xs
xsm
sm
md
lg

"ริบบิ้นขาว"โผล่ตีกิน สร้างภาพเป็นกลางต้านความรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 12.00 น.วานนี้ (10 มี.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ถนนสามเสน) เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย หยุดใช้ความรุนแรง ซึ่งประกอบด้วยหลายองค์กรภาคี ได้ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการหนึ่งเสียงไม่เอาความรุนแรง” และออกแถลงการณ์ ห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 12-14 มี.ค. นี้
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า อ่านแถลงการณ์ว่า ตามที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะจัดมีการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ โดยเริ่มระดมคนจากทั่วประเทศให้เดินทางเข้ามาชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า อาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นมาอีกครั้งนั้น เครือข่าย "หยุดทำร้ายประเทศไทย – หยุดใช้ความรุนแรง" ซึ่งได้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่เดือนเม.ย. 52 ร่วมกับกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ที่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรง หรือความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นมาอีกในสังคมไทย จึงมีข้อเรียกร้องต่อทุกฝ่ายเพื่อให้สังคมไทยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันระงับยับยั้งความรุนแรง ดังต่อไปนี้
1. ขอให้ทุกฝ่ายต้องไม่ใช้ความรุนแรง และให้อดทนต่อการยั่วยุ ซึ่งอาจทำให้เกิดความรุนแรง “การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคง จึงต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน การควบคุมการชุมนุมของรัฐบาลนั้นให้บังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็น และเหมาะสมในการดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการชุมนุม ต้องไม่มีการติดอาวุธ โดยให้มีเฉพาะอุปกรณ์ป้องกันตัว และอุปกรณ์สำหรับควบคุมดูแลการชุมนุมเท่านั้น และผู้ชุมนุมจะต้องอยู่ในขอบเขตของการไม่ใช้ความรุนแรง และไม่มีอาวุธ ฝ่ายแกนนำการชุมชุมที่ยืนยันว่า จะไม่มีการใช้ความรุนแรงจะต้องควบคุมดูแลไม่ให้มีการพกพาอาวุธมาชุมนุม และผู้ชุมนุมต้องช่วยกันควบคุมดูแลซึ่งกันและกันไม่ให้มีใครใช้ความรุนแรง
2. รัฐธรรมนูญมาตรา 28 บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น” ผู้ชุมนุมจึงต้องไม่ใช้วิธีการที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น การชุมนุมโดยใช้วิธีการที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้กระทำ ทั้งยังอาจจะนำไปสู่การกระทบกระทั่งกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย
3. สำหรับประชาชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งอาจมีความจุดยืนหรือความเห็นทางการเมืองแตกต่างกับผู้ชุมนุมแต่ก็ควรใช้อดทนอดกลั้น มีสติยับยั้ง ต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นพลังเงียบ ต้องติดตามข่าวสารอย่างมีสติ อย่าได้เชื่อข่าวสารที่อาจนำสู่การใช้ความรุนแรงและประชาชนไม่ควรให้ความร่วมมือกับฝ่ายใดก็ตามที่ใช้ความรุนแรง
4. รัฐบาลและแกนนำผู้ชุมนุมต่างยืนยันว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรง เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ฝ่ายรัฐบาลและแกนนำผู้ชุมนุม จึงควรร่วมมือกันในการป้องกันไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเริ่มจากผู้ชุมนุม จากเจ้าหน้าที่ หรือจากบุคคลอื่นใด ในกรณีที่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นมา ขอให้รัฐบาลและแกนนำการชุมนุมร่วมมือกันคลี่คลายแก้ไขปัญหา โดยขอให้มีการต่อสายตรงถึงกันในการร่วมกันแก้ไขปัญหา
ด้วยเหตุนี้ เครือข่าย “หยุดทำร้ายประเทศไทย – หยุดใช้ความรุนแรง” และกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันแสดงพลังของสังคมไทยในการระงับยับยั้งความรุนแรง ไม่ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม จึงขอเสนอแนวทางป้องกันแก้ไขความรุนแรงด้วยกันร่วมกันรณรงค์ “ไม่เอาความรุนแรง “ ด้วยการใช้สัญลักษณ์ หรือข้อความต่างๆ ที่เป็นสันติวิธี และเป็นการเตือนสติทุกฝ่ายไม่ให้ใช้ความรุนแรง ได้แก่ การใช้ ธงชาติ ติดที่หน้าบ้านหรือที่ทำงาน เพื่อขอให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักว่า เราอยู่ร่วมในประเทศเดียวกัน มีปัญหาต้องแก้ไขโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นการทำร้ายประเทศของเรา หรือใช้ สีขาว ใส่เสื้อขาว ผูกริบบิ้นขาว หรือใช้ ดอกไม้ หรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่สื่อถึงสันติภาพ และการไม่ใช้ความรุนแรง และขอเชิญประชาชนที่เห็นด้วยกับ “การไม่เอาความรุนแรง” ร่วมกันรณรงค์ด้วยการส่งข้อความ “ไม่เอาความรุนแรง” ไปยังประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อช่วยกันสร้างพลังของสังคมไทยในการระงับยับยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในครั้งนี้
ทั้งนี้รายชื่อองค์กรเครือข่ายประกอบด้วย องค์กรภาคธุรกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ส่วนองค์กรสื่อประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย, สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย, สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย, ชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย สมาคม อบต. แห่งประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ภาคประชาสังคมประกอบด้วย เครือข่ายนักวิชาการไม่เอาความรุนแรง, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน, สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม, กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง, คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย, ชมรมแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์เพื่อประชาชน, เครือข่ายประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้แต่อย่าใช้ความรุนแรง, สถาบันพระปกเกล้า, สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า, เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ

**ทำกรุงเทพฯ ให้เป็น"บางรัก"
ขณะที่กลุ่มประชาชน ผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง ประกอบด้วยเครือข่ายภาคประชาสังคมจากหลากหลายส่วน อาทิ เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อ เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายสุขภาพ เครือข่ายภาคีองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายนักศึกษา เป็นต้น ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ “ทำกรุงเทพ ฯ ให้เป็นบางรัก” 14 มีนาฯ วันแห่งความรัก (สันติ)
โดย“กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง” เสนอให้คนกรุงเทพ ฯ ในฐานะเจ้าของบ้านต้อนรับผู้ชุมนุมด้วยความเข้าใจ ทุกฝ่ายหยุดยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง หยุดใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ พร้อมขอเรียกร้องต่อทุกฝ่ายดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลยึดมั่นในสันติวิธี ไม่กระตุ้น หรือสนับสนุนให้ประชาชนลุกมาสู้กันเอง มีความอดกลั้น และไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นจะต้องไม่ใช้ความรุนแรง ให้ใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหา และต้องสร้างช่องทางสื่อสารข้อเท็จจริงกับประชาชนโดยเร็ว
2. ขอให้ผู้ชุมนุม ชุมนุมในที่ตั้ง ไม่กระจายจนปิดกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการยั่วยุ ทำให้เป็นปัญหากับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น การนำผู้ป่วย การส่งต่อผู้ป่วย เข้ามารักษาพยาบาลในกรุงเทพ ฯ
3. ขอให้ผู้นำการชุมนุม หยุดการให้ข่าวในการเตรียมการใช้ความรุนแรง การสั่งการที่พร้อมใช้ความรุนแรงในการชุมนุม เช่น ให้ประชาชนเตรียมขวดเปล่า มาเอาน้ำมันในกรุงเทพ ฯ และผู้นำการชุมนุมต้องเตรียมมาตรการป้องกันเหตุรุนแรง
4. ขอให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา และมีส่วนช่วยในการระงับเหตุความรุนแรง โดยไม่ใช้ความรุนแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้(11มี.ค.) เวลา 14.30 น. เครือข่าย “หยุดทำร้ายประเทศไทย–หยุดใช้ความรุนแรง” ร่วมกับกลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง จะมีกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรง ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ สี่แยกปทุมวัน

