xs
xsm
sm
md
lg

คลินิกเสริมความงาม-สถานพยาบาลธุรกิจรุ่งในลาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#FF0000> ภาพจากแแฟ้มเดือน มี.ค.2551 โรงหมอมะโหสด หนึ่งในโรงพยาบาลชั้นนำจำนวน 5 แห่งในนครเวียงจันทน์ ถึงกระนั้นชาวลาวจำนวนมากก็ยังนิยมข้ามไปรักษาตามโรงพยาบาลชั้นนำใน จ.หนองคาย อุดรธานี และไกลออกไปถึง เมืองขอนแก่น </FONT></CENTER>

ผู้จัดการรายสัปดาห์-- ธุรกิจเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพและเสริมความงาม อาจจะเป็นแขนงการลงทุนที่มีศักยภาพสูงมากในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ขณะที่รายได้ต่อหัวประชากรในประเทศเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปีและยังคงนิยมส่งญาติพี่น้องข้ามแดนเข้ามารับการรักษาและใช้บริการต่างๆ ตามสถานพยาบาลชั้นนำของไทย

การรักษาพยาบาลที่ด้วยเครื่องมือทันสมัย ใช้บุคคลากรทางการแพทย์ในท้องถิ่นกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากไทย ให้การรักษาคนไข้อย่างมีคุณภาพในลาว จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ตามรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศของไทย ในนครเวียงจันทน์ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เป็นระดับศูนย์กลางเพียง 5 แห่งขณะที่เมืองหลวงลาวมีประชากรถึง 600,000 คน และในแต่ละแขวง (จังหวัด) ก็มีโรงพยาบาลที่รองรับด้านสาธารณสุขได้เพียง 1 แห่งเท่านั้น ขณะที่เครื่องมือการแพทย์ยังไม่ทันสมัยเท่ากับในประเทศไทย

ในปี 2551 รายได้ต่อหัวประชากรประเทศนี้เพิ่มขึ้นเป็น 728 ดอลลาร์ เทียบกับเพียง 432 ดอลลาร์ในปี 2547 ตัวเลขนี้กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี พร้อมๆ กับการลงทุนจากจ่างประเทศที่เพิ่มสูง และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวในอัตราสูง

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ การท่องเที่ยวนครเวียงจันทน์ในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค. ขยายตัวถึง 19.9% แม้ว่าจะเกิดวิกฤติการทางการเงินในสหรัฐฯ และกำลังเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกก็ตาม

"แต่สถานพยาบาลใน สปป.ลาว ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากร แขวงตามชายแดนของ สปป.ลาว คนไข้ที่มีอาการหนักและมีฐานะดีก็จะข้ามมาใช้บริการรักษาพยาบาลที่ฝั่งไทย" นายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ ประจำสถานทูตไทย กล่าวในการให้สัมภาษณ์ที่ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ได้รับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สื่อทางการลาวเคยรายงานว่า ถึงแม้โรงพยาบาลแห่งต่างๆ ในเมืองหลวงจะปรับปรุงเครื่องมืออุปกรณ์ให้ทันสมัยและปรับปรุงการให้บริการที่มีคุณภาพดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ชาวเมืองหลวงจำนวนมากยังคงข้ามแดนไปรับการรักษาในโรงพยาบาลหนองคายหรือไกลออกไปถึงอุดรธานีและขอนแก่น

นายสมพงศ์ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศอีกตำแหน่งหนึ่งกล่าวว่า สถานพยาบาลที่ชาวเวียงจันทน์นิยมนำผู้ป่วยข้ามแดนไปรับการรักษานั้น ล้วนแต่เป็นโรงพยาบาล "เกรดเอ" ในท้องถิ่น เช่น โรงพยาบาลเอกอุดร โรงพยาบาลวัฒนา หรือ โรงพยาบาลเปาโล
<CENTER><FONT color=#FF0000> ภาพถ่ายในเดือน มี.ค.2551 แผนกฉุกเฉิน รพ.มะโหสดกับผู้คนในยามเช้า </FONT></CENTER>
สภาพคล้ายกันนี้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนต่างๆ เช่น ชาวลาวแขวงบ่อแก้วจะข้ามไปรักษาใน จ.เชียงราย ชาวจำปาสักไปรักษาในอุบลราชธานี หรือจากแขวงคำม่วนไปนครพนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2551 เงินกีบแข็งตัวสูงมากหากเทียบกับเงินบาทไทย จากเดิม 268-270 กีบ เหลือเพียง 246-248 กีบต่อบาทในขณะนี้ ยิ่งทำให้ชาวลาวเดินทางข้ามแดนไปดูแลรักษาสุขภาพมากยิ่งขึ้น

