xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ นัดถกร่างงบรายจ่ายปี 53 พรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วุฒิฯ เตรียมถกงบรายจ่ายปี 53 หลัง กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่าง ติงจัดทำงบยังซ้ำซ้อน-ขาดภาพรวมแผนงานลงทุนเหมือนปี 52

วันนี้ (13 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมวุฒิสภา วันที่ 14 กันยายน เวลา 10.00 น.จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว โดยในส่วนวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาไปควบคู่กัน และเสนอรายงานเพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณา มีข้อมูลที่น่าสนใจโดย งบประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ปรับลด 22,505,238,100 บาท จัดสรรเพิ่มให้ส่วนราชการตามที่ครม.เสนอตามความเหมาะสมและจำเป็นจำนวน 22,505,238,100 บาท แบ่งเป็นที่ ครม.เสนอ 22,215,857,100 บาท หน่วยงานเสนอคณะกรรมาธิการโดยตรงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 289,381,000 บาท ฉะนั้น คงตั้งงบประมาณไว้ที่ 1.7 ล้านล้านบาท

ส่วนข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างของวุฒิสภา แบ่งเป็น 2 ส่วน จำนวน 19 หน้า โดยในส่วนแรก นโยบายและการบริหารจัดการงบประมาณปี 53 คณะกรรมาธิการมีข้อสังเกตว่า การจัดทำงบประมาณ ยังขาดการบูรณาการ เหมือนปี 52 ที่เคยตั้งข้อสังเกตไปแล้ว อาทิ งบด้านการวิจัยของหน่วยงานต่างๆ งบการพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กระจายทุกกระทรวง กรม ที่ขาดแผนรวมที่จะเป็นตัวเชื่อมให้เห็นภาพรวมของการพัฒนา นอกจากนี้ การจัดทำงบปี 53 ยังขาดภาพรวมของแผนงานและงบลงทุนของหน่วยงานสำคัญ เพราะงบลงทุนส่วนใหญ่ไปอยู่ใน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 2552 และร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2552 และยังมีปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดภารกิจที่ต้องถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ 2542

ส่วนที่ 2 การจัดสรรงบประมาณ จำแนกตามกระทรวง 1.สำนักนายกรัฐมนตรี อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคควรกำหนดมาตรการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม โดยการประชาสัมพันธ์ถึงอำนาจหน้าที่ และแนวทางการให้บริการประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคสินค้าต่างๆ, มีการตั้งงบประมาณในลักษณะกองทุนเป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาลหลายกองทุนผ่านหลายหน่วยงาน สำนักเลขาฯ จึงควรกำหนดมาตรการการจัดตั้งกองทุนให้เข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานของกองทุนต่างๆ ซึ่งจะเป็นการบูรณาการดำเนินงานและงบประมาณ และควรกำหนดมาตรการการตรวจสอบ ติดตาม การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องศึกษาถึงสภาพปัญหาของเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อจัดทำแผนแม่บท ให้มีความสอดคล้องกับปัญหาดังกล่าว

2.กระทรวงกลาโหม ต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่ทหาร พัฒนาทหารเกณฑ์ การสนับสนุนงบในด้านพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้มากขึ้น 3.กระทรวงการคลัง ได้แก่ กรมสรรพากรต้องมีนโยบายเพิ่มการจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น โดยให้ร้านค้าปลีกเข้าสู่ระบบการจัดเก็บภาษี นอกจากนี้ ต้องวางแนวทางปฏิบัติการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเพิ่มรายได้ภาครัฐ ปรับแนวทางการปฏิบัติงานด้านการจัดเก็บภาษีจากกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ,การวางระบบและดำเนินการตรวจสอบการนำเงินกู้ไปใช้จ่ายตามโครงการต่างๆ ,การเบิกจ่ายงบอย่างมี, นโยบายการบริหารจัดการที่ดินว่างเปล่าที่อยู่ในการดูแลของส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ, การปฏิรูประบบสวัสดิการการักษาพยาบาลของข้าราชการโดยรวม

4.กระทรวงการต่างประเทศ ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสภาพปัญหาการเมืองที่ประเทศไทยกำลังประสบให้แก่นานาประเทศ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ทั้งภาคการลงทุนและการท่องเที่ยว, การให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ

5.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ควรตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวในต่างประเทศที่สำคัญบางแห่งเพิ่มขึ้น การจัดทำแผนบูรณาการการจัดการท่องเที่ยวในประเทศรูปแบบต่างๆที่ครบวงจร ควรส่งเสริมศูนย์ฝึกนักกีฬาของไทยให้เป็นศูนย์ฝึกกีฬาที่ครบวงจร 6.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรมีการบูรณาการงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาของเด็กและเยาวชนด้อยคุณภาพอย่างเป็นระบบโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือโครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ควรบัญญัติเป็นกฎหมายรองรับ การส่งเสริม พิทักษ์สิทธิของคน

