ผู้จัดการรายวัน-- ผู้ประกอบการในประเทศไทยจำนวนมากกำลังแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในลาว ซึ่งการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่หลายรายประสบปัญหาไม่สามารรถนำรถบัสโดยสารนำนักท่องเที่ยวข้ามแดนได้ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในนครเวียงจันทน์ ได้ออกแนะนำให้ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด และศึกษาสภาพการณ์ต่างๆ ให้รอบคอบ
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถนำรถบัสจากหนองคายเข้าไปได้ยังเมืองและแขวงหลวงพระบางได้ ทางการลาวอนุญาตให้เข้าไปได้ถึงนครหลวงเวียงจันทน์
ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งไม่สามารถนำรถทัวร์บัสจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ข้ามเข้าลาวเพื่อวิ่งตามเส้นทาง R3 (Route 3) หรือ ถนนเอเชียสาย 3 (A3) ผ่านแขวงบ่อแก้ว แขวงหลวงน้ำทา ไปยังด่านชายแดนบ่อเต็น–บ่อหาน ระหว่างลาวกับจีนได้ แม่ง่าไทยกับลาวจะมีรอบข้อตกลงด้านการคมนาคมที่ควรจะนำรถบัสข้ามกันแดนได้ก็ตาม
นายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำสถานทูตไทยในนครเวียงจันทน์กล่าวว่า จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากหลายฝ่ายพบว่า มีสาเหตุและปัจจัย รวมทั้งข้อแตกต่างระหว่างลาวและไทย ที่ฝ่ายต่างๆ จะต้องอาศัยเหตุผลความเข้าใจร่วมกันในการแก้ไขปัญหา
นายเฉลิมพลกล่าวว่าสภาพถนนในลาว มีขนาดเล็ก โค้งและคดเคี้ยวมาก ไม่เหมาะสำหรับรถบัสขนาดใหญ่ของธุรกิจทัวร์ไทย และการใช้รถบัสขนาดใหญ่วิ่งอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และการนำรถบัสขนาดใหญ่ขึ้นลงแพขนานยนต์ระหว่าง อ.เชียงของ กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วของลาวยังขึ้นลงลำบากและแพขนานยนต์มีขนาดเล็ก อุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ท่าขึ้นลงยังไม่พร้อม เสี่ยงต่อการลื่นไถล
ปัจจุบันรถทัวร์บัสโดยสารจากลาวสามารถเข้ามายังประเทศไทยได้ถึง จ.อุดรธานี เท่านั้น และฝ่ายลาวก็อาจจะใช้หลักการเดียวกัน ยังไม่อนุญาตให้รถบัสของบริษัททัวร์จากประเทศไทยเข้าไปยังทุกแขวง
นายเฉลิมพลกล่าวอีกว่า มีบริษัททัวร์ไทยบางรายที่ฝ่ายลาวมองว่า กดขี่ค่าบริการไม่แบ่งผลประโยชน์ที่เหมาะสม ลัดขั้นตอนไม่ต้องการผ่านบริษัททัวร์ของลาว ไม่ว่าการจองโรงแรม และร้านอาหาร โดยทำการเองทั้งหมด หรือแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ฝ่ายลาวเพียงเล็กน้อยเป็นค่าบริการ 30–50 บาทต่อนักท่องเที่ยวหนึ่งคน
ขณะเดียวกันเมื่อบริษัททัวร์จากลาวจัดท่องเที่ยวข้ามไปยังฝั่งไทย จะถูกฝ่ายไทยบังคับให้ต้องจัดผ่านบริษัททัวร์ในประเทศไทย ทำให้ฝ่ายลาวมองว่าไม่ยุติธรรม และไม่เท่าเทียมกัน
"นอกจากนั้นบางรายมีเจตนาที่จะนำรถบัสเก่าไปวิ่งในลาว เมื่อรถเสียกลางทาง ถนนในลาวแคบก็จะสร้างความเดือดร้อนต่อชาวบ้านของลาวอีก” นายเฉลิมพลระบุดังกล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ "ผู้จัดการรายวัน" ได้รับในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
คำแถลงระบุอีกว่าในแขวงที่เป็นย่านธุรกิจ ลาวมีนโยบายให้รถขนาดใหญ่วิ่งอ้อมตัวเมือง เนื่องจากถนนในตัวเมืองแคบ แต่ในปัจจุบันลาวยังไม่ได้ห้ามการใช้รถตู้ รถปิ๊กอัพ รถขับเคลื่อนสี่ล้อและรถเก๋ง ในการผ่านแดนแต่อย่างใด
