xs
xsm
sm
md
lg

“ปู่จิ้น” นำทัพเชียร์ “ห้อย” ถึงบันไดศาล ไม่หวั่นเผชิญหน้าแดงทรพี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชวรัตน์ ชาญวีรกูล
“ชวรัตน์” เผยตัวเลขคัดค้านถวายฎีกา 10 วันยอดทะลุเกินหลัก 7 ล้านแล้ว ยืนยันพื้นที่ 3 จังหวัดสีน้ำเงิน ไม่ได้เกณฑ์คนมาเซ็นชื่อคัดค้านแน่ แจงจะไม่นำรายชื่อผู้คัดค้านขึ้นถวายคู่เสื้อแดง ระบุ 17 ส.ค.จะไปให้กำลังใจ “อาจารย์ใหญ่เนวิน” ด้วยตนเองถึงบันไดศาล ไม่หวั่นปะทะม็อบถวายฎีกาเสื้อแดง

วันนี้ (14 ส.ค.) ที่กระทรวงมหาดไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย (มท.2) ได้ประชุมกระทรวงมหาดไทยครั้งที่ 7 ประจำเดือนสิงหาคม ร่วมกับผู้บริหารระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง อธิบดี หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยมีการถ่ายทอดผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ

โดยนายชวรัตน์กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนมีความภูมิใจที่ได้มาอยู่กระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่เพราะเป็นกระทรวงใหญ่ แต่เป็นเพราะเป็นไม้ผลัดแรกในการทำงานให้รัฐบาลและกระทรวงอื่นๆ เพราะเรามีกลไกจนถึงระดับรากหญ้า และเราอยู่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ตนได้มอบนโยบายเมื่อวันที่ 8 ม.ค.52 ที่สำคัญคือ การปกป้องสถาบันของชาติ ได้ฝากไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ในฐานะพ่อบ้านพ่อเมือง ช่วยประชุมชี้แจงข้อมูลถูกแต่แก่ประชาชน เกี่ยวกับการล่ารายชื่อถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ว่าไม่เป็นไปตามกระบวนวิธีทางกฎหมาย ม.259-261 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฉบับที่ 23 พ.ศ.2548 หมิ่นเหม่ต่อการสร้างความระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท อีกทั้งผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายท่าน คณาจารย์ นักวิชาการ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ถูกต้อง ซึ่งการดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ กระทรวงมหาดไทยจะเดินหน้าต่อไป ลงลึกถึงระดับตำบล หมู่บ้าน และครัวเรือน

นายชวรัตน์กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องตัวเลข ผู้มาลงชื่อคัดค้าน หรือถอนชื่อถวายฎีกา เรามีเป้าหมายในการทำความเข้าใจในสิ่งถูกต้องแก่ประชาชน แต่การทำงานจะต้องมีผลที่วัดได้ ซึ่งรายงานของผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดก็เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.จนถึงเมื่อวันที่ 13 ส.ค. ทุกจังหวัดยกเว้น กทม.ได้รายงานตัวเลขผู้มาลงชื่อคัดค้านถวายฎีกา จำนวน 7,133,652 คน

รมว.มหาดไทย กล่าวว่า รายชื่อประชาชนที่ยื่นค้านและถอนฎีกา แบ่งเป็นภาคเหนือ 1,078,682 คน ภาคกลางและภาคตะวันออก 1,746,236 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,541,095 คน ภาคใต้ 767,639 คน โดยมีจังหวัดที่สามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมาคัดค้าน หรือถอนชื่อถวายฎีกา เป็นจำนวนมาก 3 จังหวัดแรก คือ บุรีรัมย์ 588,099 คน นครราชสีมา 400,404 คน สุรินทร์ 369,834 คน ตนขอยกย่องชมเชยถึงความขยันขันแข็งของผู้ว่าทั้ง 3 จังหวัด

