีด้วยการได้รับการเสนอชื่อจากทางสำนักงานเขตบางนาให้เข้ารับรางวัลหม่อมเจ้างามจิตต์ บุรฉัตร ประจำปี พ.ศ.2552 ในฐานะผู้บำเพ็ญประโยชน์ดีเด่นแก่ประชาชนและสังคม เฉกเช่นเดียวกับป้านกแก้ว คนงานกวาดขยะจากเขตหลักสี่
“12 ปีที่ผ่านมารู้สึกภูมิใจที่ทำอาชีพนี้ ไม่ว่าคนอื่นจะมองอย่างไร ไม่ท้อ ไม่เหนื่อยจะทำไปเรื่อยๆ เพราะชอบงานนี้ ทำมาหลายปีแล้วมันผูกพัน อาชีพคนกวาดถนนเป็นอาชีพที่ทำให้บ้านเมืองของเราสะอาด ดีใจที่ได้รับรางวัลนี้ ที่บ้านลูกๆ ดีใจทุกคน” ลุงใบเล่าด้วยใบหน้าที่ปลื้มปิติ
ลุงใบและป้านกแก้ว จึงเปรียบเสมือนผู้ปิดทองหลังพระ ที่ไม่จำเป็นป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ว่าเขาเป็นคนทำ ซึ่งไม่เหมือนคนเราในทุกวันนี้ที่ต่างชิงดีชิงเด่นแย่งกันมีหน้ามีตาในว่าจะอยู่ในชนชั้นใด จนทำให้คิดได้ว่าหากทุกคนน้อมนำพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติตามบ้านเมืองของเราคงสงบสุขมากกว่านี้เป็นแน่แท้