"สำหรับรถบัสควรใช้รถบัสของลาว หากมีการเคารพกฎกติกาของฝ่ายลาวและแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน ก็ไม่มีปัญหาในการผ่านเส้นทางแต่อย่างใดและธุรกิจไทยเองก็ควรตระหนักว่า แต่ละประเทศก็ไม่ต้องการให้คนของประเทศอื่นมาแย่งอาชีพของคนในประเทศของตนเอง" คำแถงของทีปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์สถานทูตไทยระบุ
ยังมีอีกหลายปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากประเทศไทย รวมทั้งการที่บริษัททัวร์ไทยในพื้นที่ชายแดนมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ใน จ.อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร เชียงราย และอุบลราชธานี ในส่วนของลาวมีประมาณ 30 บริษัทเท่านั้น
ปัจจุบันยังเริ่มมีปฏิกิริยาจากผู้ประกอบการทัวร์ไทยบริเวณชายแดน ที่ไม่ต้องการให้ผู้ประกอบการทัวร์จากกรุงเทพฯ เข้าไปติดต่อสร้างเครือข่ายกับทัวร์ลาวโดยตรง ซึ่งการทำธุรกิจการค้าในยุคนี้หมดยุคการมีการผูกขาดและการค้านอกระบบอิทธิพลมืดควรจะลดน้อยถอยลงไป
"กลไกรัฐจะต้องผลักดันสนับสนุนทำระบบใต้ดินให้มาอยู่บนดิน เกิดความโปร่งใส เป็นประโยชน์แก่ประเทศเพื่อนบ้าน และเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน และนักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านควรเคารพกกติกาของประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น ไม่ควรใช้บริบทของไทยไปยัดเยียด.." คำแถลงระบุ
นายเฉลิมพลกล่าวอีกว่า มีผู้ประกอบการหลายรายร้องเรียนค่าบริการข้ามแพที่ด้าน อ.เชียงของ สูงเกินไปโดยผู้ดำเนินการเก็บค่าข้ามแม่น้ำโขงคันละ 1,000 บาท และวันเสาร์–อาทิตย์ ยังคิดค่าล่วงเวลารวมเป็นคันละ 1,500 บาท และในขากลับหากมีรถน้อยใช้บริการน้อยในบางครั้งต้องเหมาเที่ยวละประมาณ 4,000 บาท จึงทำให้มีต้นทุนค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตามคาดว่าเมื่อมีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เชียงของ-ห้วยทราย ในปี 2554 ปัญหาเหล่านี้จะเบาบางลง นายเฉลิมพล กล่าว
องค์การบริหารการท่องเที่ยวแห่งชาติกล่าวว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550-2551 (เม.ย.-ธ.ค.) การท่องเที่ยวขยายตัวถึง 21% โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าเกือบ 1,400,000 คน สร้างรายได้กว่า 200 ล้านดอลลาร์
ในช่วงเดียวกันนี้ลาวมีรายได้จากการท่องเที่ยวระหว่าง 200-220 ล้านดอลลาร์ เทียบกับ 183 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อน และ รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นรายได้อันดับ 2 ของประเทศถัดจากส่งออก
ธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องขยายตัวอย่างรวดเร็วและในอัตราสูง บริษัทนำเที่ยวจากที่เคยมีเพียง 17 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น 106 แห่ง บริษัทเหล่านี้ยังมีสาขารวม 54 สาขาใน 14 แขวง ในนั้นมีเพียง 5 แห่งที่เป็นกิจการของรัฐ
โรงแรมที่เคยมีอยู่เพียง 83 แห่งเพิ่มขึ้นเป็น193 แห่ง และบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยวจาก 252 แห่งเป็นประมาณ 1,000 แห่ง ร้านอาหารจาก 349 แห่งเป็น 816 แห่ง.