นายชวรัตน์กล่าวต่อว่า ในการทำงานในทุกๆ เรื่อง ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นเสมอ อย่างเช่นในเรื่องนี้ ตนเปรียบเหมือนแม่ทัพสมัยโบราณ เดินนำหน้าพวกท่านเข้ามาต่อสู้เพื่อสถาบันที่เราเคารพเทิดทูน มิให้ถูกล่วงละเมิด มีหลายคนบอกว่า จะไปฟ้องศาลปกครอง หรือแจ้งความดำเนินคดีกับตน และนายบุญจง และนายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ก็ไม่เป็นไร เมื่อท่านฟ้องมา ตนก็ไปแก้คดีคดี เป็นเรื่องตามกระบวนการยุติธรรม ไม่กลัวอะไร สำหรับผู้ว่าฯ มีหลายจังหวัดที่ตนเข้าใจว่า มีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ ขอให้ช่วยถ่ายทอดปัญหาอุปสรรคของท่านให้ที่ประชุมได้ทราบ เพื่อจะหาทางแก้ปัญหา ส่วนทาง กทม.ก็มีประชาชนสอบถามมาที่ศูนย์ดำรงธรรมจำนวนมากว่าจะลงชื่อได้ที่ใดบ้าง ขอให้ทาง กทม.ชี้แจงให้ประชาชนรับทราบด้วย ทั้งนี้ ในส่วนกลาง กระทรวงมหาดไทยจะได้เรียนเชิญ ศ.ดร. จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ความรู้ความเข้าใจแก่ข้าราชการในส่วนกลางและภูมิภาค

ด้าน นายบุญจงกล่าวว่า ผู้ว่าฯ และข้าราชการทุกพื้นที่ทั้งหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดต้องทำความเข้าใจประชาชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจังหวัดไหนจะมีคนคัดค้านเป็นจำนวนมากหรือจำนวนน้อยด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อยากให้อธิบายข้อกฎหมายให้ชัดเจนโดยการพิมพ์เป็นเอกสารเอสี่ และแจกจ่ายให้ประชาชน และเมื่อประชาชนรู้และเข้าใจเชื่อว่าจะมีประชาชนจะไม่เห็นด้วยกับการถวายฎีกามากขึ้น

“สิ่งที่กระทรวงมหาดไทยทำอยู่ เป็นภาระที่ต้องทำงาน สิทธิการขอพระราชทานอภัยโทษสามารถทำได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่เหมาะ และไม่ถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมือง เราจึงต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อทำให้ชัดเจนในช่วงเวลาที่มีอยู่” นายบุญจงกล่าว

จากนั้น ภายหลังการประชุม นายชวรัตน์ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า มีรายงานว่าบางจังหวัด ตัวเลขผู้มาชื่อคัดค้านการถวายฎีกาหรือถอนชื่อไม่เกิน 6 หลัก เมื่อสอบถามไปยังทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ความว่าประชาชนยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ถ่องแท้ จึงให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงไปอธิบายให้เกิดความเข้าใจว่า การลงชื่อทำเพื่ออะไร อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่ยอดลงชื่อคัดค้านการถวายฎีกาน้อยนั้น ไม่คิดว่าเกิดจากมีฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซง

เมื่อถามว่า 3 จังหวัดที่มีผู้มาลงชื่อสูงที่สุด ดูจะเป็นพื้นที่ของพรรคภูมิใจไทย นายชวรัตน์กล่าวว่า การลงชื่อเป็นไปตามเสรีภาพและความสมัครใจของประชาชน นโยบายของมหาดไทยเราไม่บังคับ เพียงแค่อธิบายความหมายของการลงชื่อคัดค้านการถวายฎีกา ซึ่งเราไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะมียอดผู้มาลงชื่อคัดค้าน หรือมาลงขอถอนชื่อถวายฎีกาเท่าไร และยืนยันว่า จังหวัดที่มีการลงชื่อคัดค้านน้อย ไม่มีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะเราดูผลงาในการทำงานมากกว่า แต่ก็ถือเป็นตัวชี้วัดในประสิทธิภาพการทำงาน เจ้ากระทรวงก็อยากได้ลูกน้องเก่งๆ

