xs
xsm
sm
md
lg

พธม.เอาผิดแก๊ง"ฎีกาแดง" เตือนถอนชื่อก่อน17ส.ค.-มท.1เผยยอดต้าน4ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10 ส.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ขณะนี้นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ร่างแบบฟอร์มเพื่อใช้เป็นใบแจ้งความ เพื่อแจกจ่ายหรือให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรฯทั่วประเทศ ดาวน์โหลดผ่านเว็บไซด์ผู้จัดการฯ ได้ในวันเดียวกันนี้ โดยรายละเอียดในใบแจ้งความดังกล่าว จะเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาต่อ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ในฐานะผู้ริเริ่ม และเป็นผู้ชักชวนให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายปานเทพ กล่าวว่าการแจ้งความครั้งนี้แกนนำพันธมิตรฯ ก็เห็นด้วย ซึ่งจะแจ้งในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 เกี่ยวกับช่วยเหลือผู้กระทำผิดไม่ให้ได้รับโทษ มาตรา 198 เกี่ยวกับละเมิดอำนาจศาล รวมทั้งยังแจ้งในฐานความผิดที่ขัดต่อธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 อย่างไรก็ตาม หากประชาชนที่ร่วมลงชื่อในฎีกาครั้งนี้ยังยืนยันเจตนาที่จะสนับสนุนอีก ก็จะมีโทษจำ คุก ตั้งแต่ 1-7 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้กฎหมายก็ตาม
"ตอนนี้มีประชาชนหลายจังหวัดที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรฯ ทั้งจ.ภูเก็ต พิษณุโลก นครราชสีมา และอีกหลายจังหวัด ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อจะขอแบบฟอร์มเข้าแจ้งความแล้ว เรื่องนี้พันธมิตรฯ ต้องการให้ประชาชนที่ลงชื่อสนับสนุนฎีกาดังกล่าว ถอนชื่อออกก่อนจะถึงวันที่ 17 ส.ค. เพราะเกรงว่าจะถูกแกนนำใช้เป็นเครื่องมือ ทั้งนี้อยากตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ รวมถึงแกนนำกลุ่มเสื้อแดง จึงไม่มีส่วนร่วมในการลงชื่อด้วย หรือเป็นพราะแกนนำเสื้อแดงอาจรู้ช่องทางกฎหมายว่ามีความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย จึงให้ประชาชนที่ไม่รู้กฎหมายมาลงชื่อแทน" นายปานเทพกล่าว
นายปานเทพ ยังกล่าวว่า การแจ้งความของพันธมิตรฯ เป็นกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนรู้ข้อกฎหมาย และวิธีการดังกล่าว ก็จะเป็นการเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน ทั้งกลุ่มคัดค้านและสนับสนุนฎีกา การแจ้งความครั้งนี้ ยังกล่าวหาถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย เพราะเป็นพวกร่วมกับผู้ก่อการโดยแกนนำคนเสื้อแดง เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณ ประชาสัมพันธ์ทุกครั้งที่ได้โฟนอิน รวมทั้งยังปลุกระดม และขอบคุณกลุ่มผู้ชุมนุมที่ร่วมถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ กล่าวว่า เบื้องต้นได้หารือกับพันธมิตรฯ ว่าจะเข้าแจ้งความต่อแกนนำคนเสื้อแดงในข้อหาละเมิดศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 , 198 และธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 ภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากเนื้อหาในฎีกาชัดเจนว่าต้องการละเมิดอำนาจศาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า การยื่นฟ้องเช่นนี้จะเป็นการสร้างความแตกแยกหรือไม่ นายสุริยะใส กล่าวว่า "ไม่ใช่ ที่เราจะทำเพราะต้องการที่จะปกป้องสถาบันฯ"
อย่างก็ตาม ตนไม่เห็นด้วยกับการออกมาคัดค้านการถวายฎีกา เพราะจะเป็นการเพิ่มวิกฤตและทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในระยะยาว การกระทำของกระทรวงมหาดไทย น่าจะเป็นการหวังผลทางการเมืองมากกว่า