นายเฉลิมพลกล่าวอีกว่า ปัจจุบันค่าตอบแทนสำหรับบุคลากรแพทย์และพยาบาลในลาวยังค่อนข้างต่ำและแพทย์ส่วนใหญ่ที่เรียนจบแล้วจะรอทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ ยังไม่มีทุนรอนเปิดคลินิกของตัวเอง ทั้งพยาบาล ทันตแพทย์หรือแพทย์จำนวนหนึ่งยังต้องหางานทำ ซึ่งต่างไปจากในประเทศไทยที่ยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้

ผู้ลงทุนสามารถนำบุคคลากรทางการแพทย์ของลาวไปต่อยอดให้เป็นประโยชน์ได้โดยผ่านการอบรมส่งเสริมความรู้ความเชี่ยวชาญเพิ่มเติม

ผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าไทยกล่าวว่า สถานพยาบาลของไทยน่าจะใช้โอกาสเช่นนี้ขยายฐานการลงทุนเข้าสู่ลาว ทั้งในรูปคลินิกรวมแพทย์ขนาดกลางและขนาดเล็ก ในลักษณะโปลิคลินิก โดยว่าจ้างบุคคลากรทางการแพทย์ลาวรักษาโรคทั่วไป และใช้แพทย์รักษาคนไข้อาการหนักหรือส่งต่อเข้ารักษาในไทย เป็นการผ่องถ่ายเทคโนโลยี และทักษะทางด้านการแพทย์ เป็นการช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านอีกทางหนึ่งด้วย
<CENTER><FONT color=#FF0000> ภาพจากแฟ้มเดือน มี.ค.2551 กรมหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขที่ถนนสีเมือง ชาวลาวยังต้องการสถานพยาบาลที่มีคุณภาพอีกจำนวนมาก </FONT></CENTER>
จุดลงทุนที่มีศักยภาพยังมีที่แขวงหลวงพระบาง ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางตอนเหนือของลาว โดยมีแขวงใกล้เคียงคือไชยะบูลี อุดมไซ พงสาลี หลวงน้ำทาและเชียงขวาง ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 1.6 ล้านคน หลวงพระบางยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าอีกปีละ 5–6 แสนคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตกนั้นหากไปจากยุโรปส่วนใหญ่จะมีระบบประกันสุขภาพที่สามารถเคลมได้

แขวงจำปาสักซึ่งเป็นศูนย์กลางทางตอนใต้ของลาวเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีแขวงบริวารคือ สาละวัน เซกอง และอัตตะปือ ทั้งหมดมีประชากรรวมกันราว 1.2 ล้านคน ซึ่งปกติจะส่งคนไข้หนักไปรักษาตามสถานพยาบาลใน จ. อุบลราชธานี ที่อยู่หางออกไป 139 ก.ม.ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง

"เมื่อคนลาวมีรายได้มากขึ้น คนที่มีฐานะไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ต้องการเซฟชีวิตต้องการความสะดวกปลอดภัยกันทั้งสิ้น หากมีสถานพยาบาลที่ทันสมัยในพื้นที่ก็สามารถรักษาได้ทันท่วงที" นายเฉลิมพลกล่าว

อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์สถานทูตไทย เรียกร้องให้นักลงทุนด้านการรักษาพยาบาลพิจารณาช่วงชิงความได้เปรียบ เข้าไปปักหลักในลาว ก่อนที่ทุนจากต่างชาติอื่นๆ จะเข้าไปครอบครองตลาดที่มีขนาดเล็กแต่มีศักยภาพสูงนี้

ไม่เพียงแต่การรักษาพยาบาลทั่วไปเท่านั้น ปัจจุบันคลินิกในจังหวัดชายแดนของไทยได้พบว่า ชาวลาวนิยมการเสริมความงาม การศัลยกรรมเสริมจมูก ใบหน้าและทรวงอกเพิ่มมากขึ้น สถานพยาบาลเหล่านั้นควรรุกออกลงทุนนอกบ้านให้มากขึ้นอีกด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น