**ขอให้รัฐบาลยึดหลักสิทธิมนุษยชน
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมุนษยแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ของคณะกรรมการสิทธิฯ กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือของกลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธีกว่า 20 คน ที่แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่จะเกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ว่า จากการประชุมร่วมกันของกลุ่มเยาวชนกับทางอนุกรรมการฯ เห็นว่า เมื่อรัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็ขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กฎหมายฉบับนี้โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ จากการแถลงของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และนายปณิธาน วัฒนายากร รักษาการโฆษกรัฐบาล ที่ระบุว่า พร้อมจะเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุม ถือว่าเป็นเรื่องดี และทำให้ตนค่อนข้างมั่นใจว่า รัฐบาลจะดำเนินการใช้กฎหมายฉบับนี้ภายใต้สิทธิชุมชน และสิทธิการชุมนุม ทั้งนี้รัฐบาลก็ต้องดูแลให้การชุมนุมอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ป้องกันมือที่ 3 ที่อาจเข้ามาก่อให้เกิดความรุนแรง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับผู้บริสุทธิ์ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับชาวชุมชนนางเลิ้ง เมื่อคราวสงกรานต์ปีที่แล้ว และรัฐบาลควรมีการประกาศมาตรการดูแล และคุ้มครอง หากมีเหตุการณ์รุนแรงให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ว่าหากเกิดเหตุดังกล่าวจะมีมาตรการจัดการอย่างไรบ้าง

**พลังเงียบต้องตื่นตัวป้องกันเหตุ
สำหรับผู้ชุมนุม ต้องรับผิดชอบต่อกระบวนการและท่าทีที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรง เช่น ในเรื่องการปราศรัย ซึ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ สื่อวิทยุชุมชนที่ต้องไม่มีการพูดปลุกปั่น รวมทั้งต้องไม่ละเมิดสิทธิสาธารณะโดยผู้ชุมนุมต้องทำให้สังคมไทยเห็นว่าสิทธิการชุมนุมโดยสงบสามารถทำได้ ไม่ใช่เป็นชุมนุมที่ยึดแต่เรื่องแพ้ชนะ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็จะนำสังคมไทยเข้าสู่สงครามกลางเมือง และการจลาจล ที่ผู้ชุมนุมจะต้องรับผิดชอบ
นอกจากนี้ อยากเรียกร้องให้ประชาชนที่เป็นพลังเงียบตื่นตัว และเฝ้าระวังให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง โดยทำตัวเป็นอาสาสมัครแจ้งเหตุให้ราชการทราบในกรณีที่เกิดเหตุไม่ชอบมาพากล เพื่อให้สามารถระงับเหตุได้ทัน ไม่ใช่พาตัวเองเข้าไปสู่ความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคณะกรรมการสิทธิฯ ก็จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในวันนี้ ( 11) จะมีการประชุมสำนักงานเพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น และในวันที่ 12 มี.ค. ที่นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิฯ เดินทางกลับจากต่างประเทศ ก็จะมีการประชุมด่วน และออกเป็นแถลงการณ์ถึงท่าทีของของคณะกรรมการสิทธิต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

**เสื้อแดงต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น
เมื่อถามว่าการที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงควบคู่กับกฎหมายอื่นอีก 18 ฉบับ คิดว่าเพียงพอให้รัฐบาลไม่ต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ น.พ.นิรันดร์ กล่าวว่า บอกไม่ได้ 100 % เพราะเราประเมินไม่ได้ว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงหรือเปล่า แต่จากข้อมูลที่กรรมการสิทธิได้รับนั้นตรงกับที่รัฐบาลมี คือ มีผู้ไม่หวังดีเยอะ การชุมนุมในอดีตเราไม่เคยเห็นว่ามีการใช้ระเบิดเยอะ มีการค้นจับกุมอาวุธสงครามในบ้านพักได้มากขนาดนี้ ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับท่าทีของผู้ชุมนุมด้วยว่า จะยอมรับกติกาและแนวทางสันติวิธีหรือเปล่า
เมื่อถามต่อว่า กรรมการสิทธิฯ จะวางบทบาทอย่างไรให้คนเสื้อแดงไม่รู้สึกว่าเข้าข้างรัฐบาล น.พ.นิรันดร์ กล่าวว่า กรรมการสิทธิเป็นองค์กรอิสระ การชุมนุมถ้าทำโดยสันติวิธีก็ถือว่าไม่ละเมิดสิทธิ แต่ถ้าใช้สิทธิเกินขอบเขตกรรมการสิทธิก็ยอมไม่ได้ เพราะอย่างนั้นเรียกว่าเป็นอนาธิปไตย ซึ่งการใช้มวลชนมาก แล้วไปยึดตรงนั้นตรงนี้ มันไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิ แต่มันเป็นการละเมิดสิทธิ
----------
กำลังโหลดความคิดเห็น