**ลงชื่อต้านฎีกแดงเกือบ4 ล้าน
ด้านนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าในการมอบนโยบายให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน เรื่องการล่ารายชื่อถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ว่าตนขอยืนยันว่า การกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมาย มาตรา 259-261 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ( ป.วิอาญา ) ฉบับที่ 23 พ.ศ.2548 และไม่เป็นไปตามจารีตประเพณี คือ หมิ่นเหม่ต่อการก้าวล่วงพระราชวินิจฉัย สร้างความระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. ที่มีการประชุมชี้แจงเรื่องนี้ 7 วันที่ผ่านมามีประชาชนได้มาลงชื่อคัดค้านการถวายฎีกาแล้วทั้งสิ้น 3,958,650 คน แบ่งเป็นภาคเหนือ 387,539 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,280,218 คน ภาคกลาง 964,181 คน ภาคใต้ 326,712 คน
ส่วนการขอถอนรายชื่อจากการถวายฎีกานั้น มี 7,432 คน โดยแบ่งเป็นภาคเหนือ 3,164 คน ภาคอีสาน 4,078 คน ภาคกลาง 188 คน ภาคใต้ 2 คน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ตั้งเป้าหมายเรื่องตัวเลขจำนวนผู้มาลงชื่อคัดค้าน หรือถอนการถวายฎีกา เพียงแค่มีเป้าหมายให้ฝ่ายปกครองไปทำความเข้าใจในกระบวนการ และสิ่งที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อให้บ้านเมืองเราอยู่ได้ด้วยการปกครองที่ยึดหลักนิติธรรม และนิติรัฐ
ทั้งนี้ ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป กระทรวงมหาดไทยจะเร่งดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้ โดยลงลึกในระดับตำบล หมู่บ้าน ครัวเรือน โดยอาศัยกลไกของกระทรวงมหาดไทย ทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร กลุ่มสตรี แม่บ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถ้าดูรายละเอียดแต่ละจังหวัดตามภูมิภาคแล้ว ในภาคเหนือ จังหวัดที่มีการลงชื่อคัดค้านมากที่สุด คือ เชียงราย 71,596 คน และขอถอนชื่อมากที่สุด คือ กำแพงเพชร 3,067 คน ภาคอีสาน จังหวัดที่ลงชื่อคัดค้านมากที่สุด คือบุรีรัมย์ 519,066 คน จังหวัดที่มีคนขอถอนชื่อมากที่สุด คือ มุกดาหาร 3,634 คน ภาคกลางและภาคตะวันออก จังหวัดที่ลงชื่อคัดค้านมากที่สุด คือ ราชบุรี 124,991 คน จังหวัดที่มาขอถอนมากที่สุด คือปทุมธานี 110 คน และในภาคใต้ จังหวัดที่มาลงชื่อคัดค้านฎีกามากที่สุด คือ พัทลุง 76,543 คน และมีจังหวัดเดียวที่มีผู้ลงชื่อขอถอนการถวายฎีกา คือ สุราษฎร์ธานี 2 คน
นายชวรัตน์ กล่าวถึงการดำเนินการกับรายชื่อที่รวบรวมได้ว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะดำเนินการอย่างไร อาจไม่ถวายนำขึ้นทูลเกล้าฯ อาจเป็นเพียงแค่ให้ประชาชนได้มีช่องทางแสดงความไม่เห็นด้วย และขอถอนรายชื่อที่ได้เคยลงยื่นฎีกาไว้
ทั้งนี้ในส่วนของรายชื่อที่มาขอถอนชื่อจากฎีกา ก็จะต้องมีการตรวจสอบโดยกรมการปกครอง ส่วนจะรวบรวมไปถึงเมื่อไรนั้น ก็รวบรวมไปเรื่อยๆ ถ้ากลุ่ม นปช. ประกาศจะยื่นวันที่ 17 ก.ค. เราก็อาจรวบรวมถึงแค่วันที่ 17 ก.ค. แต่ต้องดูความเหมาะสมอีกครั้ง เรื่องการนำรายชื่อผู้คัดค้านขึ้นยื่นประกบ
เมื่อถามว่า ทางพรรคเพื่อไทย ประกาศจะไปฟ้องร้อง นายชวรัตน์ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และนายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะมีคำสั่งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำความเข้าใจเรื่องการคัดค้านการถวายฎีกา นายชวรัตน์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย ก็มีสิทธิ์ และตนก็มีสิทธิ์แก้ต่าง ทั้งนี้ ในส่วนของรายชื่อที่ขอถอนจากการถวายฎีกาของกลุ่มนปช.นั้น พร้อมให้มาตรวจสอบรายชื่อ เพราะเราเองก็มีหลักฐาน ยืนยันว่า เราได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการแสดงความเห็นตามแนวทางประชาธิปไตย