7.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรร่วมมือกับประทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการจัดหาตลาดและพัฒนารูปแบบการบรรจุหีบห่อของผลไม้ สนับสนุนการทำเกษตรปลอดสารพิษ รวมถึงช่วยเหลือเกษตกรที่ประสบอุทกภัย การร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและมีหลักประกันการถือครองที่ดินให้แก่เกษตรกรในอนาคต สนับสนุนประชาชนให้มีส่วนร่วมในการกำหนดราคาและหามาตรการป้องกันการกดราคาผลผลิตการเกษตรจากพ่อค้าคนกลาง การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ

8.กระทรวงคมนาคม การดำเนินโครงการก่อสร้างระบบขนส่งของประเทศ ต้องเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลตามที่แถงไว้ต่อรัฐสภา การพัฒนาการขนส่งทางบก ระบบราง และการขนส่งทางน้ำควรจะต้องมีการศึกษาความเหมาะสม 9.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำในลักษณะแก้มลิงตามแหล่งน้ำต่างๆ รวมทั้งต้องตรวจสอบและติดตามการจัดสรรงบประมาณในการขุดบ่อน้ำในพื้นที่ทั่วประเทศ 10.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ควรประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวกับโครงการจัดตั้งศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ บูรณาการจัดทำสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำนักงานสถิติแห่งชาติควรขยายขอบข่ายภารกิจในการจัดทำข้อมูลต่างๆ และเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวกับข้อมูลของหน่วยงานอื่นๆ

11.กระทรวงพลังงาน ควรมีแนวทางส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานทดแทน 12.กระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ การส่งออกพ่อครัวไทย วัตถุดิบ การรักษาตลาดเดิม ขยายตลาดใหม่ การบัญญัติกฎหมายเพื่อควบคุมกิจการค้าปลีกรายใหญ่ ป้องกันการค้าปลีกรายย่อยของไทย 13.กระทรวงมหาดไทย ได้แก่ การถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การปรับปรุงระบบการคลังท้องถิ่นและพัฒนาศักยภาพการจัดเก็บรายได้

14.กระทรวงยุติธรรม ต้องมีส่วนร่วมในการตรากฎหมาย กรมสอบสวนคดีพิเศษและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน 15.กระทรวงแรงงาน ต้องมีมาตรการป้องกันแรงงานไทยถูกหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ ต้องมีมาตรการรองรับเพื่อให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 16.กระทรวงวัฒนธรรม ต้องบูรณาการด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับหน่วยงานอื่นๆ สร้างค่านิยมที่ถูกต้องเกียวกับเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ

17.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควรมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ ให้ประชาชนรับรู้อย่างกว้างขวาง มีการบูรณาการระบการทำงานเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ควรเน้นการสนับสนุนเทคโนโลยี และความรู้ต่างๆ แก่ผู้ประกอบการ 18.กระทรวงศึกษาธิการ ต้องเร่งพิจารณาทบทวนเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดคุณภาพของระบบการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นให้สถาบันการศึกษาเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน สร้างค่านิยมพลเมืองดี

19.กระทรวงสาธารณสุข ต้องเร่งการผลิตบุคลากรให้เพียงพอต่อการปฏิบติงานตามนโยบายของรัฐบาล จัดอบรมให้ความรู้เพิ่มศักยภาพและความสามารถในการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 20.กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการพิจารณาต่ออายุสัปทานการทำเหมืองแร่ให้แก่เอกชน ต้องนำผลการวิจัยเกียวกับผลกระทบของอุตสาหกรรมต่อสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่มาศึกษาวิเคราะห์และเปรียบเทียบถึงข้อดี ข้อเสียต่างๆ 21.ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ต้องกำหนดนโยบายให้มีการจัดตั้งศาลพิเศษแผนกคดีฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้มีความเหมาะสมกับภารกิจ รวมทั้งควรเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่ข้าราชการตำรวจ 22.หน่วยงานของศาล สำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลปกครองต้องประสานความร่วมมือแบบบูรณาการเรื่องเขตอำนาจศาลให้ชัดเจน

23.หน่วยงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการสูงสุดต้องประสานความร่วมมือกับเนติบัณฑิตยสภา สถาทนายความ และศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย เพื่อรวศูนย์การทำงานในการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแบบบูรณาการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้องจัดสรรงบประมาณและกำลังคน สนับสนุนการดำเนินการด้านการป้องกันให้มากกว่าการปราบปรามอย่างมีนัยสำคัญ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องส่งเสริมให้ความรู้ ความเข้าใจด้านประชาธิปไตยแก่ประชาชนทั่วไป 24.จังหวัดและกลุ่มจังหวัด การจัดทำนโยบายและแผนผังของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อศึกษาปัญหาของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้ครอบคลุมทุกด้าน จัดทำแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น