xs
xsm
sm
md
lg

“บุญจง” ปฏิเสธขนกำนัน-ผญบ.ลงชื่อถอนฎีกา เย้ยชื่อ 5 ล.ยื่นไปก็ไม่เป็นผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย
“มท.2” ยันไม่เกี่ยววันตัดสินคดีกล้ายาง “เนวิน” วันเดียวกับเสื้อแดงยื่นถวายฎีกา ชี้ไม่มีนัยยะทางการเมืองแน่ ปัดข่าวขนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ลงชื่อถอดถอน ยันไม่ได้สั่งการให้ ผวจ.ต้องส่งรายชื่อถอดถอนจังหวัดละหมื่นขึ้นไป อ้างแค่อำนวยความสะดวกประชาชนถือเป็นสิทธิ์จะลงชื่อหรือไม่ก็ได้ เย้ยมีชื่อถึง 5 ล้านไม่เป็นผล นักโทษยังหนีคดีอยู่ต่างประเทศ

วันนี้ (4 ส.ค.) ที่กระทรวงมหาดไทย เวลา 14.00 น.นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงที่จะถวายฎีกา ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับศาลฎีกาจะมีการพิจารณาคดีกล้ายาง ของ นายเนวิน ชิดชอบ ว่า ไม่มีนัยยะใดๆ กลุ่มเสื้อแดงจะใช้สิทธิ์วันไหนก็เป็นเรื่องที่กลุ่มเสื้อแดงกำหนด ส่วนกลุ่มที่คัดค้านก็แสดงจุดยืนแล้ว และในขณะนี้ในพื้นที่หลายจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอก็ได้มีการตั้งโต๊ะบริการประชาชนที่ต้องการถอนรายชื่อการถวายฎีกา ส่วนวันที่ 17 ส.ค.ที่ศาลฎีกาจะมีการพิจารณาตัดสินคดีกล้ายางของนายเนวิน ก็เป็นวันที่ศาลกำหนดอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นคนละเรื่องกัน

เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ว่าประชาชนอาจจะเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการลงชื่อถอดถอนถวายฎีกานั้น เป็นแนวคิดของพรรคภูมิใจไทย หรือกระทรวงมหาดไทย นายบุญจง กล่าวชี้แจงว่า พรรคภูมิใจไทยมีมติชัดเจนว่าการรวบรวมรายชื่อเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น เห็นว่ามิบังควร เป็นการไม่เหมาะสม เป็นการขัดต่อกฎหมายการขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งกฎหมายขอพระราชทานอภัยโทษนั้น เขียนไว้ชัดเจน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259-267 มีสาระ คือ 1.นักโทษนั้นต้องคดีถึงที่สุด 2.นักโทษนั้นต้องรับโทษ 3.นักโทษนั้นเป็นคนขอเอง หรือ ญาตินักโทษเป็นคนขอ ไม่ใช่ประชาชนมาลงชื่อขอ ซึ่งนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นหากนักโทษที่เป็นนักการเมืองหรือมีประชาชนจำนวนมากใช้จำนวนประชาชนมากดดันสถาบันพระมหากษัตริย์เรื่อยไป เห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องกฎหมาย พรรคจึงต้องแสดงจุดยืน ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคนั้นก็ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศให้ทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องดังกล่าวที่ถูกต้องมีกฎหมายว่าอย่างไร นี่คือ แนวทางที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำความเข้าใจกับประชาชน

“ขณะนี้แต่ละจังหวัดก็มีรายงานจำนวนของประชาชนที่มาถอนรายชื่อถวายฎีกาเข้ามาเป็นระยะๆ แต่ไม่ได้หมายความจะได้สั่งการไปว่าแต่ละจังหวัดจะต้องมีจำนวนคนที่มาลงชื่อเป็นหมื่นหรือเป็นแสนผู้ว่าราชการจังหวัดรู้หน้าที่ว่าควรปฏิบัติอย่างไรในฐานะเป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นการรายงานเข้ามาตามระบบราชการอยู่แล้ว” นายบุญจง กล่าว

นอกจากนี้ นายบุญจงยังปฏิเสธกรณีที่มีกระแสข่าวว่าทางจังหวัดได้มีการเกณฑ์กำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้มาลงชื่อถวายพระพร ขณะที่บนหัวกระดาษเขียนไว้ว่าเป็นการถอดถอนรายชื่อการถวายฎีกาว่า ไม่มีรายงานอย่างเป็นที่ข่าว การลงชื่อของกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าฯ นายอำเภอได้ยืนยันว่าใช้วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีการบังคับ เพราะวันนี้เชื่อว่าการที่ประชาชนลงชื่อก็ยังไม่มีความเข้าใจ และไม่ทราบว่ากฎหมายที่ถูกต้องคืออะไร ดังนั้น ผู้ว่าฯ และนายอำเภอ จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น ส่วนประชาชนคนใดจะลงชื่อถอดถอนก็เป็นสิทธิ์ของประชาชน ก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนให้มาลงชื่อเท่านั้น

เมื่อถามว่าจะตรวจสอบรายชื่ออย่างไรว่าแต่ละรายชื่อที่มาลงชื่อถอดถอนจะตรงกับรายชื่อของกลุ่มคนเสื้อแดง นายบุญจงกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการส่งรายชื่อในลักษณะนี้ขึ้นมา แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ เพราะหากใครลงชื่อคัดค้าน หรือถอดถอน เจ้าตัวก็ต้องรู้ดีแก่ใจ คงไม่ต้องตรวจสอบอะไร

เมื่อถามว่าจะทราบได้อย่างไรรายชื่อที่กลุ่มคนเสื้อแดงได้มาไม่ใช่เป็นการกล่าวอ้าง นายบุญจงกล่าวว่า ไม่ต้องไปแสวงหาว่าเป็นการปลอมรายชื่อหรืออ้างคนหรือไม่ เพราะกระบวนการที่กลุ่มคนเสื้อแดงดำเนินการอยู่นั้น ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะมันไม่ถูกต้องตามกฎหมาย วันนี้จะไปยื่นกับใครในเมื่อนักโทษไม่อยู่ในเมืองไทย ซึ่งก็ขัดต่อกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาอาญาอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น