xs
xsm
sm
md
lg

แผนพีดีพี2010ผุดนิวเคลียร์5โรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- เปิดประชาพิจารณ์ร่างแผนผลิตไฟฟ้าประเทศ 20 ปีหรือพีดีพี 2010 (ปี53-73) วันนี้(8มี.ค.) เงินลงทุนระบบสายส่งและระบบผลิตรวม 4.3 ล้านล้านบาท กรณีจีดีพีฐานผุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรงรวม 5,000เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 13โรง รวม 10,000เมกะวัตต์ รับซื้อไฟพลังงานหมุนเวียน ต่างประเทศอีกเพียบ
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงานในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนกำลังผลิตไฟฟ้า ของประเทศ เปิดเผยว่า วันนี้(8มี.ค.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น “ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (พีดีพี 2010)” โดยเปิดให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นต่อข้อสมมติฐานและร่างแผนพีดีพี 2010 เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ร่างพีดีพี 2010 ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะนำเสนอในการสัมมนาซึ่งเป็นแผน 20 ปี(ปี53-73) จะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 4.3 ล้านล้านบาทแยกเป็นระบบผลิตไฟฟ้าประมาณ 3.56 ล้านล้านบาท ระบบส่ง 7.55 แสนล้านบาท โดยประเมินจากการขยายตัวของจีดีพีกรณีฐาน หรือเป็นเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากแผนพีดีพี 2007 ปรับปรุงครั้งที่ 2 (ปี 2550-2564) เป็นเงิน 2.3 ล้านล้านบาท (ปี 2564-2573)
สำหรับกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นของแผนกรณีจีดีพีฐาน มีกำลังผลิตไฟฟ้าสิ้นปี 2573 อยู่ที่ 66,167 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ปลดออกจากแผน 17,671เมกะวัตต์ กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 54,625 เมกะวัตต์ ส่วนจำนวนโรงไฟฟ้าใหม่ตั้งแต่ปี 2553-2573 ประกอบด้วย 1. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 5 โรง รวมกำลังผลิตไฟ 5,000 เมกะวัตต์ 2. โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 20 โรงกำลังผลิต 15,870เมกะวัตต์ 3. โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด 13 โรง ขนาดโรงละประมาณ 800 เมกะวัตต์กำลังผลิตรวม 10,000 เมกะวัตต์ 4. ไฟฟ้าจาก SPP –Cogeneration 6,844 เมกะวัตต์ 5. พลังงานหมุนเวียน 5,242 เมกะวัตต์ และซื้อจากต่างประเทศ 11,669 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตามแผนพีดีพี 2010 ซึ่งเทียบกับแผนพีดีพี 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 กำลังผลิตไฟฟ้าสิ้นปี 2564 จะลดจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 11 โรงกำลังผลิตรวม 8,800 เมกะวัตต์ และลดโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด 2 โรงกำลังผลิต 1,200 เมกะวัตต์แต่ไปรับซื้อไฟจากSPP Cogenerationเพิ่มขึ้น 1,942 เมกะวัตต์ พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 2,651 เมกะวัตต์ และซื้อไฟต่างประเทศเพิ่มขึ้น 1,232 เมกะวัตต์
ทั้งนี้แผนพีดีพีดังกล่าวยังได้จัดทำแผนทางเลือกไว้ 2 ทางคือ กรณีจีดีพี สูง กำลังผลิตไฟฟ้าสิ้นปี 2573 จะอยู่ที่ 70,669 เมกะวัตต์ ทำให้โรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาคือจำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดเพิ่มอีก 1โรงเป็น 14 โรงกำลังผลิตรวมเป็น 10,800 เมกะวัตต์ และเพิ่มโรงไฟฟ้ากังหันแก๊สขนาด 250 เมกะวัตต์ 3 โรงรวมเป็น 750 เมกะวัตต์ ซื้อไฟต่างประเทศเพิ่มอีก 2,750 เมกะวัตต์เป็น 14,419เมกะวัตต์
ส่วนทางเลือกที่ 2 กรณีจีดีพีฐานและรับซื้อเพิ่มพลังงานหมุนเวียน จะลดโรงไฟฟ้าถ่านหินเหลือ 11 โรง เป็น 8,400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากังหันแก๊สขนาด 250 เมกะวัตต์เหลือ 2 โรงเป็น 500 เมกะวัตต์ รับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนเป็น 8,467 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวกล่าวยอมรับว่า แผนดังกล่าวได้คำนึงถึงผลกระทบจากการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติที่สูงโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกจากพม่าหากเกิดปัญหาขัดข้องจะส่งผลต่อไฟฟ้าดับทั่วประเทศ รวมไปถึงการลดภาวะก๊าซเรือนกระจก ขณะที่การรับซื้อพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นมากและอนาคตเริ่มจำกัดในเรื่องของวัตถุดิบและระบบความมั่นคงผลิตไฟจึงจำเป็นต้องพึ่งนิวเคลียร์และถ่านหินสะอาดที่มีราคาต่ำและเป็นความมั่นคงเข้ามาซึ่งยอมรับว่าอาจไม่ง่ายนักเพราะประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่ยอมรับแต่ไทยก็จะหนีไม่พ้นหากการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีต่อเนื่อง
“กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองนั้นกรณีก๊าซจากฝั่งตะวันตกที่อาจขัดข้องจึงต้องยังคงไว้สูงกว่า 20% จนถึงปี 2560 หลังจากนั้นจึงจะปรับลดต่ำลงจนเฉลี่ยเหลือประมาณ 15%”แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น