ผู้จัดการออนไลน์-- รถไฟฟ้าแม็กเลฟ? รถทรอลลี่บัสเวียงจันทน์? ผู้สังเกตการณ์พากันอ่านข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยความสงสัย และ ตกตะลึงยิ่งขึ้นเมื่อได้ทราบว่าลาวมีแผนการที่ทะเยอทะยานยิ่งกว่านั้นอีก
ประเทศลาวที่มีประชากรเพียง 6 ล้านคนแต่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีแผนการที่จะสร้างระบบรถไฟทั่วประเทศเหนือจรดใต้ ตะวันตกไปตะวันออกรวมระยะทางกว่า 2,500 กิโลเมตร รวมมูลค่าโครงการกว่า 13,033 ล้านดอลลาร์ ในนั้น 845 กม.เป็นระบบรางกว้าง 1.435 เมตร สำหรับรถไฟฟ้าความเร็วสูง
ทางรถไฟลาวจากสะพานมิตรภาพหนองคายไปยังสถานีบ้านดงโพสี ตาแสง (ตำบล) ท่านาแล้ง ความยาว 3.5 กม.ก่อสร้างเสร็จแล้วและทดลองเดินรถมาตั้งแต่เดือน ก.ค. โดยมีแผนการที่จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการคร่าวๆ ในเดือน มี.ค.ปีหน้า
รถไฟสายกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ระยะแรกนี้ สร้างด้วยเงินช่วยเหลือจากไทย 198 ล้านบาท ในนั้น 30% เป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่าที่เหลือเป็นเงินกู้ระยะยาว 30 ปี ดอกเบี้ยต่ำและยังมีเวลาปลอดภาระอีก 10 ปี
ทางรถไฟอีกช่วงหนึ่งระยะทาง 9.5 กม.จากบ้านดงโพสีเข้าสู่ตัวเมืองหลวงกำลังอยู่ในระยะการสำรวจและจัดทำรายงานต่างๆ โดยซีสตรากรู๊ป (Systra) ซึ่งเป็นเจ้าของระบบรถไฟที่ทันสมัยจากฝรั่งเศส ขั้นตอนนี้มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.2551 ก่อนจะนำไปสู่การคิดคำนวณต้นทุนต่างๆ และจัดการประกวดราคาหาบริษัทผู้ออกแบบและก่อสร้าง
อย่างไรก็ตามลาวยังมีแผนการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อกับชายแดนไทยอีก 3 จุด คือ ที่ห้วยทราย-เชียงของ ท่าแขก-นครพนม และ วังเตา-ช่องเม็กชายแดนแขวงจำปาสักกับอุบลราชธานี
เมื่อการก่อสร้างทั้งโครงข่ายแล้วเสร็จ นครเวียงจันทน์จะกลายเป็นจุดศูนย์กลางสำคัญของการขนส่งระบบรางในอนุภูมิภาคในวันข้างหน้า เพื่อเปลี่ยนฐานะของลาวจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (Land-locked country) เป็นดินแดนแห่งการเชื่อมต่อ (Land -linked country) อย่างสมบูรณ์
โครงข่ายเส้นทางทั้งหมดระบุเอาไว้ในเอกสารทางการฉบับหนึ่งที่ "ผู้จัดการออนไลน์" ได้รับในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา
**ภาคเหนือเชื่อมไทย-จีน-เวียดนาม**
แผนแม่บทรถไฟของลาวได้แบ่งทางรถไฟเป็นแนวตั้งกับแนวขวาง
สายเหนือเริ่มจากนครเวียงจันทน์ไปยังแขวงเวียงจันทน์ สู่เมืองหลวงพระบาง เมืองมรดกโลกปลายทางท่องเที่ยวสำคัญ ตัดเข้าแขวงพงสาลีและอุดมไซ ไปยังด่านชายแดนบ่อเต็น-บ่อหาน (Boten-Pohan)
ช่วงนี้เป็นแบบรางกว้างสำหรับรถไฟความเร็วสูง รวมระยะทาง 550 กม.ใช้งบประมาณก่อสร้างราว 1,734 ล้านดอลลาร์ ยังไม่รวมค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าอีก 37 ล้านดอลลาร์ ค่าติดตั้งระบบสัญญาณกับโทรมนาคมอีก 2.7 ล้านดอลลาร์เศษ
เส้นทางรถไฟสายนี้จะต้องผ่านหุบเขาและเลื้อยไปตามไหล่เขาเกือบตลอดสาย จะมีการเจาะอุโมงค์หลายช่วงรวมความยาว 77,600 เมตรหรือกว่า 77 กม. มีสะพานรถไฟ 88 แห่งรวมความยาว 19,090 เมตรหรือ กว่า 19 กม. และมีสถานีรายทาง 50 สถานี
ระบบรถไฟความเร็วสูงเวียงจันทน์-หลวงพระบาง-บ่อเต็น จะไปเชื่อมเข้ากับระบบรถไฟของจีนเข้าสู่เมืองคุนหมิง (Kunming) ในมณฑลหยุนหนัน (Yunnan)
จากหลวงพระบางจะมีเส้นทางแนวตั้งอีก 1 สาย แยกไปยังแขวงบ่อแก้วที่ชายแดนไทยด้าน จ.เชียงราย ระยะทาง 350 กม.โดยสร้างขนานกับทางหลวง 3B และเป็นระบบรางแคบ 1 เมตร มาตรฐานเดียวกับรางรถไฟไทยและในเวียดนามปัจจุบัน
จากเมืองห้วยทรายแขวงบ่อแก้ว จะมีทางรถไฟแนวตั้งอีกหนึ่งสายขนานกับทางหลวงเอเชีย A3a (อา3อา) ที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการต้นปีนี้ ไปยังชายแดนบ่อเต็น-บ่อหาน อีกทอดหนึ่งรวมระยะทาง 230 กม.
ที่สามแยกเมืองพูคูนบนเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปยังเมืองเซียงเงินและหลวงพระบาง จะมีทางรถไฟแนวขวาง 1 สาย เข้าแขวงเซียงขวางไปยังชายแดนเวียดนาม ส่วนนี้จะเป็นแบบรางแคบ
จากเซียงขวางจะมีอีกเส้นทางหนึ่งเป็นแนวตั้งลงไปยังเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซระยะทาง 123 กม. ไปเชื่อมต่อกับทางรถไฟแนวตั้งสายใต้
**สายเศรษฐกิจไทย-เวียดนาม**
องค์การรถไฟลาวมีแผนการจะสร้างระบบรางแคบความยาว 702 กม.จากเวียงจันทน์ไปยังเมืองปากเซแขวงจำปาสัก อันเป็นสายหลักในภาคใต้ โดยมีปลายทางสุดท้ายที่ด่านชายแดน จ.อุบลราชธานีซึ่งเป็นปลายสุดทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือของไทยทางด้านนั้น
ทางรถไฟช่วงเวียงจันทน์-ท่าแขก (เมืองเอกแขวงคำม่วน) ระยะทาง 330 กม. จะไปเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายบัวใหญ่ (นครราชสีมา)-นครพนม ที่จะสร้างในอนาคต
ในภาคใต้ของลาวยังมีรถไฟแนวขวางอีก 3 เส้นทางตรงไปยังชายแดนเวียดนามคือ ช่วงท่าแขกไปยังด่านชายแดนมุ-ซยา (Mu Gia) ใน จ.เหงะอาน (Nhge An) ในภาคกลางตอนบน โดยขนานไปกับทางหลวงเลข 12 และสาย 3a ระยะทาง 135 กม.
บนสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (นครพนม-คำม่วน) จะมีการสร้างรางรถไฟเชื่อมต่อกันเอาไว้ เมื่อการก่อสร้างในฝั่งไทยและฝั่งลาวเสร็จก็จะทำให้การเดินทางกับการขนส่งโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังเวียดนามเกิดขึ้นได้เป็นครั้งแรก
จากเมืองไกสอน พมวิหาน กับสะพานมิตรภาพข้ามลำน้ำโขงมุกดาหาร-สะหวันนะเขต จะเป็นจุดเริ่มของทางรถไฟแนวขวางที่พุ่งไปยังด่านลาวบ๋าว (Lao Bao) ชายแดน จ.กว๋างจิ (Quang Tri) เวียดนามรวมความยาว 215 กม. ทั้งหมดนี่เป็นแบบรางแคบธรรมดา
อย่างไรก็ตามใต้ลงไปที่แขวงสาละวัน จะมีทางรถไฟรางกว้าง 1.435 เมตรไปยังด่านชายแดนลาไล (La Lay) รวมระยะทาง 215 กม. เช่นเดียวกัน โดยขนานทางหลวงเลข 15 และ เลข 7 ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณก่อสร้างมหาศาลราว 1,281 ล้านดอลลาร์
ทางรถไฟรางกว้างสายนี้จะเชื่อมภาคใต้ของลาวเข้ากับเขตเศรษฐกิจสำคัญในภาคกลาง เวียดนาม คือ จ.กว๋างนาม (Quang Nam) นครเหว (Hue) และนครด่าหนัง (Danang) ขณะที่กำลังจะมีการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากกรุงฮานอยไปยังนครโฮจิมินห์ระยะทางกว่า 2,700 กม.
ตามแผนแม่บทดังกล่าวลาวกำลังจะต้องหาเงินทุนกว่า 6,160 ล้านดอลลาร์ในการสร้างทางรถไฟแนวตั้งทั้งหมด กับอีกกว่า 6,872 ล้านดอลลาร์สำหรับเส้นทางแนวขวาง รวมทั้งรถไฟรางกว้างทั้ง 2 เส้นทางด้วย.