xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.รับผุดนิวเคลียร์5โรง ถ่านหิน13โรงชงกพช.เคาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ร่างแผนพีดีพี 2010 ยังไม่แบ่งเค้กการผลิตที่ชัดเจนมีเพียงเฉพาะนิวเคลียร์ 5 แห่งที่กฟผ.รับหน้าเสื่อทำเอง แต่ถ่านหิน 13 แห่ง และอื่นๆ เตรียมโยนให้กพช.เคาะ 12 มี.ค.นี้ ยอมรับผุดนิวเคลียร์-ถ่านหินไม่ง่ายแต่ยังพอมีเวลาปรับตัว

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ.2553-2573(พีดีพี2010) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการสัมมนารับฟังความเห็นวันที่ 8 มี.ค.แล้วจะนำความเห็นไปประกอบการจัดทำร่างแผนพีดีพี 2010 ต่อไปหลังจากนั้นจะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กพช.)วันที่ 12 มี.ค.นี้เห็นชอบ

ทั้งนี้ร่างพีดีพี 2010 เป็นการจัดหาไฟฟ้าในอนาคต 20 ปีโดยอิงจีดีพีกรณีฐานจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าสิ้นปี 2573 ที่ 66,167 เมกะวัตต์ จะมีจำนวนโรงไฟฟ้าใหม่ตั้งแต่ปี 2553-2573 ประกอบด้วย 1. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1000 เมกะวัตต์ จำนวน 5 โรง(5,000)2. โรงไฟฟ้าถ่านหิน 13 โรง (10,000 เมกะวัตต์ 3.โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 20 โรง(15,870 เมกะวัตต์) 4. SPP Cogeneration จำนวน 6,800 เมกะวัตต์ 5.พลังงานหมุนเวียน 5,242 เมกะวัตต์ และ 6.ซื้อไฟต่างประเทศ 11,669 เมกะวัตต์ ประมาณงบลงทุนทั้งระบบส่งและผลิตจะอยู่ที่ราว 4.29 ล้านล้านบาท

นายณอคุณกล่าวว่า ร่างแผนดังกล่าวจะต้องให้กพช.เป็นผู้พิจารณาในเรื่องของนโยบายว่าจะมีการนำโรงไฟฟ้าใหม่จำนวนและปริมาณผลิตเท่าใดที่จะนำมาสู่การเปิดประมูลโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระขนาดใหญ่หรือ IPP แต่กรณีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีมติชัดเจนว่าให้กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดเพื่อความมั่นคง ส่วนของถ่านหินที่จะมีประมาณ 13 แห่งนั้นเดิมกำหนดให้กฟผ.ดำเนินการ 4 แห่งทั้งหมดก็จะให้กพช.พิจารณาว่าจะเป็นอย่างไรด้วย

“ยอมรับว่าขณะนี้การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ง่ายเพราะประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่ยอมรับและเวลานี้ก็ยังไม่ได้มีการสรุปพื้นที่ตั้งใดๆ ทั้งสิ้นซึ่งโรงแรกจะต้องเกิดปี 2563 แต่ในที่สุดไทยจำเป็นเพราะเป็นความมั่นคงทั้งราคาและเชื้อเพลิงเพราะก๊าซในอ่าวไทยอีก 12 ปีก็นับถอยหลัง 18 ปีหมดลงหากพึ่งก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)จะต้องนำเข้าที่มีราคาแพง”นายณอคุณกล่าว

สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพีดีพี 2007 ฉบับปรับปรุงที่จะสิ้นแผนปี 2564 นั้นจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 แห่งขนาดแห่งละ 700 เมกะวัตต์จะเหลือเพียง 2 แห่งโดยแผนเดิมจะเกิดในปี 2559 จำนวน 2 โรงขนาด 700 เมกะวัตต์แผนใหม่จะเหลือ 1 แห่งขนาด 800 เมกะวัตต์เข้าระบบปี 2563 หรือเลื่อนมา 3 ปี ดังนั้นยังพอมีเวลาในการทำความเข้าใจกับประชาชนอีกระยะหนึ่งหากในที่สุดมีปัญหาก็สามารถปรับแผนได้แต่ก็ยอมรับว่าทางเลือกของไทยนั้นมีไม่มากนัก

นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทยกรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แผนดังกล่าวมีการบรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และถ่านหินไว้ค่อนข้างมากซึ่งแผนดังกล่าวไม่ได้ระบุที่ตั้งชัดเจนว่าที่ไหน อย่างไรซึ่งส่วนตัวเห็นว่ารัฐควรจะพิจารณาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้มากก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างประชาพิจารณ์เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทราได้ยื่นหนังสือให้กับนายณอคุณเพื่อคัดค้านแผนพีดีพี 2010 โดยระบุว่าไม่เปิดเผยข้อมูลให้รู้ล่วงหน้าก่อนรับฟังความเห็น และเวลาในการเปิดรับฟังความเห็นไม่ทั่วถึงและกว้างขวางพอ
กำลังโหลดความคิดเห็น