กก.สิทธิมนุษยชนฯ จับตาสถานการณ์ใกล้ชิด มั่นใจรัฐบาลใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงยึดหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมเรียกร้องแก๊งเสื้อแดงต้องรับผิดชอบต่อการปลุกระดมไปสู่ความรุนแรง จี้พลังเงียบเป็นอาสาสมัครแจ้งเหตุให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่อระงับเหตุได้ทัน
วานนี้ (10 มี.ค.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมุนษยแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ของคณะกรรมการสิทธิฯ กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือของกลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธีกว่า 20 คนที่แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่จะเกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ว่า จากการประชุมร่วมกันของกลุ่มเยาวชนกับทางอนุกรรมการฯ เห็นว่า เมื่อรัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็ขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กฎหมายฉบับนี้โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากการแถลงของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และนายปณิธาน วัฒนายากร รักษาการโฆษกรัฐบาล ที่ระบุว่าพร้อมจะเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุมถือว่าเป็นเรื่องดี และทำให้ตนค่อนข้างมั่นใจว่ารัฐบาลจะดำเนินการใช้กฎหมายฉบับนี้ภายใต้สิทธิชุมชนและสิทธิการชุมนุม
ทั้งนี้ รัฐบาลก็ต้องดูแลให้การชุมนุมอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ป้องกันมือที่ 3 ที่อาจเข้ามาก่อให้เกิดความรุนแรง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับผู้บริสุทธิ์ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับชาวชุมชนนางเลิ้ง เมื่อคราวสงกรานต์ปีที่แล้ว และรัฐบาลควรมีการประกาศมาตรการดูแลและคุ้มครองหากมีเหตุการณ์รุนแรงให้ประชาชนทราบล่วงหน้าว่าหากเกิดเหตุดังกล่าวจะมีมาตรการจัดการอย่างไรบ้าง
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ขณะที่ผู้ชุมนุมต้องรับผิดชอบต่อกระบวนการและท่าทีที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรง เช่นในเรื่องการปราศรัย ซึ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือสื่อวิทยุชุมชนที่ต้องไม่มีการพูดปลุกปั่น รวมทั้งต้องไม่ละเมิดสิทธิสาธารณะ โดยผู้ชุมนุมต้องทำให้สังคมไทยเห็นว่าสิทธิการชุมนุมโดยสงบสามารถทำได้ ไม่ใช่เป็นชุมนุมที่ยึดแต่เรื่องแพ้ชนะ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็จะนำสังคมไทยเข้าสู่สงครามกลางเมือง และการจลาจล ที่ผู้ชุมนุมจะต้องรับผิดชอบ
นอกจากนี้ อยากเรียกร้องให้ประชาชนที่เป็นพลังเงียบตื่นตัวและเฝ้าระวังให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง โดยทำตัวเป็นอาสาสมัครแจ้งเหตุให้ราชการทราบในกรณีที่เกิดเหตุไม่ชอบมาพากล เพื่อให้สามารถระงับเหตุได้ทัน ไม่ใช่พาตัวเองเข้าไปสู่ความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคณะกรรมการสิทธิฯ ก็จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในวันนี้ (11) จะมีการประชุมสำนักงานเพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น และในวันที่ 12 มี.ค. ที่นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิเดินทางกลับจากต่างประเทศ ก็จะมีการประชุมด่วน และออกเป็นแถลงการณ์ถึงท่าทีของของคณะกรรมการสิทธิต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงควบคู่กับกฎหมายอื่นอีก 18 ฉบับคิดว่าเพียงพอให้รัฐบาลไม่ต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า บอกไม่ได้ 100% เพราะเราประเมินไม่ได้ว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงหรือเปล่า แต่จากข้อมูลที่กรรมการสิทธิได้รับนั้นตรงกับที่รัฐบาลมี คือมีผู้ไม่หวังดีเยอะ การชุมนุมในอดีตเราไม่เคยเห็นว่ามีการใช้ระเบิดเยอะ มีการค้นจับกุมอาวุธสงครามในบ้านพักได้มากขนาดนี้ ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับท่าทีของผู้ชุมนุมด้วยว่าจะยอมรับกติกาและแนวทางสันติวิธีหรือเปล่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรรมการสิทธิจะวางบทบาทอย่างไรให้คนเสื้อแดงไม่รู้สึกว่าเข้าข้างรัฐบาล นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า กรรมการสิทธิเป็นองค์กรอิสระ การชุมนุมถ้าทำโดยสันติวิธีก็ถือว่าไม่ละเมิดสิทธิ แต่ถ้าใช้สิทธิเกินขอบเขตกรรมการสิทธิฯ ก็ยอมไม่ได้ เพราะอย่างนั้นเรียกว่าเป็นอนาธิปไตย ซึ่งการใช้มวลชนมาก แล้วไปยึดตรงนั้นตรคงนี้มันไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิ แต่มันเป็นการละเมิดสิทธิ