**ผบ.ทร.ให้ยุติธรรมชี้ขาดข้อกม.
ด้าน พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. ให้สัมภาษณ์ กล่าวถึงกรณีกลุ่มเสื้อแดงจะยื่นถวายฎีกาเพื่อขอราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ไม่น่าห่วง เพราะบางคนเข้าใจเรื่องกฎหมายแตกต่างกัน และเรื่องสิทธิการดำเนินการทางกฎหมายไม่ตรงกัน ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรม และกองทัพ พยายามทำความเข้าใจในเรื่องสิทธิ และข้อกำหนดทางกฎหมายว่า มีวิธีขั้นตอนอย่างไร คิดว่ากระทรวงยุติธรรม จะเป็นคนชี้ในท้ายที่สุด
ส่วนที่กลุ่มเสื้อแดงจะไปยื่นถวายฎีกาที่พระบรมราชวังเหมาะสมหรือไม่นั้น พล.ร.อ.กำธร กล่าวว่า ได้อ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ เขามีวิธีให้ยื่นอย่างไร คงต้องเป็นไปตามนั้น ส่วนที่มีการนำมวลชนไปร่วมยื่นถวายฎีกา เหมาะสมหรือไม่นั้น ก็สุดแล้วแต่ว่าใครจะคิดอย่างไร แต่ตนดูตามขั้นตอนกฎหมายมากกว่า แต่คนพิจารณาเรื่องนี้คือ กระทรวงยุติธรรม
ส่วนที่กระทรวงมหาดไทย ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อผู้คัดค้านการถวายฎีกา จะทำให้สังคมยิ่งเกิดความขัดแย้งหรือไม่ พล.ร.อ.กำธร กล่าวว่า เห็นได้ชัด คงไม่ต้องถาม เห็นกันอยู่ ทั้งนี้ปัญหาความขัดแย้งเห็นมีมา 4-5 ปีแล้ว เมื่อถามกึงการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนมีความจงรักภักดี และปกป้องสถาบันฯ พล.ร.อ.กำธร กล่าวว่า ความจริงคนไทยเรียนมาตั้งแต่เล็กว่า สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความสำคัญต่อประเทศชาติอย่างไร เราทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงงานหนักมาตลอด
" เราคงแทบไม่ต้องไปแนะนำใครเลยว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะเทิดทูนท่านไว้ และจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ท่านระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท สิ่งนี้อยู่ในจิตสำนึกโดยอัตโนมัติ คงไปแนะนำไม่ได้ แต่สำหรับทหาร เราทำอยู่ในสายเลือดตั้งแต่เล็กจนตลอดชีวิต การจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยเฉลิมพระเกียรติทางกองทัพเราทำมาตลอด สมัยเด็กมีการเรียนเรื่องประวัติศาสตร์ชาติ และความเป็นมาของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์กันมาก ควรทำต่อไป เพราะเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย" พล.อ.กำธร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น