xs
xsm
sm
md
lg

อุบลฯ ลุ้นสร้างสะพานข้ามโขงไทย-ลาวแห่งที่ 5 เชื่อมสาละวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากเป็นไปตามแผนโครงการ ในอนาคตจะมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 ระหว่างอำเภอนาตาล-เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน สปป.ลาว
อุบลราชธานี-จังหวัดอุบลราชธานีเดินหน้า ศึกษาเก็บข้อมูลการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่เสนอรัฐบาล โดยหอการค้าชี้หากมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่าง จ.อุบลราชธานี เข้าลาวทางแขวงสาละวัน จะผลักดันมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น เพราะสะพานช่วยย่นระยะทางและลดการสิ้นเปลืองในการขนส่งสินค้าอีกเท่าตัว

นายชวลิต องควานิช ประธานหอการค้า จ.อุบลราชธานี และคณะศึกษาโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 ระหว่างไทย-ลาว ด้านจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการดังกล่าวว่า ภายหลังนายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเก็บข้อมูลการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ โดยมีนายสุรพล สายพันธ์ รองผู้ว่าฯ เป็นหัวหน้าคณะ

เบื้องต้นที่ประชุมคณะทำงานได้พิจารณากำหนดจุดก่อสร้างไว้บริเวณด่านถาวรบ้านปากแซง ต.พะลาน อ.นาตาล ตั้งอยู่ตรงข้ามเมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งเป็นเมืองที่เชื่อมต่อไปยังถนนหมายเลข 13 ถนนสายหลักจากลาวมุ่งเข้าประเทศเวียดนามตอนกลาง

นายชวลิต กล่าวอีกว่า แนวความคิดสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ด้านจังหวัดอุบลราชธานีไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้มีการหยิบยกมาหารือความเป็นไปได้เป็นระยะๆ เนื่องจากจุดก่อสร้างสะพานดังกล่าวมีความเหมาะสมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อนำองค์ประกอบการเดินทางข้ามสะพานแม่น้ำโขงระหว่างไทย-ลาว ตั้งแต่ จ.หนองคาย จ.มุกดาหาร จ.นครพนม และ จ.เชียงราย มาเปรียบเทียบ พบว่าถ้ามีสะพานขึ้นใหม่ที่ จ.อุบลราชธานี อีกแห่งจะเชื่อมโยงการเดินทางและอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดน ระหว่างกลุ่มประเทศอินโดจีนให้มีระยะสั้นลงและสะดวกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เพราะเดิมการส่งสินค้าเข้าออกระหว่างไทย-ลาวที่จุดผ่านแดนถาวร อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี กับเมืองนะคอนเพ็ง แขวงสาละวัน ต้องใช้วิธีขนส่งทางเรือ ทำให้มีปริมาณการค้าขายต่อกันน้อย และหากจำเป็นต้องขนส่งสินค้าทางบก ต้องใช้เส้นทางอ้อมคือแล่นผ่านด่านช่องเม็ก-วังเต่า เข้าสู่แขวงจำปาสักก่อนเดินทางไปตามถนนหมายเลข 13 เพื่อเข้าสู่แขวงสาละวัน แต่หากมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงยังจุดดังกล่าว จะสามารถเดินทางตรงเข้าหากันได้ โดยไม่เสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูงเป็นเท่าตัวเหมือนทุกวันนี้

“หากสะพานแห่งนี้เกิดได้ ก็จะลดต้นทุนการขนส่งได้มาก มีผลต่อด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เพราะเมื่อการคมนาคมสะดวกปลอดภัย จะทำให้เกิดการเติบโตทางภาคสังคมเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งเห็นได้จากการค้าการลงทุนการท่องเที่ยวของ จ.มุกดาหาร ที่มีอัตราตัวเลขการส่งออก-นำเข้าสินค้าพุ่งสูงขึ้นกว่า 10 เท่า หลังมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวใช้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงเกิดขึ้น”

นายชวลิต กล่าวต่อว่า หลังศึกษาข้อมูลทั้งหมด คณะกรรมการจะรวบรวมข้อมูลส่งให้รัฐบาลนำไปพิจารณา เพื่อผลักดันให้มีการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ให้เร็วที่สุด ประธานหอการค้าอุบลราชธานีกล่าวอย่างมั่นใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับ จ.อุบลราชธานี มีพื้นที่ชายแดนติดต่อ กับ สปป.ลาวทั้งทางบกและทางน้ำยาว 361 กิโลเมตร มีการค้าขาย การลงทุน และการท่องเที่ยวกับ 4 แขวงทางภาคใต้ของลาว คือ แขวงจำปาสัก สาละวัน เซกอง และอัตตะปือ ปัจจุบันสินค้าส่งออกสำคัญจากไทย คือ น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น อุปกรณ์การก่อสร้าง คิดเป็นมูลค่าสินค้าผ่านด่านชายแดนทั้งด่านช่องเม็ก และด่านปากแซง รวมทั้งจุดผ่อนปรนและด่านประเพณีต่างๆ ปีละกว่า 3,000 ล้านบาท

ไทยมีการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเกษตรกรรม เครื่องจักสานจากลาวปีละประมาณ 800 ล้านบาท โดยภาพรวมของการค้าระหว่างเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2550 มีการค้าระหว่างกันจำนวน 4,372,962,957.69 บาท

นอกจากมีการนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างกันแล้ว ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวยังมีบทบาทสำคัญทำให้มีการใช้จ่ายในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่านับพันล้านบาท เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานี และตามหัวเมืองสำคัญของประเทศลาวทางตอนใต้ มีศักยภาพด้านแหล่งท่องเที่ยว ทั้งโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นตัวดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวปีละกว่า 1 ล้านคน

ส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายด้านการซื้อบริการมากขึ้นทุกปี กระทั่งจังหวัดต้องทำแผนสนับสนุนการศึกษาให้นักศึกษารุ่นใหม่ เข้าเรียนต่อทางด้านการให้บริการและการท่องเที่ยว เพื่อให้มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้มากขึ้น

สำหรับการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง หรือสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ปัจจุบันมี 2 แห่งคือ จ.หนองคาย-นครเวียงจันทน์ ซึ่งเปิดใช้เป็นแห่งแรก โดยได้รับทุนสนับสนุนการก่อสร้างจากประเทศออสเตรเลีย ส่วนแห่งที่ 2 จ.มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต มีประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก และสะพานแห่งที่ 3 และ 4 ซึ่งอยู่ในแผนดำเนินการของรัฐบาลขณะนี้ คือ จ.นครพนม-แขวงคำม่วน โดยประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพหาทุน และระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย-เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ซึ่งได้รับทุนจากประเทศจีน

“หากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวระหว่าง จ.อุบลราชธานี-แขวงสาละวัน เกิดขึ้นจริงก็จะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่างไทย-ลาวเป็นแห่งที่ 5 ซึ่งจะใช้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงประเทศไทยเข้าสู่สปป. ลาว และสามารถเดินทางต่อไปถึงประเทศเวียดนามทางตอนกลางและตอนใต้ของประเทศได้อย่างสะดวกรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้”นายชวลิต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น