เชียงราย – พ่อค้าไทย-จีนแห่ขนของขึ้นฝั่ง ทิ้งเรือน้ำโขง หันใช้รถส่งสินค้าเข้าจีนผ่านถนนลาวเหนือ(R3a)แทน กัดฟันควักกระเป๋าจ่ายค่าขนส่งเพิ่ม หลังเรือสินค้าหมดสภาพ ต้องจอดแช่ที่ท่าเรือเชียงแสน – จิ่งหง มานานกว่าเดือน แถมอาจต้องรอยาวถึงพฤษภาฯ เมื่อจีนปัดเปิดประตูเขื่อน จี้รัฐตั้งคณะทำงานดูน้ำโขงจริงจัง
หลัง “ASTVผู้จัดการรายวัน” นำเสนอรายงาน 3 ตอนจบเรื่อง “ชะตากรรมคนลุ่มโขงใต้เขื่อนจีน” พร้อมกับข่าวผลกระทบจากความแห้งแล้งในแม่น้ำโขงมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯมีกำหนดหารือกับ จีน-พม่า - ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม ในต้นเดือนเมษาฯนี้ ในมิติของการใช้น้ำโขงเพื่อการพาณิชย์ - ไปมาหาสู่กันระหว่างคนลุ่มน้ำ แถบสามเหลี่ยมทองคำ หรือน้ำโขงตอนบน ทั้งไทย พม่า ลาว จีน ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ – ต้นเดือนนี้(มีนาคม 53) เรือบรรทุกสินค้าสัญชาติจีนกว่า 20 ลำ ที่เคยขึ้นล่องในแม่น้ำโขง ต้องจอดสนิทบริเวณท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย ขณะที่เรือสินค้าที่ขึ้นไปส่งสินค้าที่จิ่งหง หรือเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา หยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ไม่สามารถล่องลงมาได้เช่นกัน ทั้งหมดต้องรอให้ระดับน้ำเข้าสู่ปกติ แม้ว่าช่วงสัปดาห์นี้ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย โดยยืนอยู่ระดับ 1.20 เมตร ซึ่งถือว่าดีกว่าสัปดาห์ก่อนที่ลดไปต่ำกว่า 1 เมตรก็ตาม
แต่ด้วยปัญหาท้องน้ำเต็มไปด้วยทราย อีกทั้งเรือบรรทุกสินค้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่กินน้ำลึกตั้งแต่ 1.80 เมตรขึ้นไปด้วย ในที่สุดผู้ประกอบการเดินเรือต้องเลือกที่จะจอดเรือทิ้งไว้ แทนการเสี่ยงไปติดดอนทราย-ชนโขดหินกลางน้ำโขง
ประกอบกับกรมเจ้าท่า และจังหวัดเชียงราย ต่างได้รับคำตอบจากจีนว่า อาจต้องรอฝนในเดือนพฤษภาคม เพราะหยุนหนันก็เจอภัยแล้ง จนต้องกักน้ำไว้ในเขื่อนกั้นน้ำโขงทั้ง 4 แห่ง
ทำให้ผู้ประกอบการบางราย ต้องเริ่มขนสินค้าออกจากเรือ ขนถ่ายขึ้นรถบรรทุก 10 ล้อ เพื่อหันไปทำพิธีการส่งออกผ่านด่านศุลกากรเชียงของ จ.เชียงราย เพื่อขนส่งผ่านถนนไทย-ลาว (R3a) เข้าสู่จีนตอนใต้ที่อยู่ห่างออกไปอีก 245 กม.แทน
นายอรรถพันธุ์ รังสี ประธานชมรมพ่อค้าเชียงแสน บอกว่า ที่จริงหน้าแล้งทุกปี ทางหน่วยงานที่ควบคุมการเดินเรือในแม่น้ำโขง – เขื่อนจีน จะมีปฏิทินการเดินเรือ หรือปฏิทินกำหนดวันปล่อยน้ำ ปิดน้ำให้เรือทุกลำที่วิ่งกันในน้ำโขง เฉลี่ย ปล่อยน้ำ 3 วัน ปิด 3 วันมาตลอด แต่ปีนี้ปฏิทินเดินเรือน้ำโขงใช้การไม่ได้แล้ว จีนกักน้ำไว้ในเขื่อนเพื่อใช้เอง
เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งระบบ เพราะเมื่อสินค้าไม่สามารถขนส่งทางเรือได้ทำให้ทุกฝ่ายทั้งผู้ค้า ผู้ขน ฯลฯ ต้องสูญเสียรายได้ไปวันละกว่า 10 ล้านบาท จากเดิมที่มีมูลค่านำเข้าส่งออกสูงถึงเดือนละกว่า 300 ล้านบาท เพราะปีนี้ไม่เหมือนทุกปีที่สามารถลดปริมาณการขนส่งเรือลงเที่ยวละ 300 ตันเป็น 100-200 ตัน แต่น้ำโขงกลับแห้งมาก
ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการกว่า 20 ราย จากที่มีอยู่ 40 กว่าราย ต้องย้ายฐานการส่งออกไปยังถนน R3a เพราะทนมานานกว่า 1 เดือน โดยต้องยอมแบกรับต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น 30 หยวน หรือ 150 บาท/ตัน เมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือ ที่ตกเที่ยวละประมาณ 50,000 บาทขึ้นไป แต่เมื่อไม่มีทางเลือกก็ต้องยอม และในอนาคตถนน R3a อาจจะเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมที่สุดต่อไป
นายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองเลขาธิการหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจที่ อ.เชียงของ กล่าวว่าปัจจุบันค่าบรรทุกสินค้าทางรถบนถนน R3A จากเชียงของไปยังชายแดนด้านเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว กับบ่อหาน จีนตอนใต้ คิดราคาต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 30 ตัน ตู้ละ 20,000-30,000 บาท หากต้องขนต่อไปยังตอนในของจีนก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก และหากเฉลี่ยค่าขนส่งจากกรุงเทพฯ-คุนหมิง เมืองเอกของมณฑลหยุนหนัน หรือ "คน-มั่น กงลู่" ก็จะตกตู้ละประมาณ 100,000 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือในแม่น้ำโขงแล้วถือว่าแพงกว่ามาก เพราะเรือในแม่น้ำโขงมีระวางมากถึง 100-300 ตัน
รายงานข่าวจากด่านศุลกากร อ.เชียงแสน แจ้งว่าในปี 2552 ไทยส่งออกสินค้าไปทางเรือในแม่น้ำโขงมูลค่า 5,085.08 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันปาล์ม รถยนต์ปรับสภาพ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ลำไยอบแห้ง ฯลฯ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 1,230.37 ล้านบาท เป็นผักสด ทับทิมสด แอปเปิลสด สาลี่สด ฯลฯ ส่วนด่านศุลกากร อ.เชียงของ มีการส่งออกมูลค่า 1,931.040 ล้านบาท สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเบนซิน วัสดุก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค ผลไม้ ฯลฯ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 986.331 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นถ่านหิน พืชผัก ดอกไม้ ผลไม้ ไม้แปรรูป ฯลฯ
นายมิติ ยาประสิทธิ์ แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงแสน กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้เกิดจากการที่จีนปิดเขื่อนครั้งที่ 2 หลังเกิดปัญหาใกล้เคียงกันเมื่อครั้งปิดเขื่อนครั้งแรกราวปี 2540 ซึ่งได้ทำให้ระบบนิเวศลุ่มน้ำโขงเปลี่ยนไปและมีผลกระทบหลายด้านทั้งการค้า การท่องเที่ยว โดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนที่ใช้ประโยชน์จากลุ่มแม่น้ำ ซึ่งกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนได้แสดงความเป็นห่วงว่าอนาคตปัญหานี้จะไม่ได้รับการแก้ไขหรือเยียวยา ทำให้คนที่เคยมีอาชีพเกษตรกรรม ก็อาจเปลี่ยนเป็นอาชีพแรงงานหรือเป็นกรรมกรแทน อันจะทำให้เกิดปัญหาสังคม อาชญากรรมและยาเสพติดตามมา ดังนั้น รัฐบาลควรตั้งคณะทำงานเฉพาะที่เข้ามาดูแลปัญหานี้อย่างจริงจัง