เมื่อถามว่า สรุปว่าจะมีการนำรายชื่อผู้คัดค้านการถวายฎีกาขึ้นเทียบเคียงกับรายชื่อผู้ยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ รมว.มหาดไทยกล่าวว่า เราจะเก็บรายชื่อไว้เฉยๆ เป็นข้อมูล (data bank) กระทรวงมหาดไทยถือว่า ประชาชนคือต้นทุน ถ้าจะมีการเอาตัวเลขมาเทียบกัน ก็เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนจะวินิจฉัยเอง ส่วนที่นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ประกาศว่า อีก 3 เดือนจะมี “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ที่ พ.ต.ท. ทักษิณ จะกลับมานั้น ตนไม่ขอตอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าว นายชวรัตน์ พร้อมด้วยนายบุญจง นายชำนิ บูชาสุข ที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย น.ส.ศุภพานี โพธิ์สุ เลขานุการ รมว.มหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ประธานคณะทำงาน มท.1 ได้ร่วมกันลงชื่อคัดค้านการถวายฎีกาบริเวณโต๊ะที่จัดให้หน้าบันไดขึ้นห้องทำงาน มท.1 และเปิดโอกาสให้ข้าราชการมาลงชื่อเพิ่มเติม

นายชวรัตน์กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวพรรคภูมิใจไทย กดดันให้มีการปรับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งว่า ไม่ทราบเรื่องนี้ ถ้านายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์อย่างไรก็คงเป็นไปตามนั้น ขณะที่นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในพรรคไม่มีเรื่องนี้ คงเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะพิจารณาเอง

นายชวรัตน์กล่าวถึงกรณีวันที่ 17 ส.ค.ที่ศาลจะมีการอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อกล้ายาง ที่นาย เนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา และในขณะเดียวกัน วันดังกล่าว จะเป็นวันที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะนำรายชื่อประชาชนชนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเกรงจะเกิดความวุ่นวายว่ามีคนปะทะกันว่า เชื่อว่าจะไม่เกิดความรุนแรง และผลการฟังคำพิพากษา ก็แค่หัวกับก้อย ไม่มีออกกลางแน่นอน และตนไม่มีความคิดจะขอร้องให้ประชาชนอยู่บ้าน เพราะถ้าตนอยากไปศาล ตนก็ไป และตั้งใจจะไปกันทั้งพรรคภูมิใจไทย ถึงพื้นที่ระหว่างศาลกับจุดถวายฎีกาจะใกล้กัน แต่ก็กว้างพอที่จะรองรับคนเป็นหมื่นได้ อีกทั้งได้ข่าวว่า คนถวายฎีกาจะส่งตัวแทนไปแค่แปดคน

เมื่อถามว่า หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่นายเนวินถูกตัดสินว่าผิด จะส่งผลกระทบต่อพรรคหรือไม่ นายชวรัตน์กล่าวว่า คำตัดสินเป็นเรื่องของตัวบุคคล พรรคก็ยังดำเนินการต่อไปได้ เมื่อถามอีกว่า จะไปให้กำลังใจนายเนวินในฐานะอะไร นายชวรัตน์ได้นิ่งไปครู่หนึ่ง จนนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ต้องตอบแทนให้ก่อนว่า ไปในฐานะคนรู้จัก นายชวรัตน์จึงกล่าวเสริมว่าไปในฐานะที่นายเนวินเป็นอาจารย์ใหญ่ เราทำอะไรก็ปรึกษาอาจารย์ใหญ่ แต่ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นมา เอาไว้ถึงเวลานั้นค่อยถามอีกครั้ง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า วันที่ไปให้กำลังใจนายเนวิน ต้องลากิจหรือไม่ นายชวรัตน์หันไปถามนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ประธานคณะทำงาน มท.1 โดยนายศักดิ์สยามกล่าวพร้อมหัวเราะว่า คงใช้เวลาไม่นาน ไม่น่าจะต้องลา ถ้าลาก็ตั้งรักษาการ
กำลังโหลดความคิดเห็น