xs
xsm
sm
md
lg

มท.1 เผยตั้งโต๊ะค้านถวายฎีกา ย้ำ ชาติต้องปกครองโดยหลักนิติธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชวรัตน์ ชาญวีรกูล
“ชวรัตน์” เผยตัวเลขตั้งโต๊ะผู้คัดค้านถวายฎีกาแค่ 7 วัน เกือบสี่ล้านคน ส่วนรายชื่อขอถอนมีเจ็ดพัน “บุรีรัมย์-เชียงราย-ราชบุรี-พัทลุง” ยันไม่ได้มุ่งแค่ตัวเลขแต่เพื่อให้บ้านเมืองปกครองโดยยึกหลักนิติธรรม ย้ำการล่าชื่อถวายฎีกาขัด กม.และจารีตประเพณี ไม่หวั่นเพื่อไทยตะแบงขู่ฟ้อง ยืดอกรับภูมิใจไทยมีสิทธิ์ขอถอนรายชื่อถวายฎีกา

วันนี้ (10 ส.ค.) นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าในการมอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการล่ารายชื่อถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ตนขอยืนยันว่า การกระทำดังกล่าว ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายมาตรา 259-261 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ฉบับที่ 23 พ.ศ.2548 และไม่เป็นไปตามจารีตประเพณี คือ หมิ่นเหม่ต่อการก้าวล่วงพระราชวินิจฉัย สร้างความระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.ที่มีการประชุมชี้แจงเรื่องนี้ 7 วันที่ผ่านมา มีประชาชนได้เข้ามาลงชื่อคัดค้านการถวายฎีกาแล้วทั้งสิ้น 3,958,650 คน แบ่งเป็นภาคเหนือ 387,539 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,280,218 คน ภาคกลาง 964,181 คน ภาคใต้ 326,712 คน

นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนการขอถอนรายชื่อจากการถวายฎีกานั้น มีจำนวน 7,432 คน โดยแบ่งเป็นภาคเหนือ 3,164 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,078 คน ภาคกลาง 188 คน ภาคใต้ 2 คน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ตั้งเป้าหมายเรื่องตัวเลขจำนวนผู้มาลงชื่อคัดค้าน หรือถอนการถวายฎีกาแต่อย่างใด เพียงแค่มีเป้าหมายให้ฝ่ายปกครองไปทำความเข้าใจในกระบวนการ และสิ่งที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อให้บ้านเมืองเราอยู่ได้ด้วยการปกครองที่ยึดหลักนิติธรรมและนิติรัฐ ทั้งนี้ ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป การดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้ กระทรวงมหาดไทยจะเร่งดำเนินการต่อไปลงลึกในระดับตำบล หมู่บ้าน ครัวเรือน โดยอาศัยกลไกของกระทรวงมหาดไทย ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร กลุ่มสตรี แม่บ้าน เพราะเราทราบว่า การกระทำของกระทรวงมหาดไทย เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ.2457 ข้อ 5 วรรค 4 และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถ้าดูรายละเอียดแต่ละจังหวัดตามภูมิภาคแล้ว ในภาคเหนือ จังหวัดที่มีการลงชื่อคัดค้านมากที่สุด คือ เชียงราย จำนวน 71,596 คน และขอถอนชื่อมากที่สุด คือ กำแพงเพชร 3,067 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่ลงชื่อคัดค้านมากที่สุด คือ บุรีรัมย์ จำนวน 519,066 คน จังหวัดที่มีคนขอถอนชื่อมากที่สุด คือ มุกดาหาร จำนวน 3,634 คน ภาคกลางและภาคตะวันออก จังหวัดที่ลงชื่อคัดค้านมากที่สุด คือ ราชบุรี จำนวน 124,991 คน จังหวัดที่มาขอถอนมากที่สุด คือ ปทุมธานี 110 คน และในภาคใต้ จังหวัดที่มาลงชื่อคัดค้านฎีกามากที่สุด คือ พัทลุง 76,543 คน และมีจังหวัดเดียวที่มีผู้ลงชื่อขอถอนการถวายฎีกา คือ สุราษฎร์ธานี 2 คน

นายชวรัตน์ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการกับรายชื่อที่รวบรวมได้ว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งอาจไม่ถวายนำขึ้นทูลเกล้าฯ อาจเป็นเพียงแค่ให้ประชาชนได้มีช่องทางแสดงความไม่เห็นด้วย และขอถอนรายชื่อที่ได้เคยลงยื่นฎีกาไว้ ทั้งนี้ในส่วนของรายชื่อที่มาขอถอนชื่อจากฎีกา ก็จะต้องมีการตรวจสอบโดยกรมการปกครอง ส่วนที่ว่าจะรวบรวมไปถึงเมื่อไรนั้น เราก็รวบรวมไปเรื่อยๆ ถ้ากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศจะยื่นวันที่ 17 ก.ค.เราก็อาจรวบรวมถึงแค่วันที่ 17 ก.ค.แต่ต้องดูความเหมาะสมอีกครั้งเรื่องการนำรายชื่อผู้คัดค้านขึ้นยื่นประกบ

เมื่อถามว่า ทางพรรคเพื่อไทยประกาศจะไปฟ้องร้อง นายชวรัตน์ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และ นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะมีคำสั่งให้กำนันผู้ใหญ่บ้านทำความเข้าใจเรื่องการคัดค้านการถวายฎีกา นายชวรัตน์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยก็มีสิทธิ์ และตนก็มีสิทธิ์แก้ต่าง ทั้งนี้ ในส่วนของรายชื่อที่ขอถอนจากการถวายฎีกาของกลุ่ม นปช.นั้น พร้อมให้มาตรวจสอบรายชื่อ เพราะเราเองก็มีหลักฐาน ยืนยันว่า เราได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการแสดงความเห็นตามแนวทางประชาธิปไตย ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงว่า การกระทำลักษณะนี้ จะทำให้ประชาชนแบ่งแยกเป็นสองฝ่ายชัดเจนอีกหรือไม่ ตนเชื่อว่า ไม่น่าจะมีผลเช่นนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น